'ม็อบสนธิ' จุดได้ก็ไม่ติด หลายปัจจัยไม่เอื้ออยู่ยาว
หลายคนหันมาจับตามองอีกครั้ง หลัง สนธิ ลิ้มทองกุล สื่อมวลชนอาวุโส ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ประกาศนำม็อบลงถนน เหมือนครั้งนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประท้วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2548 ก่อนการรัฐประหารเมื่อปี 2549
เพียงแต่ครั้งนี้ ควบเอา “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็ก “ทักษิณ” และนายกรัฐมนตรี เข้าไปด้วย และ ดีเดย์คาดว่าจะเป็นต้นปี 2568
ถ้ายังจำกันได้ เมื่อ 5 ปีก่อน “สนธิ” เคยประกาศ หลังได้พระราชทานอภัยโทษและออกจากเรือนจำ(12 กันยายน 2562) ว่า “จะให้ความรู้คนมากกว่า การออกถนนคงไม่ออก คิดว่าหมดยุคของการออกถนนแล้ว”
ครั้งนี้จึงสำคัญ และน่าสนใจไม่น้อย ว่า อะไรทำให้คำพูดของ “สนธิ” ครั้งนั้น ต้องกลับลำ หรือกลืนน้ำลายตัวเอง
ยิ่งไปกว่านั้น ความเคลื่อนไหวล่าสุด ยังดูเหมือนเป็นการปูกระแสไปสู่การชุมนุมใหญ่ที่เจ้าตัวเคยประกาศเอาไว้อีกด้วย
กรณีนำทีม นายนิติธร ล้ำเหลือ หรือ “ทนายนกเขา” อดีตทนาย กปปส., นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต และมวลชนเดินทางมาที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึง “อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ให้ยกเลิก MOU 44 โดยนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทนรับหนังสือ
จากนั้น “สนธิ” ได้แถลงข่าว พร้อมนำสไลด์แผนที่แสดงภาพ ส.ค.ส. พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นภาพแผนที่ตามพระบรมราชโองการประกาศเส้นทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทย พ.ศ. 2516 มาแสดง
โดยกล่าวว่า ขอให้นายกฯ หยุดการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิ์เส้นไหล่ทวีปราชอาณาจักรไทยกับกัมพูชา (MOU 2544) และแถลงการณ์ร่วมระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร นายกฯไทยกับนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา (JC2544) เพราะมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญฝ่าฝืนต่อพระบรมราชโองการ ในการประกาศทะเลอาณาเขตและเขตทะเลต่อเนื่อง
ตลอดจนประกาศเส้นเขตไหล่ทวีป ตามอนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ. 1985 และกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และยังไม่มีพระบรมราชโองการประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จึงต้องถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติมาตราหนึ่งและมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560
ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้ปฏิบัติตามข้อเสนอภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือ ส่วนข้อเรียกร้อง ได้แก่
ข้อ 1.ขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรักษาไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของไทย และแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติในทะเลด้านอ่าวไทย เขตต่อเนื่องรอบเกาะกูด รวมทั้งเขตไหล่ทวีป ซึ่งเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของรัฐบาล
ข้อ 2.ขอให้นายกรัฐมนตรีเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณามีมติให้ส่ง MOU 2544 และ JC 2544 ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติมาตราหนึ่งและมาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญไทยหรือไม่
ข้อ 3.และหากศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า MOU 2544 และ JC 2544 ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้ยกเลิกการเจรจาตาม MOU 2544 และ JC 2544 เพื่อปฏิเสธเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาทันที
ข้อ 4.แต่หากศาลวินิจฉัยแล้วไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ขอให้ ครม.จัดให้มีการเจรจากับกัมพูชา เพื่อยกเลิก MOU 2544 และ JC 2544 ทันที โดยให้เจรจากันใหม่ภายใต้การกำหนดขอบเขตเฉพาะพื้นที่พัฒนาร่วมบนพื้นฐานโดยใช้หลักการของเส้นมัธยะ
ข้อ 5.ระงับการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค หรือ JTC ไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยและมีการดำเนินการให้ถูกต้อง
ข้อ 6.ให้จัดเวทีสาธารณะแก่ประชาชนเรื่อง MOU 2544 และ JC 2544 โดยให้ความรู้ความเข้าใจที่เป็นกลาง เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญของประเทศ ทั้งนี้ ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณากลับภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ ครม.ได้พิจารณา
ที่สำคัญ “สนธิ” ประกาศการต่อสู้ครั้งนี้ต้องชนะเท่านั้น เชื่อมั่นว่า ตอนลงถนนจะมีประชาชนเข้าร่วมเป็นพันเท่า
แต่ถ้าฟังจาก “ทักษิณ” ตอบคำถาม นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร ขณะบรรยายในฐานะวิทยากรสัมมนาพรรคเพื่อไทย ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ (13 ธ.ค.67)
เห็นชัดว่า ไม่ได้มีท่าทีที่จะดันทุรังดำเนินการตาม MOU 2544 แต่อย่างใด
โดยชี้แจงว่า ปี 2544 สมัยตนเป็นนายกรัฐมนตรี บันทึกข้อตกลงดังกล่าวคือ เราจะตกลง และเราจะคุยกัน ในข้อที่เรายังไม่ได้ตกลงกัน และไม่ได้หมายความว่า เราตกลงกันแล้ว แต่เป็นกรอบที่เราจะพูดคุยในเรื่องที่เรายังตกลงกันไม่ได้ จึงเกิดสนธิสัญญา MOU44 ซึ่งที่เราคุยกันก็คือการลากเส้นเขตแดนทางทะเลที่ไม่ตรงกัน โดยต้องอ้างกฎหมายระหว่างประเทศ และอ้างสนธิสัญญา
ส่วนเรื่องเกาะกูด ที่พูดโจมตี และคนพูดไม่ได้ดูเนื้อหาสาระ ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด จริง ๆ แล้วมันไม่มี เกาะกูดเป็นของไทย มานานแล้ว และอยู่ในสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ในสมัยที่ยึดครองประเทศกัมพูชาในสมัยนั้น ที่ระบุว่า เกาะกูดเป็นของไทย เกาะกงเป็นของกัมพูชา แต่วิธีลากเส้นของกัมพูชาไม่ถูก ซึ่งผิดหลักกฎหมายสากลอยู่แล้ว แต่ของเรามั่นใจว่า วิธีลากเส้นของเราถูกกว่า แต่ผลสุดท้าย เราก็ต้องมาพูดคุยกันในเรื่องที่เราไม่ได้ตกลงกัน แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้คุยกัน เพียงแค่บอกว่าจะคุย แต่ก็เกิดการโวยวายกันใหญ่
“ทักษิณ” ชี้ว่า เรื่องนี้ปัญหาคือ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันที่อยู่ในพื้นที่ตรงนั้นอีกประมาณ 20 ปีจะไม่สามารถใช้ได้ เพราะคนกำลังเรียกหาพลังงานสีเขียว เลิกใช้พลังงานที่เกิดจากฟอสซิล เพราะฉะนั้นอีก 20 ปี เราจะทิ้งทรัพย์สินตรงนี้ประมาณ 4 ล้านล้านบาท ซึ่งหากใช้ไม่ได้ก็หายไป แต่หากเราตกลงกันได้ 2 อย่างคือ 1.ผลประโยชน์ทางทะเล 2.คือเส้นเขตแดน ซึ่งเขตแดนบนบกไม่มีปัญหา แต่มีปัญหาที่ทางทะเล ทำให้เรื่องนี้ยังไม่จบ
“ไม่มีใครเขาไปขายชาติหรอก ถ้าขายคนเฮงซวยพอขายได้ แต่ไม่มีใครเอา อยู่แล้ว กลัวเป็นภาระเขา” ทักษิณ กล่าว
นอกจากนี้ “ทักษิณ” ยังเล่าถึงความสัมพันธ์กับสมเด็จฯ ฮุนเซน ว่า ใครจำได้เหตุการณ์ตอนที่เผาสถานทูตไทย ในประเทศกัมพูชา วันนั้นตนก็เป็นเพื่อนกับสมเด็จฯ ฮุนเซน ซึ่งตนก็ต่อสายโทรศัพท์ไปหา แล้วบอกว่า ตนไม่ยอม ที่มาเผาสถานทูตไทย คุณจะต้องรับผิดชอบ แล้วปัญหาก็คือ มีคนไทยอยู่ที่นั่น คุณจะเอาอย่างไร ดูแลได้หรือไม่ หากดูแลไม่ได้ พรุ่งนี้ตนจะส่งเครื่องบินไปรับ ซึ่งเวลาพูดคุยกัน ก็คุยรุนแรงเช่นนี้ แต่เราเข้าใจกัน ซึ่งการเป็นเพื่อน ก็ดีกว่าการเป็นศัตรู แต่งานของประเทศต้องมาก่อน ไม่ใช่เป็นเพื่อนแล้วมาบอกว่า ยกประเทศให้เพื่อน นั่นมันควายแล้ว และขณะนั้นประเทศกัมพูชายังไม่มีเงินเท่าไหร่ แต่ต้องมาใช้หนี้ที่เผาสถานทูตไทย หากจำไม่ผิดประมาณ 3 ล้านเหรียญ และวันนั้นตนก็ส่งเครื่องบิน ส่งหน่วยคอมมานโดไปเอาคนไทยกลับมา ไม่เห็นจะโกรธกันเลย ถ้าไม่ใช่เพื่อนกันคงโกรธกันแล้ว
สำหรับ กรณี “สนธิ ลิ้มทองกุล” โต้แย้งว่า หากไม่เห็นด้วยกับการขีดแนวเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาบริเวณเกาะกูดในMOU 44 ไทยควรจะคัดค้านหรือยกเลิกได้หรือไม่
