กรมที่ดิน เปิดข้อมูล ปมเขากระโดง สวนรฟท. เคยรับรองพื้นที่ทั้ง 2 ตำบล 271 แปลง
กรมที่ดิน เปิดข้อมูล ปมเขากระโดง สวนรฟท. เคยรับรองพื้นที่ทั้ง 2 ตำบล 271 แปลง ไม่ใช่ที่ดินของรฟท. ย้ำชัดหลักฐานไม่เพียงพอเพิกถอนโฉนดที่ดิน
ที่กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ 1 นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทย พร้แมด้วยนายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน นายสนอง เทพอักษรณรงค์ สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณี “เขากระโดง” จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบกว่า 400 คน เข้าร่วม
ช่วงหนึ่งนายเจนกิจ เชฏฐวาณิชย์ รองอธิบดีกรมที่ดิน ชี้แจงประชาชนกว่า 400 คน ที่ได้รับผลกระทบ ว่า เหตุผลที่กรมที่ดินมาวันนี้ เพราะยังมีข้อเท็จจริงที่ยังไม่ตรงกับความเป็นจริงในพื้นที่ จึงมีนโยบายนำเรื่องนี้มาชี้แจงกับประชาชนให้ทราบ ซึ่งภารกิจของกรมที่ดิน คือการออกเอกสารสิทธิ์ให้กับประชาชน ในพื้นที่เขากระโดง มี 2 ตำบล คือ เสม็ด และอิสาน ซึ่งออกไปแล้ว 995 แปลง
ยืนยันว่าเราไม่ได้ดำเนินการเพียงหน่วยงานเดียว มีหน่วยงานอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นท้องที่ กำนันผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ รวมถึงส.ป.ก. และในเขากระโดง ก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเข้ามาเป็นคู่ความ กับกรมที่ดินในปัจจุบัน
รองอธิบดีกรมที่ดิน ย้ำว่า เราตรวจสอบแล้วพบว่ามีการระวางชี้แนวเขต ที่การรถไฟฯได้รับรับรองว่า ไม่ใช่ที่ดินของการรถไฟ ซึ่งตรวจสอบจากข้อมูลในสารระบบ 2 ตำบล 271 แปลง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ที่ยังไม่เคยปรากฏในข่าว ยืนยันว่ากระบวนการ เราตรวจสอบแล้วครบถ้วนตามกฏหมายที่ดิน จนปี 2539 มีข้อพิพาทระหว่างประชาชนกับการรถไฟ จึงเป็นที่มาของการจัดทำแผนที่ปี 2539 ที่แก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน จึงนำแผนที่ฉบับนี้ไปใช้ต่อสู้ในคดีของประชาชน จึงเป็นที่มาของคำพิพากษาทั้ง 3 คดี
3 คดีนี้ กรมที่ดินไม่เคยเข้าเป็นคดีด้วย มีแต่ประชาชนที่เข้าต่อสู้โดยลำพัง ดังนั้น การรถไฟ จึงใช้ 3 คดีนี้ มาใช้ฟ้องกรมที่ดิน เพื่อให้อธิบดีกรมที่ดินใช้อำนาจเพิกถอน ในประเด็นนี้ศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า เป็นข้อเท็จจริงแต่ละเรื่องไป ศาลไม่อาจก้าวล่วงได้ จึงได้มีคำสั่งของศาลปกครองกลาง ให้กรมที่ดิน แต่งตั้งกรรมการสอบสวน และได้ดำเนินการครบถ้วนแล้ว
ด้านนายสมบัติ ลาอ่อน เจ้าพนักงงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ชี้แจงว่า ที่ดินดังกล่าวมีข้อพิพาทมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งกรมที่ดินพยายามพิจารณาตามพยานหลักฐานให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งในส่วนที่ศาลได้มีคำพิพากษา มีอยู่ 3 คำพิพากษา ทั้งการรถไฟฟ้องไล่ราษฎร และราษฎรฟ้องกรมที่ดิน ซึ่งกรมที่ดินทำตามคำพิพากษาเป็นอย่างครบถ้วน โดยเป็นการพิพาทระหว่างประชาชน 35 รายกับการรถไฟ
ส่วนคำพิพากษาศาลปกครองกลางเป็นกรณีสำคัญการรถไฟได้อาศัยข้อเท็จจริงจากศาลคดีนั้นมาให้กรมที่ดิน ตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 61 ที่ได้วินิจฉัย พร้อมกับระบุว่าไม่ได้ก้าวล่วงอำนาจของอธิบดีกรมที่ดินที่จะใช้อำนาจในการเพิกถอนหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้อธิบดีกรมที่ดินได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่ดินบริเวณนี้ ซึ่งจากการพิจารณาตามพยานหลักฐานประกอบคำพิพาก ที่มาจากพิจารณาจากทุกภาคส่วน
