ทสท. ดันกฎหมายช่วยเอสเอ็มอี ‘ลูกสาวสุดารัตน์’ แนะเอไอช่วย ศก.ขยายตัว
วงเสวนาเอสเอ็มอีรับมือโลกใหม่ยุคเมกะเทรนด์ "จินนี “ยศสุดา"ลูกสาวสุดารัตน์ ชี้ไทยจำเป็นต้องปรับตัวหลายมิติ ย้ำ AI จะเป็นรากฐานสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต ขณะที่ “ไทยสร้างไทย“ รับลูกดันกฎหมายช่วยเอสเอ็มอี ขจัดอุปสรรคการทำมาหากินให้คนตัวเล็ก
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2567 ที่รัฐสภา พรรคไทยสร้างไทย จัดเวทีเสวนาวิชาการ หัวข้อ "SMEs ไทยจะรับมืออย่างไรกับ Megatrend" ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญ และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมอภิปราย โดยนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพย์โซลูชั่น จำกัด กล่าวถึงการปรับตัวของเอสเอ็มอี ในยุคดิจิทัล โดยแสดงความกังวลต่อการเข้ามาตีตลาดของทุนต่างชาติ ซึ่งเป็นปัญหาที่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ จึงอยากเห็นเจ้าหน้าที่ทำงานเชิงรุกมากขึ้น เมื่อเจอสินค้าที่เข้าข่ายผิดกฎหมายต้องติดตามไปให้ถึงต้นตอ
ส่วนผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมการรับมือการบุกเข้ามาของทุนต่างชาติทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยนำเทคโนโลยี AI เข้าไปใช้ประโยชน์ช่วยในการค้าขายเพิ่มศักยภาพให้องค์กร เพิ่มทักษะให้กับบุคลากรในองค์กร เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ได้มีประสิทธิภาพสูงสุด ขณะเดียวกันขอเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนนโยบาย คนทำการค้าออนไลน์เพื่อให้มีแต้มต่อสามารถแข่งขันกับทุนต่างชาติได้ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงกฎหมาย ทั้งในส่วนของ กฎหมายที่เกี่ยวกับสินค้าจับต้องได้และกฎหมายที่เกี่ยวกับสินค้าดิจิทัล
นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ อดีตประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย กล่าวถึงการปรับตัวของเอสเอ็มอีต่อผู้บริโภคยุคใหม่ โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงในองค์กร ให้มีความคล่องตัวกระฉับกระเฉง โดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยี มาผสมผสาน ลดโครงสร้างขององค์กรให้กระชับ พร้อมเปลี่ยนแนวคิดว่า หากจะผลิตสินค้าหรือขายสินค้าต้องมีกำไรเท่านั้น เมื่อสินค้าที่ผลิตอยู่แข่งขันสูง ต้นทุนการผลิตแข่งขันในตลาดสู้ไม่ได้ ก็ต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุน ลดปัญหาเรื่อง carbon release หากไม่สำเร็จก็ควรเลิกผลิตหาแหล่งที่ผลิตถูกกว่ามาขาย หรือปรับเปลี่ยนไปผลิตสินค้าประเภทอื่นแทน รวมถึงการปรับเปลี่ยนแนวทางการตลาด โดยใช้โลกของเทคโนโลยีและสื่อทางด้านอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วย
ด้านนายสุปรีย์ ทองเพชร ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวถึงการสร้างความยั่งยืนในยุคเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งธุรกิจจะต้องปรับตัว เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ซึ่งจัดออกเป็น 3 มิติ
มิติที่ 1 การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกทางตรงขององค์กร (Direct Emissions) เช่น การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงจากองค์กร เช่น การใช้เชื้อเพลิงต่างๆ ในกระบวนการผลิต, การใช้ยานยนต์ขนส่งภายในองค์กร, การรั่วไหลของสารทำความเย็น
