'รมช.กลาโหม' แจงยิบ ผลสอบ 'พลทหารศิริวัฒน์' ดับคาค่าย ยันไม่ใช่การฝึกหนัก
"รมช.กลาโหม" แจงกระทู้ถาม "สว." ปมพลทหาร ดับคาค่าย แจงระเอียดผลสอบไม่ใช่ฝึกหนัก-ไม่เข้าข่ายกม.อุ้มหาย สั่งลงโทษคนที่เกี่ยวข้องแล้ว
ที่วุฒิสภา พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภาช่วงกระทู้ถามสดถึงประเด็นการตรรจสอบการเสียชีวิตของ พลทหารศิริวัฒน์ ใจดี ระหว่างการฝึกทหารเกณฑ์ ที่กรมสารวัตรทหารเรือ เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ตั้งถามโดย นายนรเศรษฐ์ ปรัชญากร สว.ว่า จากการชันสูตรแล้วไม่พบการทำร้ายร่างกายและการบาดเจ็บภายในร่างกาย ซึ่งเชื่อว่าเสียชีวิตจากระบบการหายใจล้มเหลว ทั้งนี้พลทหารศิริวัฒน์ผ่านหลักสูตรการฝึกทหารใหม่มาแล้ว และเข้าการฝึกเฉพาะเหล่าทหารสารวัตรที่เร่ิมฝึกเป็นวันที่สอง จากการสอบปากคำพยานถึงการฝึกเมื่อ 2 ก.ค. เวลา 09.45 น. มีการซ้อมทหารราบ 30 นาที ช่วงบ่าย เวลา 13.30 น. ไม่มีการฝึก ให้ทหารกองประจำการพักผ่อนตามอัธยาศัย และฝึกทหารราบอีกครั้งเวลา 15.00 น. ใช้เวลาฝึก 30 นาทีและให้พักผ่อนจนถึง 16.30 น. ทหารกองประจำการทั้งหมดได้ออกกำลังกายด้วยการวิ่ง 20 นาที ตามการฝึกประจำวันของหลักสูตร ไม่เป็นสาเหตุให้ร่างกายของพลทหารศิริวัฒน์ทนรับการฝึกไม่ได้
“รายงานผลการศึกษาโรคของผู้ป่วยที่รับอันตรายจากความร้อนของโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ ระบุผลตรวจเลือดบางส่วน ว่าไม่เข้ากับภาวะฮีทสโตรก ดังนั้นพลทหารศิริวัฒน์ จึงไม่ได้รับการฝึกที่หนักจนเป็นอันตรายจากความร้อน” พล.อ.ณัฐพล ชี้แจง
พล.อ.ณัฐพล ชี้แจงต่อว่าสำหรับการกระทำของครูเวร จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงและปากคำพยานของพลทหารไม่เป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และพลทหารศิริวัฒน์ไม่ได้ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายป้องกันการปราบปรามการทรมาณ การกระทำให้บุคคลสูญหาย ทั้งนี้ผลการตรวจสอบมีข้อเท็จจริงพบว่า เวลา 16.30 น. เป็นเวลาออกกำลังกายจากการสอบปากคำพยานของทหารกองประจำการ ที่เป็นนักเรียนหลักสูตรให้ปากคำตรงกันว่าเป็นการออกกำลังกายยด้วยการวิ่ง 5 รอบสนาม ไม่มีการบังคับ หากบุคคลใดวิ่งไม่ได้ให้ใช้การเดิน และจากคำให้การ ระบุว่า พลทหารศิริวัฒน์เดินไปพักคอยเพื่อนอยู่ใต้ต้นไม้ เมื่อทหารกองประจำการวิ่งเสร็จ เดินไปที่ลานปูน เพื่อออกกำลังกายเมื่อเสร็จครูเวรได้ปล่อยเพื่อรอเวลาอาหารเย็น
“จากปากคำพยาน ระบุว่าเห็นพลทหารศิริวัฒน์เดินไปซื้อน้ำอัดลมที่ร้านค้า ซึ่งอยู่บริเวณโต๊ะครูเวร และนั่งดื่มที่บริเวณร่องน้ำหลังศาลพระภูมิ และพบว่ามีอาการหน้ามืดจะเป็นลมและนอนราบกับพื้นดิน เพื่อนจีงช่วยเหลือและพาไปที่โต๊ะครูเวร เพื่อเช็ดตัวและเปิดพัดลม โดยทหารกองประจำการให้การตรงกันว่าก่อนที่ครูเวรจะเตะไปที่ขาของพลทหารศิริวัฒน์ พบอาการดิ้น แขนขาส่ายไปมา ไม่สามารถคุมตัวเองได้ และเมื่อถึงเวลารับประทานอาหารเย็น ครูเวรให้พลทหารศิริวัฒน์ไปนั่งรับประทานอาหารด้วยกัน พลทหาร 4 นายจึงช่วยกันพาไป แต่พลทหารศิริวัฒน์ไม่สามารถนั่งรับประทานอาหารได้ จึงเอนตัวลงนอนพื้นข้างๆ เพื่อน ที่มีร่มเงาของภูเขา” พล.อ.ณัฐพล ชี้แจง