“ทักษิณ” กล่าวว่า “ยกเลิกก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้าไม่ยกเลิกก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ไม่ได้เสียอะไร เพราะว่าเป็นเรื่องที่เราบอกว่าจะมาพูดคุยกันในเรื่องที่ยังไม่ได้ตกลงกันและมันควรจะจบอย่างไร มันต้องมีจุดเริ่มต้น โอเคถ้าบอกว่าไม่คุยแล้วก็ช่างมันเถอะ ไม่ขุดแล้วน้ำมันก็กลับบ้าน เชื่อว่า ในเรื่องนี้จะไม่ทำให้สถานการณ์บานปลาย”
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่หลายคนจับตามองและให้ความสนใจไม่แพ้ MOU 2544 ก็คือ “ม็อบสนธิ” จะจุดติดหรือไม่ ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงหลายอย่าง หลังพรรคเพื่อไทย ที่มี “มวลชนเสื้อแดง” เป็นฐานการเมือง ข้ามขั้วจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้สนับสนุนส่วนใหญ่ ก็คือ “มวลชนเสื้อเหลือง” ที่เคยมีต้นกำเนิดมาจากมวลชนของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ของ “สนธิ” นั่นเอง
แต่วันนี้ “แดง-เหลือง” ส่วนใหญ่ สมประโยชน์ทางการเมือง เพราะได้รัฐบาลของตัวเอง ที่เหลือก็อาจเป็น “แดงเข้ม” หรือ ซ้ายจัด และเหลืองเข้ม หรือ ขวาจัด ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปสนับสนุนพรรคการเมืองอื่น
กระนั้น ยังมีปัจจัยอื่น ที่น่าวิเคราะห์ด้วยว่า เอื้อให้กับ “ม็อบสนธิ” มากน้อยแค่ไหน
นับแต่ “ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป” ในความเห็นของ “ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์” และ “เต้น-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ในฐานะเคยเป็นแกนนำคนสำคัญของม็อบเสื้อแดง และชุมนุมเป็นเวลายาวนานจนจุดติดมาก่อน ให้สัมภาษณ์สื่อบางสำนักเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเห็นตรงกันว่า
สมัยก่อนคนลงถนนเพื่อระบาย แต่วันนี้มีโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่แสดงออก-อธิบายความคิด-ระบายความรู้สึก จึงส่งผลให้รูปแบบการชุมนุมเปลี่ยนแปลงไป
“ณัฐวุฒิ” ประเมินด้วยว่า “คงยังไม่มีม็อบใหญ่อย่างที่เราเคยเห็นอย่างน้อยถึงสิ้นปีนี้ถึงต้นปีหน้า” โดยให้เหตุผลว่า ถ้าจะปลุกม็อบเป็นหมื่นหรือแสนต้องเห็น 3 ปรากฏการณ์สำคัญ ได้แก่
การขยับตัวของพรรคการเมือง ซึ่งวันนี้ยังไม่เห็นว่ามีพรรคไหนขยับ ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาล
การเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนย่อย ต้องเริ่มมีการพูดคุยกัน มีการตกลงผนึกกำลังและออกมาร่วมขบวนการต่อสู้ / การเคลื่อนไหวของคนการเมือง-ผู้มีเครือข่าย-ผู้มีบารมีทางการเมือง ที่ต้องจับกลุ่มวางแผนประเมินสถานการณ์ คนนี้ไปคุยกับคนนั้น พอเห็นตรงกันก็พาคนนั้นไปคุยกับคนโน้น ขยายวงไปเรื่อย
“ทั้งหมดนี้ผมยังไม่เห็น”
ประเด็นเรื่องทุน หรือ ท่อน้ำเลี้ยง “ณัฐวุฒิ” เห็นว่า พอไม่มีพรรคการเมืองหลักสักพรรคออกมาเคลื่อนไหว จึงขาดเจ้าภาพในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งรวมถึงทุนด้วย
ที่ต้องไม่ลืม ก็คือ ม็อบพันธมิตรฯ ไม่ได้มีบทบาทขับเคลื่อนทางการเมืองบนท้องถนนมานานแล้ว จะมีก็แต่ม็อบกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน(ศปปส.)(คู่ต่อกรกลุ่ม 3 นิ้ว) และกองทัพธรรมบางส่วน ที่ยังเกาะประเด็นต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” กรณีชั้น 14 รพ.ตำรวจ รวมทั้งเคลื่อนไหวเพื่อขอให้ยกเลิก “เอ็มโอยู 44”
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่นักวิชาการรัฐศาสตร์ และนักวิเคราะห์การเมือง ต่างฟันธงล่วงหน้าว่า “ม็อบสนธิ” ถึงจุดได้ ก็ไม่ติด ไม่มีทางที่จะเป็น “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ภาค 2” ได้ เว้นเสียแต่จะมีประเด็นกระทบความรู้สึกของประชาชนอย่างรุนแรง ร้ายแรง จนถึงกับทนไม่ได้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งเท่านั้นเอง