เลขา กกต.ไม่กังวลปมยิง 'สจ.โต้ง' เรื่องส่วนตัว ไม่กระทบเลือกตั้งท้องถิ่น
เลขา กกต.ไม่กังวล เหตุยิง 'สจ.โต้ง' ชี้เรื่องส่วนตัว ไม่กระทบเลือกตั้งท้องถิ่น มองความพยายามแก้กฎหมายให้เลือกตั้ง อบจ.ล่วงหน้าได้ เป็นแค่แนวคิด เหตุการเมืองระดับชาติ-ท้องถิ่นปรัชญาแตกต่างกัน
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2567 ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงเหตุการณ์ยิงนายชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์ หรืออดีต "สจ.โต้ง" ที่ จ.ปราจีนบุรี ว่า น่าจะเป็นเรื่องของการเมืองในพื้นที่ เป็นเรื่องส่วนตัว สำนักงาน กกต.ไม่กังวลในเรื่องนี้ ความผิดที่เกิดขึ้นเป็นไปตามกฎหมายอื่น แต่เมื่อไหร่เข้ามาสู่ระบบการเมือง เราก็ต้องดูตามกฎหมายเลือกตั้งที่เราได้ดูแลอยู่ ส่วนความขัดแย้งอย่างอื่นที่จะส่งผลต่อการเลือกตั้งเราก็ดูแลอยู่คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และคิดว่าไม่น่าจะกระทบอะไร
เมื่อถามว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า คงไม่ถึงขนาดนั้น เพราะเหตุที่เกิดน่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ ผอ.กกต.จังหวัดได้มีการรายงานมาว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ในข่าวระบุว่าเกี่ยวกับการที่จะเลือกนายก อบจ.เราก็จะติดตามดูว่ามันจะมีผลอะไร แต่ข้อมูลวันนี้ยังคิดว่าไม่มีผลกระทบต่อการบริหารจัดการเลือกตั้ง และการควบคุมให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริต และเที่ยงธรรม แต่เรื่องการออกไปใช้สิทธิของประชาชนเป็นโจทย์ของสำนักงานฯ เพราะเราต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้สิทธิในวันที่ 1 ก.พ. 2568 ให้มากที่สุด รวมถึงจังหวัดอื่น ๆ โดยเรามีหน้าที่ในการบริหารจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนเรื่องความรุนแรงอะไร เรามีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเขาดูแลอยู่แล้ว คิดว่าทางผู้รับผิดชอบคงดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว
นายแสวง กล่าวอีกว่า ยังมีนายกและสมาชิก อบจ. ทยอยลาออก สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นผลมาจากกฎหมาย ที่กำหนดห้ามไม่ให้นายกเป็นสมาชิก อบจ.ไปทำการใด ๆ ที่จะเป็นการเอื้อให้ได้รับเลือกตั้ง เขาก็เกรงว่าอาจจะไปทำอะไรที่สุ่มเสี่ยง ทั้งที่บางเรื่องเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ก็เกรงว่าอาจจะมีคนนำมาร้อง จึงตัดปัญหาด้วยการลาออก แม้กฎหมายจะกำหนดให้ให้ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วันกรณีตำแหน่งว่างลง แต่เมื่อเป็นการลาออกในช่วงเวลาที่ใกล้จากครบวาระของสภา อบจ. กกต. ก็จะจัดให้มีการเลือกตั้งในวันเดียวกับที่สภา อบจ.ครบวาระ คือเลือกตั้งในวันที่ 1 ก.พ.2568 เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ และเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ไม่ต้องออกมาเลือกตั้งหลายรอบ
เมื่อถามว่า สภาผู้แทนราษฎรมีความพยายามเสนอแค่กฎหมาย ให้มีการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อให้มีผู้ใช้สิทธิมากเท่ากับการเลือกตั้งระดับชาติ นายแสวง กล่าวว่า เรื่องการให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเป็นหน้าที่ของสำนักงาน กกต.จะต้องทำงานหนัก ร่วมกับเครือข่าย และผู้สมัครเอง ต้องช่วยกันในการประชาสัมพันธ์ เราไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ ถ้ามีการใช้สิทธิน้อย แสดงว่า กกต.ทำงานไม่เข้าเป้าหรือบกพร่อง ส่วนที่จะให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้ายังเป็นแนวคิด เพราะปรัชญาในการเลือกตั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นแตกต่างกัน จึงมีการออกแบบกฎหมาย ให้การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า เหมือนกับการเลือกตั้ง สส.