ขณะเดียวกัน กรณีที่การรถไฟกล่าวอ้างไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะเอามาใช้ในการเพิกถอนโฉนดที่ดินของประชาชนได้ เพราะฉะนั้นในส่วนนี้คณะกรรมการตามมาตรา 61 เสนอให้ยุติการดำเนินการในส่วนนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนตามที่ประชาชนได้ต่อสู้ ส่วนปัจจุบันการดำเนินการการรถไฟก็อยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน ซึ่งก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการ เพราะฉะนั้นขณะนี้กรมที่ดินก็อยู่ระหว่างการรอผลพิจารณาการอุทธรณ์ ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาและจะดำเนินต่อไปคงจะต้องอาศัยพยานหลักฐานที่ชัดเจนและเพียงพอ จึงจะสามารถดำเนินการ ในส่วนของกลุ่มที่ดินได้
ด้านนายปิยะ ปิจนำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากแผนที่ 2 กรกฎาคม 2567 ทางการรถไฟได้มารางวัดแนวเขตที่พิพาท ทำให้มีแผนที่ขึ้นมาพื้นที่ของแผนที่ประมาณ 5,000 กว่าไร่ แบ่ง 4 ส่วน ได้แก่ ที่ดินของภาคประชาชน 2 ตำบล 7 ตำบล คือ ตำบลเสม็ดและตำบลอีสาณ 4,700 ครัวเรือนประชากรที่อาศัยอยู่ 7,600 กว่าคน อยู่มาเป็น 100 กว่าปี ไม่มีเขตอุทยาน และเขตป่าสงวน ซึ่งการที่สื่อออกไปพูดเรื่องว่าที่ดินอยู่ในพื้นที่เขตทยาและเขตป่าสงวนนั้นเป็น fake News , ที่ดินของราชการ มี 12 หน่วยงาน กว่า 100 ไร่ ทางราชการได้คัดค้านแนวเขตของการรถไฟทุกหน่วยงาน โดยทางธนารักษ์พื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ชี้แจงว่า ที่ดินราชการได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายและถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย หากการรถไฟจะมาชี้แนวเขตเอาที่ของราชการมาเป็นที่ของรัฐวิสาหกิจ ต้องพิสูจน์สิทธิ์ตามช่องทางของกฎหมาย , ที่ดินสาธารณะ กองอาสารักษาดินแดน ถูกการรถไฟแห่งประเทศไทย ขอพื้นที่คืน ซึ่งจังหวัดได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิสูจน์สิทธิ์ในปี 2521 ได้วินิจฉัยว่าที่ดินของอส.เป็นที่ดินสาธารณะของการรถไฟฯไม่ได้มีเอกสารหลักฐานยืนยัน ไม่มีแผนที่ แต่การรถไฟฯมีหนังสืออ้างสิทธิ์ หากอส.จะใช้พื้นที่ตรงนี้ต้องเช่ากับการรถไฟ และที่ดินของวัด
นอกจากนี้ยังมีเจ้าอาวาสจากวัดป่าศิลาทอง ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบ ได้ชี้แจงว่า ที่ดินที่ก่อสร้างวัดได้ผ่านการพิจารณาโดยได้รับอนุญาตให้สร้างวัดตั้งแต่ปี 2528 พอมาถึงเดือนกรกฎาคม ปี 2567 การรถไฟได้มาปักเสาตรงมุมวัด ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมาก ถ้าลากตามเส้นนั้น เพราะเป็นมุมที่สำหรับเผาศพ มีกระดูก และเป็นของบรรพบุรุษชาวบ้านอยู่มาเก่าก่อน
ขณะที่นายทิวา การกระสัง ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า การสำรวจพื้นที่เขากระโดงตามพระราชกฤษฎีกาปี 2462 ถึงปี 2463 ถูกยกเลิกไปแล้วตามพระราชกฤษฎีกาปี 2464 แสดงให้เห็นว่ากฎหมายทั้งสองฉบับไม่ใช่กฎหมายที่จะให้ที่ดินดังกล่าวเป็นสิทธิ์ของการรถไฟฯ ฉะนั้น จะมาบอกว่าที่ดินตรงนี้เป็นของการรถไฟฯได้อย่างไร วันนี้ตนจะมาทำให้เห็นว่าพวกที่นั่งทางในอยู่ที่กรุงเทพฯ ที่บอกว่าเป็นที่ของการรถไฟฯจริงๅแล้วเป็นอย่างไร
นายทิวา กล่าวว่า ตอนที่จะมีการวางรางรถไฟมีการเขียนแผนที่ไว้ก่อนว่าทางรถไฟจะออกไปทางไหนผ่านที่ไหนบ้าง ซึ่งทางผ่านจังหวัดบุรีรัมย์มีการเขียนแผนที่ส่วนแยกไว้สองส่วน คือส่วนแยกเขากระโดงกับส่วนแยกบ้านตะโก ซึ่งเขียนไว้ก่อนที่จะมีการสำรวจในปี 2462 แต่เพิ่งมีการเริ่มอ้างสิทธิ์ในปี 2517
“เรื่องเขากระโดงทุกคนต่างอ้างตัวหนังสือ ตะแบงเอากฎหมายใกล้เคียงมาตัดสิน โดยไม่มองความเป็นธรรม และความยุติธรรมของพวกเราเลย“ นายทิวา ระบุ
จากนั้น นายทิวา ได้ให้ชาวบ้านปรบมือแช่งการรถไฟฯที่จะมาเอาที่ดินเขากระโดง ขณะเดียวกันให้ชาวบ้านปรบมือให้กับอธิบดีกรมที่ดิน เพราะถ้าไม่มีอธิบดีท่านนี้ชาวบ้านคงไม่มีที่อยู่กันแล้ว พร้อมบอกว่าถ้าอธิบดีกรมที่ดินถูกฟ้อง ก็ขอให้แจ้งในชาวบ้าน เพราะเราจะไปเป็นจำเลยด้วยกัน
ทั้งนี้กรมที่ดินได้ทำหนังสือเชิญการรถไฟแห่งประเทศไทย มาร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงในวันนี้ด้วย แต่ปรากฏว่าไม่มีการส่งตัวแทนมาร่วมแต่อย่างใด