มิติที่ 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Indirect Emissions) เช่น การซื้อไฟฟ้า ไอน้ำ ความร้อน หรือความเย็น เพื่อนำมาใช้ภายในองค์กร หรือโรงงานอุตสาหกรรม
และมิติที่ 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ (Other Indirect Emissions) เช่น การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นตามจุดต่างๆ ตลอดทั้งซัพพลายเชนที่นอกเหนือจาก 2 มิติข้างต้น อาทิ การซื้อวัตถุดิบจากผู้ผลิตต้นน้ำ ซึ่งคิดจากการได้มาซึ่งวัตถุดิบ แปรรูป และขนส่งมายังสถานที่ผลิตของเรา รวมถึงการเดินทางทางธุรกิจที่เกิดขึ้น หรือการเดินทางของพนักงานด้วย
สำหรับการประเมินดังกล่าว เป็นกลไกที่ไม่เพียงช่วยให้องค์กรมองเห็น ‘ผลกระทบต่อโลก’ ที่สร้างขึ้นผ่านปริมาณก๊าซเรือน แต่ยังเป็นเข็มทิศให้กับองค์กรในการปรับแผนกลยุทธ์สำหรับการเปลี่ยนวิถีการทำธุรกิจของตน มองหาโซลูชั่นส์ใหม่ๆ ทั้งด้านพลังงาน กระบวนการผลิต รวมถึงจัดหาวัตถุดิบทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ด้านนายนรุตม์ชัย บุนนาค คณะทำงานด้านกฎหมายพรรคไทยสร้างไทย เห็นว่าการพักใช้กฎหมายเพื่อให้เอสเอ็มอีเติบโตเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งพรรคไทยสร้างไทย ได้ร่างกฎหมายเข้าสู่สภาแล้ว โดยมีหลักการ เพื่อขจัดอุปสรรคต่อการทำมาหากินให้กับพี่น้องประชาชนคนตัวเล็ก และเป็นการทลายช่องทางรีดไถหาประโยชน์คอร์รัปชั่น รวมกว่า 1,400 ฉบับ โดยกฎหมายเกี่ยวกับเอสเอ็มอี ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย กระบวนการจะเริ่มจากการออก พ.ร.ก.1 ฉบับซึ่งใช้เวลาไม่มาก เพื่อเว้นการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องการอนุมัติอนุญาต การลงโทษทั้งอาญาและปกครองออกไป 3 ถึง 5 ปี จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงกฎหมาย ให้แล้วเสร็จเพื่อลดจำนวนลงให้เหลือกฎหมายที่จำเป็น 100 ถึง 200 ฉบับเท่านั้น ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ทำมาหากินได้อย่างเต็มที่
นางสาวยศสุดา ลีลาปัญญาเลิศ บุตรสาว คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ผู้ดำเนินรายการและร่วมเสวนา สรุปว่า ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงเอสเอ็มอีจำเป็นต้องปรับตัวในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของเทคโนโลยี AI ซึ่งจะเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนในอุตสาหกรรมต่างๆ จะเป็นรากฐานสำคัญในการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งสามารถกำหนดผลกำไรของตลาดได้ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากการนำดิจิทัลมาปรับใช้ ก็จะช่วยสร้างประโยชน์ต่อเอสเอ็มอี ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น Digital Marketing กระบวนการภายในระบบจัดซื้อ ไปจนถึง Data analytic
นางสาวยศสุดา ระบุว่า อีกส่วนที่น่าจับตาคือโครงสร้างประชากรไทยในอนาคต ซึ่งประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ปี 2567 ประชากรสูงวัยเพิ่มถึง 13.4 ล้านคน และอาจสูงถึง 35% ในอีกไม่เกิน 30 ปีข้างหน้า หากปล่อยให้เกิดปัญหาเช่นนี้ productivity ของประเทศก็จะวิกฤต ดังนั้นผู้มีอำนาจควรสร้างนโยบายให้ชัดเจนขึ้นมารองรับวิกฤตนี้