'ทวี' มอง แรงงานนอกระบบ-การศึกษาน้อย เสี่ยงถูกละเมิดสิทธิ
"ก.ยธ." ร่วมประชุมUNDP และ UNGCNT ยกระดับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน-ต้านทุจริต "ทวี" มองแรงงานนอกรระบบ-การศึกษาน้อย เสี่ยงถูกละเมิดสิทธิ
พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 8 หัวข้อ "การส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่ปราศจากการคอร์รัปชัน เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน" ตอนหนึ่งว่า การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นในมิติแรงงาน ยังมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่ออนาคตของคนรุ่นหลัง โดยเฉพาะในประเทศไทย โดยผู้อยู่ในกำลังแรงงาน จำนวน 40.48 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบประกันสังคม ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 33 จำนวน 12.10 ล้านคน และเป็นแรงงานนอกระบบที่สมัครจ่ายค่าประกันสังคม มาตรา 39 จำนวน 1.72 ล้านคน มาตรา 40 จำนวน 11 ล้านคน รวมจำนวนผู้ประกันตน จำนวน 24.82 ล้านคน ดังนั้นจำมีผู้อยู่ในกำลังแรงงานอยู่นอกระบบประกันตน จำนวน 15.66 ล้านคน นอกจากนั้น ปัจจุบันประเทศไทยยังมีแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนไว้ อยู่จำนวนประมาณ 3.3 ล้านคนเศษ แต่ยังมีกลุ่มที่อยู่ใต้ดินอีกประมานรวมกับที่ขึ้นทะเบียนไว้ ประมาณ 5 ล้านคน
"การพูดถึง การส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่ปราศจากการคอร์รัปชัน เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน จะมีความหมายถึงแรงงานทุกระบบ ซึ่งประเทศไทยถ้านำนิยามสากลมาใช้เราจะมีผู้ว่างงานเพียง 4.14 แสนคน ที่ถือว่าน้อยมาก ส่วนตัวเห็นว่าเพราะมีแรกงานนอกระบบและอาชีพอิสระจำนวนมาก รวมถึงมีสัดส่วนธุรกิจนอกระบบจำนวนมากด้วยจึงเป็นเรื่องท้าทายรัฐบาลที่ต้องเข้าไปดูแลและยากต่อการคุ้มครองสิทธิแรงงาน" พ.ต.อ.ทวี กล่าว
พ.ต.อ.ทวี กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้หลักประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม เพื่อนำไปสู่ความยุติธรรมอย่างแท้จริง การจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน จึงถือเป็นกรอบนโยบายของรัฐบาลที่สะท้อนความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่มีความร้บผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรม
"แรงงาน ประมาณ 65% มีการศึกษาต่ำกว่าการศึกษาขั้นนพื้นฐาน จึงที่เป็นหน้าที่ของรัฐและแนวนโยบายของรัฐที่ต้องให้คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาถึงขึ้นพื้นฐาน เพื่อไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้" รมว.ยุติธรรม กล่าว
ทางด้าน นีฟ คอลิเออร์-สมิธ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทย โดยกระทรวงยุติธรรม ที่ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจก้บสิทธิมนุษยชนเป็นประเทศแรกในเอเชีย และมีบทบาทนำด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ยังเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อหลักนิติธรรมของประเทศไทย ซึ่งเห็นได้จากค่าคะแนนของประเทศไทยในดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอรัปชั่นขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ และดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมของ World Justice Project ที่ปรากฏว่ามีปัญหาในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการทุจริต และประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม.