'ภท.' เปิดหน้าโหวตสวน 'เกณฑ์ประชามติ' พท. ลุกซัด 'อีแอบ'
"สส.ภท." ลุกแจง จุดยืนหนุนเกณฑ์ผ่านประชามติ เสียงข้างมาก2 ชั้น ย้ำต้องมีความชอบธรรม ไม่เอาวิธีมักง่าย ด้าน "ประยุทธ์" ลุกซัด อีแอบ
ที่รัฐสภา ในการประชุมสภา วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ... ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันได้พิจารณาแล้วเสร็จ และมีมติยืนยันในการแก้ไขเกณฑ์ผ่านประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น ที่วุฒิสภาแก้ไข ช่วงค่ำ พบการอภิปรายตอบโต้กันระหว่าง พรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อไทย ต่อความเห็นต่างของการแก้ไขเกณฑ์ผ่านประชามติ
โดย นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ฐานะกรรมาธิการร่วม ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ ตอนหนึ่งว่าที่มีพาดพิงว่า มี สส.บางคนงดออกเสียงในกรรมาธิการร่วม ไม่ต้องเดา เพราะเป็น ตนและนายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ฐานะกรรรมาธิการร่วมสัดส่วนพรรคภูมิใจไทย เพราะพรรคมีเจตนาและจุดยืนในหลักการสำคัญ คือ ต้องการให้เกิดมติที่แท้จริงของประชาชน โดยเสียงข้างมากของประชาชน ทั้งนี้พรรคภูมิใจไทยจึงเสนอร่างพ.ร.บ.ประชามติ ควรให้ประชาชนอย่างน้อยกึ่งหนึ่งออกมาใช้สิทธิเพื่อแสดงเจตจำนงเรื่องที่ขอมติ โดยเฉพาะแก้รัฐธรรมนูญ ที่เป็นกฎหมายหลักเกี่ยวข้องกับคนในประเทศไทย ต้องการเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิมาก จนเรียกว่าเป็นฉันทามติ ทั้งนี้พรรคภูมิใจไทยสู้ในสภาฯ แต่แพ้ ทั้งนี้พรรคภูมิใจเคารพในความเห็นต่าง
“มีสส. บอกว่าอยากเห็นแก้ไขกฎหมายประชามติไขไปสู่ประตูบานใหญ่ คือ รัฐธรรมนูญ เราเห็นด้วยรวมถึงต้องการไขประตูเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา ไม่ใช่ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ ทั้งนี้เราต้องการเห็นทางออกของปัญหา และต้องฟังความเห็นของประชาชน ทุกพรรคบอกว่าอยากให้ความสำคัญกับประชาชนและการแก้ไขโดยเร็ว ดังนั้นหากอยากให้แก้ไขโดยเร็ว ทำได้อย่างเดียวคือ เห็นชอบกับกรรมาธิการร่วม เพื่อให้กฎหมายผ่านและไม่เสียเวลาอีก 180 วัน แต่หากสภาฯ ยืนยันตามอำนาจ แต่ต้องรออีก 180 วัน ทั้งนี้การออกเสียงประชามติที่เป็นทางออกไม่ใช่ความง่ายหรือ สะดวก ผ่านประชามติอย่างง่าย แต่คือความชอบธรรมที่สะท้อนเสียงส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศ” นายกรวีร์ ชี้แจง
ขณะที่นายไชยชนก ชี้แจงด้วยว่า การใช้เกณฑ์ผ่านประชามติแบบง่าย จะพูดเต็มปากได้หรือไม่ว่า เป็นการตัดสินใจของประชาชน และจะได้รับการยอมรับจากคนไทยทั้งประเทศจริงหรือไม่ ทั้งนี้การตัดสินใจอย่างง่ายนั้นอาจเปิดช่องให้เสียงส่วนมากถูกมองข้าม อย่างไรก็ดีในเกณฑ์ผ่านประชามติที่เห็นต่าง ในสภาฯ พรรคภูมิใจไทยได้โหวตตามเสียงส่วนมาก แต่หลังจากนั้นได้นำคำถามไปถามประชาชน และได้รับผลตอบรับคือ ประชาชนเห็นว่ายังจำเป็นต้องมีเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น เพราะการทำประชามตินั้นมีผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้นจึงต้องการความมั่นใจที่ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิที่มีปริมาณมากพอที่จะน่าเชื่อถือ
