คดีชั้น 14 ‘สีน้ำเงิน’ ข่ม ‘นายใหญ่’ คาดป.ป.ช.ใหม่ครบเม.ย. 68

คดีชั้น 14 ‘สีน้ำเงิน’ ข่ม ‘นายใหญ่’ คาดป.ป.ช.ใหม่ครบเม.ย. 68

คดีชั้น 14 ‘สีน้ำเงิน’ ข่ม ‘นายใหญ่’ คาดป.ป.ช.ใหม่ครบเม.ย. 68 จับตา‘สว.สีน้ำเงิน’คุมเกมสรรหา เพิ่มแรงต่อรอง‘ครูใหญ่’ พท.ขับพ้นรัฐบาลไม่ง่าย

KEY

POINTS

  • คดีที่ ป.ป.ช. มีมติแต่งตั้ง “องค์คณะไต่สวน” เพื่อไต่สวนคดีส่งตัวผู้ต้องขังราย “ทักษิณ ชินวัตร” จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจโดยมิชอบ น่าจับตาอย่างยิ่ง
  • เนื่องจาก "องค์คณะไต่สวน" มี กรรมการ ป.ป.ช. ทุกคนรวมอยู่ด้วย โดยการตั้งองค์คณะไต่สวน มักจะใช้กับคดีสำคัญเท่านั้น
  • จับตาสรรหา กรรมการ ป.ป.ช. เพิ่มเติม 3 ราย ซึ่งผ่านการเปิดรับสมัครมาแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือน เม.ย. 68 โดยต้องผ่านการโหวตเห็นชอบจาก "สว.สีน้ำเงิน"

ปมร้อนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแต่งตั้ง “องค์คณะไต่สวน” เพื่อไต่สวนคดีส่งตัวผู้ต้องขังราย “ทักษิณ ชินวัตร” จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจโดยมิชอบ และให้ทักษิณอยู่รักษาที่โรงพยาบาลตำรวจจนกระทั่งครบ 180 วัน ทั้งที่ไม่เจ็บป่วยจริง

แม้ผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 12 คนที่จะถูกตรวจสอบในคดีนี้ จะมาจากฝั่ง “ข้าราชการ” และไม่ปรากฎรายชื่อ “รัฐมนตรี-บิ๊กการเมือง” แต่หากการไต่สวนมีหลักฐานไปถึง “ผู้ออกคำสั่ง” โอกาสที่จะสาวต่อ ย่อมมีสูงเช่นกัน

โดย “องค์คณะไต่สวน” คดีนี้ มีชื่อ “กรรมการ ป.ป.ช.” ทุกคน 

สำหรับ 12 ข้าราชการที่จะถูกตรวจสอบ ประกอบด้วย 1.นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ 2.นายสิทธิ สุธีวงศ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ 3.นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์

4.นายนัสที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 5.พล.ต.ท. โสภณรัชต์ สิงหจารุ เมื่อครั้งนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ 6.พล.ต.ท. ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ 7.พ.ต.อ.ชนะ จงโชคดี นายแพทย์ (สบ 5) โรงพยาบาลตำรวจ แพทย์เจ้าของไข้ และผู้ออกใบความเห็นแพทย์

8.พล.ต.ต.สามารถ ม่วงศิริ แพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ผู้ออก ใบความเห็นแพทย์ 9.นพ.วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ 10.พญ.รวมทิพย์ สุภานันท์ แพทย์ผู้ตรวจร่างกายขณะรับตัวผู้ต้องขังใหม่ 11.นายสัญญา วงค์หินกอง พัศดีเวร เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และ12.นายธัญพิสิษฐ์ ขบวน พยาบาลเวร เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

การไต่สวนครั้งนี้ ยังไม่มีชื่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เพราะยังไม่ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ในขณะนั้น แต่ ป.ป.ช. สามารถขยายการตรวจสอบไปยังผู้เกี่ยวข้องอื่นได้อีก

การใช้รูปแบบตั้งองค์คณะไต่สวน โดย “คณะกรรมการ ป.ป.ช.” ทุกคนมาร่วมสอบสวน มักจะใช้ในคดีใหญ่เท่านั้น อาทิ คดีที่มีนายกรัฐมนตรี รองนายกฯ และรัฐมนตรี ถูกกล่าวหา

