ปรับ ‘บอร์ดโยกย้ายกลาโหม’ คานอำนาจ‘กองทัพ’ จัดโผทหาร

ปรับ ‘บอร์ดโยกย้ายกลาโหม’  คานอำนาจ‘กองทัพ’ จัดโผทหาร

จับตา "ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกลาโหม" เพิ่มสัดส่วนฝ่ายการเมืองดึง "นายกรัฐมนตรี -รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง" นั่งในคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายชั้นนายพล ไม่เตะบอร์ดสภากลาโหม ตัดมาตรา 35 ทิ้ง

KEY

POINTS

  • ฝ่ายการเมืองเข้าใจคลาดเคลื่อนถึงบทบาทหน้าที่ บอร์ดสภากลาโหม กับ บอร์ด7 เสือกลาโหม
  • ภูมิธรรม นำ ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกลาโหม ฉบับ สุทิน ซึ่งเป็นฉบับเดียวกับ ประยุทธ์ เข้า คณะกรรมการกรั่นกรองฯเป็นที่มา ให้ กลาโหม กลับไปทบทวน

 

ฝ่ายการเมืองยังเข้าใจคลาดเคลื่อน เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ “สภากลาโหม” ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับปรับย้ายทหารชั้นนายพล สะท้อนผ่าน ร่างพระราชบัญญัติ จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่เสนอโดย “ประยุทธ์ ศิริพานิชย์” สส.บัญชีรายชื่อ และคณะสส.พรรคเพื่อไทย ระบุให้ "นายกรัฐมนตรี" เป็นประธานสภากลาโหม แทน รมว.กลาโหม ตัดสมาชิกสภากลาโหมจากเหล่าทัพให้เหลือเพียงเหล่าทัพ 1-2 คน

ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 กำหนดบทบาทหน้าที่ของ “สภากลาโหม” เกี่ยวกับกิจการภายในเหล่าทัพ ที่อยู่ภายใต้กำกับกระทรวงกลาโหม อาทิ การจัดกำลัง การสับเปลี่ยนกำลัง ภารกิจปกป้องอธิปไตย การดูแลชายแดน การช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย และภารกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องความมั่นคงทั้งภายใน และนอกประเทศ

 กำหนดให้ สมาชิกสภากลาโหม ประกอบด้วย รมว.กลาโหม ประธานสภากลาโหม รมช.กลาโหม รองประธานสภากลาโหม จเรทหารทั่วไป ปลัดกระทรวงกลาโหม รองปลัดกระทรวงกลาโหม สมุหราชองครักษ์ รองสมุหราชองครักษ์ เสนาธิการ กรมราชองครักษ์ 

ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เสนาธิการทหาร ผู้บัญชาการทหารบก รองผู้บัญชาการทหารบก ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เสนาธิการทหารบก 

ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ เสนาธิการทหารอากาศ และสมาชิกสภากลาโหม ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญ ที่เป็นประจักษ์ 

เป็นอำนาจหน้าที่ รมว.กลาโหม แต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 3 คน ตามมติของสภากลาโหม 

ใน พ.ร.บ.จัดระเบียบ กระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 กำหนดให้มีคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหม หรือ “บอร์ด 7 เสือกลาโหม” เพื่อพิจารณาบัญชีการปรับย้ายนายทหาร

บอร์ด 7 เสือกลาโหม ประกอบด้วย รมว.กลาโหม เป็นประธาน รมช.กลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ

ภายหลัง สส.ประยุทธ์ ได้รับสัญญาณ ให้ถอนร่างดังกล่าวออกจากสภาฯทั้งฉบับ นำไปแก้ไขปรับปรุงใหม่ โดยอ้างกระแสสังคมและพรรคร่วมไม่เห็นด้วย

แม้แกนนำ พรรคเพื่อไทย ทั้งผู้นำจิตวิญญาณ ทักษิณ ชินวัตร แพทองธาร ชินวัตร ภูมิธรรม เวชยชัย ประเสริฐ จันทรรวงทอง ดาหน้าปฏิเสธ โดยยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.ของสส.ประยุทธ์ ไม่ใช่ร่างของพรรคเพื่อไทย 

แต่ร่างพ.ร.บ.ฉบับเดียวกันนี้ เป็นร่างเดียวกับที่ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม คนก่อน นำเข้าที่ประชุมสภากลาโหม ลงมติผ่านความเห็นชอบไปแล้ว เมื่อ 15 ส.ค.2567

ล่าสุด ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.กลาโหม นำร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม เข้าที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองที่เกี่ยวข้องกับงานด้านความมั่นคง และกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมาย มีข้อเสนอแนะให้ส่งคืนกระทรวงกลาโหม กลับไปทบทวน มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า 

1.ไม่ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบสภากลาโหม

2.ปรับเปลี่ยนบอร์ด 7 เสือกลาโหม โดยให้เพิ่มสัดส่วนฝ่ายการเมือง นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง รวมเป็น 9 คน

ฝ่ายการเมืองเดิมมี 2 เสียง คือ รมว.กลาโหม กับ รมช.กลาโหม เพิ่มเป็น 4 เสียง ส่วนฝั่งเหล่าทัพมี 5 เสียง ร่วมกันพิจารณา แต่งตั้งโยกย้ายนายพล โดยไม่ต้องผ่าน ครม. 

หากความเห็นไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จะใช้วิธีการโหวต โดยที่ผ่านมาการประชุมบอร์ดปรับย้ายทหารชั้นนายพลกระทรวงกลาโหม ไม่เคยมีการโหวตแม้แต่ครั้งเดียว ปัจจัยหนึ่งมาจากสัดส่วนฝ่ายการเมือง มีเพียง2 เสียงเท่านั้น บางครั้งแค่ เสียงเดียว กรณีไม่มี ตำแหน่ง รมช.กลาโหม

3.ตัดทิ้ง มาตรา 35 ทั้งกรณีห้ามใช้กำลังทหาร หรือข้าราชการทหาร ในกรณีของการยึด หรือควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาล หรือเพื่อก่อการกบฏ รวมถึงขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ราชการส่วนราชการต่างๆ ห้ามใช้เพื่อธุรกิจ หรือกิจการอันเป็นประโยชน์ส่วนตัวของผู้บังคับบัญชา และกระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมายอื่นๆ

การกำหนดให้ข้าราชการทหารที่ได้รับคำสั่งให้ทำ ย่อมมีสิทธิไม่ปฏิบัติตาม และไม่ถือว่าผิดวินัยทหาร หรือกฎหมายอาญาทหาร

รวมถึง เพิ่มบทลงโทษนายทหารที่ฝ่าฝืนหรือพบการเตรียมการผิด ด้วยการหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ชั่วคราวตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการสอบสวนโดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการพักราชการตามที่กฎหมายกำหนด

หลังปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ส่งให้ภูมิธรรม เวชยชัย ไปพิจารณาอีกรอบ ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ หากไร้ปัญหา ก็ให้ส่งเข้า ครม.พิจารณาประกบคู่กับร่างของพรรคประชาชนเข้าสู่รัฐสภาต่อไป

ร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ฉบับปรับปรุงแก้ไข เปรียบเหมือนการพบกันครึ่งทางระหว่าง “กองทัพ-รัฐบาลเพื่อไทย”การให้นายกฯและรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง นั่งในบอร์ดปรับย้ายกลาโหม เป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองของฝ่ายการเมือง ทำได้จริงเป็นรูปธรรม 

ดีกว่ายื่นดาบอาญาสิทธิ์ที่นายกฯไม่กล้าดึงออกจากฝัก และป้องกันรัฐประหารไม่ได้อย่างแท้จริง หวังแค่เป็นสัญลักษณ์เชิงการเมืองที่จับต้องไม่ได้

และการเปิดช่องให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระด้างกระเดื่อง ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา โดยไม่ถือว่าผิดวินัย หรือกฎหมายอาญาทหาร ก็มีแต่พังกับพัง เพราะคนในกองทัพอยู่กันได้ด้วยระเบียบวินัย