“มีกรรมาธิการบางคนบอกว่าหากใช้เกณฑ์สองชั้นอาจเกิดการรณรงค์ไม่ให้คนออกมาใช้สิทธิ และทำให้การออกเสียงเป็นโมฆะ ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่น่าเกิดขึ้นได้ เพราะการรณรงค์ไม่ให้ใช้สิทธินั้นผิดกฎหมาย ทั้งนี้การทำประชามติไม่ใช่ไม่มีเกณฑ์ อย่างไรก็ดีมีสส.พาดพิงมายังพรรคภูมิใจไทยจะงดออกเสียง และมองว่าไม่ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องจริง และบอกว่าจะขวางแก้รัฐธรรมนูญ หากเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการจริงๆ และเห็นได้ชัด พรรคภูมิใจไทยไม่ขัดขวาง ทั้งนี้การลงมติรอบนี้พรรคภูมิใจไทยไม่งดออกเสียง แต่ขอยืนยันจุดยืนเดิม คือกระบวนการทำประชามติ คือ คืนอำนาจสู่สภาตัวแทนไปสู่เจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริง เพื่อตัดสินใจสำคัญต้องมีเกณฑ์ โดยพรรคภูมิใจไทยเห็นด้วยอย่างยิ่งให้กระบวนการประชามติควรเป็นเรื่องง่าย แต่ไม่มักง่ายในวิธีการ" นายไชยชนก ชี้แจง
ขณะที่นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ฐานะกรรมาธิการ ชี้แจงตอบโต้ว่า ตนไม่ตำหนิว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ บังเอิญวุฒิสภาไม่เห็นชอบกับร่างของสภาฯ สิ่งที่เกิดขึ้นตนมองออก เพราะเล่นการเมืองมานาน อายุตน 80 ปี อย่าพูดเอาหล่อเพื่อบิดเบือนการใช้กฎหมาย
“วันนั้นบอกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ แก้ประชามติ ก็มาทำร่วมกัน แต่เมื่อสว. แก้ไขเรื่องสองชั้น กรณีต้องได้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง หากมีอีแอบอยู่เบื้องหลังไม่ให้แก้ ไม่ให้ทำสำเร็จ อย่าเชื่อว่าเห็นชอบกับสว.แก้ไข จะมีรัฐธรรมนูญเร็ว ไมใช่ ผมระวังอีแอบไม่ให้มีการแก้ไขชาติหน้าตอนบ่ายๆ แก้ไม่ได้ คือ บิดเบือนคำพูด ที่ผมทนไม่ได้คือ ในกรรมาธิการมีฉากหน้าฉากหลัง เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ผมต่อสู้แล้ว แต่มีขาดตกบกพร่อง ซึ่งบอกเหตให้รู้” นายประยุทธ์ ชี้แจง
นายประยุทธ์ อภิปรายต่อว่า วันนั้นพูดเป็นเสียงเดียวกัน ไม่เหมือนวันนี้ ที่พูดคนละเสียงคนละโทน ทั้งนี้ เรารอได้ แม้จะเข้าองค์ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่มีผลยับยั้ง 180 วัน หากจะเอาปืนจ่อหัวให้ผมเห็นชอบก็ไม่ยอม ทั้งนี้หากยับยั้ง 180 วันแล้วหลังจากนั้น สภาฯยืนยันชนะ จะเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้เป็นกฎหมาย ขอให้รอ แม้ว่าจะนาน แต่ตนมองว่าไม่นานเกินกว่าคนเขาป้อนคำหวานแล้วไม่มีทางแก้ไขได้ เพราะตนระแวงอีแอบที่อยู่ข้างหลัง