รมช.กลาโหม ชี้แจงต่อว่าสำหรับการสอบสวนวินัย มีข้อสรุปคือ ผบ.ร้อย ขาดการกำกับดูแลและผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเพียงพอ จึงสั่งลงโทษกัก 5 วัน และงดบำเหน็จประจำปี นายทหารเวรประจำกองร้อย ลงโทษกัก 7 วัน และงดบำเหน็จประจำปี สำหรับครูเวร ยอมรับว่าใช้ความรุนแรงกับพลทหารศิริวัฒน์จริงโดยเตะไปที่ขาจำนวน 2 ครั้ง ลงทัณฑ์ขัง 15 วันและงดบำเหน็จประจำปี สำหรับการเยียวยาได้จ่ายเงินเยียวยาและค่าทำขวัญ เงินสด 1 แสนและค่าจัดการศพ รวมถึงค่าชดเชยจากการบริจาค
“ญาติสามารถฟ้องเอาผิดตามกฎหมายอุ้มหายและเรียกค่าเสียหายทางเพ่งได้ โดยญาติแจ้งความเอาผิดไว้ที่ สภ.สัตหีบ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสอบปากคำและนัดครั้งต่อไป 23 ธ.ค. สำหรับมาตรการและการป้องกันการกระทำที่ไม่เป็นไปตามธรรมเนียมทหาร ในทางนโยบายได้กำกับอย่างเคร่งครัด แต่คนหมู่มากเป็นธรรมดาที่เหตุจะเกิดบ้าง ทั้งนี้เพื่อการควบคุมเป็นไปอย่างประสิทธิภาพ ได้กำหนดมาตรการและควบคุมการลงโทษไม่ให้เกิดเหตุ คือ เน้นย้ำและเผยแพร่แบบธรรมเนียมให้กำลังพลทราบรวมถึงชี้แจงผลที่จะเป็นการฝ่าฝืน ในการลงโทษ ซึ่งรวมถึงการดำเนินคดีอาญาที่ส่งผลต่อการสั่งปลด ปัจจุบันกระทรวงกลาโหมมีมาตรการที่เด็ดขาดในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และจะดำเนินการป้องกันที่เข้มงวด” รมช.กลาโหม ชี้แจง
ทั้งนี้ นายนรเศรษฐ์ ตั้งคำถามอีกครั้งว่าการตรวจสอบกรณีที่มีพลทหารเสียชีวิตควรให้หน่วยงานอื่นร่วมตรวจสอบกับหน่วยงานของทหาร รวมถึงกรณีที่ระบุว่าไม่เข้าข่ายกฎหมายอุ้มหายนั้นควรให้กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้สรุปแทนหน่วยงานทหาร อย่างไรก็การลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยการกัก ขัง และงดบำเหน็จนั้น เพียงพอกับการทวงคืนยุติธรรมกับผู้สูญเสียและเพียงพอต่อการสร้างบรรทัดฐานในกองทัพหรือไม่
โดยรมช.กลาโหม ชี้แจงว่า การสอบสวนกำลังพลในหน่วยเพราะเป็นเหตุการณ์ในหน่วย ไม่สามารถหาบุคคลภายนอกที่รับทราบมาตรวจสอบได้ ยกเว้นเจ้าหน้าที่แพทย์ทั้งนี้ไม่ได้ปกป้องผู้ทำผิด เพราะกระทรวงกลาโหมต้องการให้เหตุการณ์หยุด อย่างไรก็ดีไม่สามารถรับประกันว่าเหตุการณ์จะไม่เกิดอีก
“ไม่ใช่การตัดประเด็นอุ้มหาย เมื่อญาติติดใจเอาความ จึงอำนวยความสะดวกให้แจ้งความดำเนินคดี หากตำรวจเข้าข่ายกรณีอุ้มหาย สามารถส่งฟ้องและกองทัพพร้อมให้ความร่วมมือ ขณะที่บทลงโทษนั้นเป็นไปตามวินัยทหาร และตามผลการสอบสวน ซึ่งกองทัพพร้อมให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหายและผู้ปฏิบัติหน้าที่ หากอนาคตมีผลสอบสวนที่ยืนยันว่าครูฝึกทำหน้าที่ไม่ถูกต้อง มีความผิด กองทัพพร้อมปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมือง” รมช.กลาโหม ชี้แจง.