เมื่อกระบวนการของ “ป.ป.ช.” นับหนึ่ง ชะตาของ “รัฐบาลแพทองธาร” จึงอยู่ในจุดเสี่ยง แม้ “ทักษิณ” จะมั่นใจว่าตัวเอง “ไม่หมู” เหมือนเก่า แต่บรรดาคู่แค้นเก่า-คู่ขัดแย้งใหม่ วางเกมลับมีดเอาไว้เชือดในจังหวะเวลาที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม คนการเมืองต่างจับตาการทำหน้าที่ของ “กรรมการ ป.ป.ช.” จากยุคเก่า ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามี “ลุง” คอยคอนโทรลอยู่ฉากหลัง จะเปลี่ยนมือมาอยู่ในคาถาของ “ครูใหญ่สีน้ำเงิน” หรือไม่ เนื่องจากจะต้องผ่านการลงมติเห็นชอบจาก “สว.สีน้ำเงิน”

โดยกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน ประกอบด้วย “วิทยา อาคมพิทักษ์" ประธานกรรมการ (ใกล้ครบวาระ) “สุวณา สุวรรณจูฑะ” กรรมการ (ใกล้ครบวาระ) “สุชาติ ตระกูลเกษมสุข” กรรมการ “เอกวิทย์ วัชชวัลคุ” กรรมการ “นายกองเอก แมนรัตน์ รัตนสุคนธ์” กรรมการ “ภัทรศักดิ์ วรรณแสง” กรรมการ

สำหรับ “พศวัจน์ กนกนาค” อดีตประธานศาลอุทธรณ์ ที่ผ่านการสรรหา และได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. แทน “พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง” ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2566 ยังอยู่ระหว่างรอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

ขณะนี้ กรรมการ ป.ป.ช.ตัวจริง จึงมีเพียง 6 (ใกล้ครบวาระ 2 คน) คน อีก 1 คนรอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และอยู่ระหว่างการสรรหาใหม่อีก 3 คน ยังไม่เข้าสู่กระบวนการสรรหาอีก 1 คน จึงจะทำให้มีครบตามจำนวน 9 คน

โดยเบื้องต้นมีการเปิดรับสมัครเข้ารับการสรรหาดำรงตำแหน่ง กรรมการ ป.ป.ช. แทน  พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ วิทยา อาคมพิทักษ์ สุวณา สุวรรณจูฑะ ไปแล้ว โดยมีผู้สมัครจำนวน 40 คน

รายชื่อบุคคลที่ถูกจับตา ประกอบด้วย “ปรีชา พงษ์พานิช” อดีตอธิบดีอัยการ “พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง” อดีตผู้บัญชาการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง “พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง” ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล “ชำนาญวิทย์ เตรัตน์” อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นต้น

กระบวนการสรรหาจะเริ่มขึ้นในช่วงต้นปี 2568 โดยระหว่างวันที่ 31 ม.ค. - 1 ก.พ. ผู้สมัครทั้ง 40 คน จะเข้าแสดงวิสัยทัศน์ต่อ "กรรมการสรรหา" เมื่อผ่านกระบวนการดังกล่าวแล้ว จะส่งชื่อผู้ผ่านการสรรหาให้ “200 สว.” เพื่อตั้งกรรมการสอบประวัติ ขั้นต่ำจะใช้เวลา 45 วัน

จากนั้นจะนำรายชื่อใดผ่านการสอบประวัติ เข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภา เพื่อโหวตเห็นชอบ โดยคาดการณ์ว่าทุกขั้นตอนจะแล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย. 2568

ว่ากันว่า “บิ๊กสีน้ำเงิน” จะออกฤทธิ์ก็ต่อเมื่อรายชื่อผู้สมัคร เข้าสู่รอบของการตรวจประวัติ หากรายชื่อใดมีไฟเขียว ก็จะผ่านการคัดเลือก แต่หากรายชื่อใดอยู่นอกสายตา ก็จะถูกตีตกทันที

เมื่อไล่ดูโครงสร้างของ “กรรมการ ป.ป.ช.” ชุดใหม่ จะหลงเหลือมรดกจาก “ยุคลุง” 5 คน (พศวัจน์ รอโปรดเกล้าฯ) ส่วนอีก 4 คน จะเข้าสู่ยุค “บิ๊กสีน้ำเงิน”

ดังนั้นคดี “นักโทษเทวดา” ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ย่อมไม่พ้นเงื้อมมือ “บิ๊กสีน้ำเงิน” ที่มีท่าไม้ตาย ในการต่อกร โดยเฉพาะคำขู่ของ “นายใหญ่” หากจะไล่บี้พรรคใดให้พ้นรัฐบาล อาจไม่ง่าย