อิทธิฤทธิ์ ‘พรรคสีน้ำเงิน’ ขวางเซ็ตซีโร่ ‘กองทัพ’
ฝ่ายการเมือง พยายามปรับแก้ พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม มาทุกยุคสมัย หวังดึงอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายในกองทัพมาอยู่ในมือ สร้างเสถียรภาพ เพิ่มแต้มต่อทางการเมือง
KEY
POINTS
- พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 เกิดหลังเหตุการรัฐประหารเป็นป้อมปราการสำคัญสกัดฝ่ายการเมืองล้วงโผทหารมากว่า 16 ปี
- รมช.กลาโหม เดินหน้าทำความเข้าใจกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ เพิ่มสัดส่วนฝ่ายการเมือง ในบอร์ดปรับย้ายทหารชั้นนายพลกลาโหม
- บารมี อนุทิน เบ่งบานในกองทัพ มากว่า 6 ปี ผลพวงหลักสูตรคอนเนกชั่น วปอ.61 ที่มีเพื่อนร่วมรุ่นบิ๊กทหารทั้ง “ใน-นอก” กองทัพ
ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ในปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนแก้ไข หลังจากคณะกรรมการกลั่นกรองที่เกี่ยวข้องกับงานด้านความมั่นคงและกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมาย ที่มี “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และรมว.กลาโหม เป็นประธาน มีมติให้ส่งคืนกระทรวงกลาโหมกลับไปทบทวน
1.ไม่ให้ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบสภากลาโหม
2. ปรับเปลี่ยนบอร์ด 7 เสือกลาโหม ปรับย้ายทหารชั้นนายพล โดยให้เพิ่มสัดส่วนฝ่ายการเมือง นายกรัฐมนตรี และรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง รวมเป็น 9 คน และไม่ต้องผ่าน ครม.
3. ให้ตัดมาตรา 35 ทิ้ง ทั้งกรณีห้ามใช้กำลังทหารควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาล หรือเพื่อก่อการกบฏ รวมถึงขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ราชการต่างๆ ห้ามใช้เพื่อธุรกิจหรือกิจการอันเป็นประโยชน์ส่วนตัวของผู้บังคับบัญชา และกระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมายอื่นๆ
การกำหนดให้ข้าราชการทหารที่ได้รับคำสั่งให้ทำ ย่อมมีสิทธิไม่ปฏิบัติตาม และไม่ถือว่าผิดวินัยทหาร หรือกฎหมายอาญาทหาร
รวมถึงให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งพักราชการ ทหารคิดยึดอำนาจ
ผลพวงจากพลัง “ฝ่ายอนุรักษนิยม” เรียงหน้าคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ฉบับ “ประยุทธ์ ศิริพานิชย์” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ
สาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ระบุให้ การแต่งตั้งทหารชั้นนายพล ผ่านความเห็นชอบ ครม. ให้ “นายกฯ” เป็นประธานสภากลาโหม พร้อมมอบดาบอาญาสิทธิ์ สั่งพักราชการนายทหารคิดทำการ “รัฐประหาร”
ล่าสุด พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม เดินหน้าทำความเข้าใจกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ แม้จะมีการเพิ่มนายกฯ และรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ในบอร์ดปรับย้ายทหารชั้นนายพล เป็น 9 เสียงจาก 7 เสียง แต่สัดส่วนฝั่งกองทัพมีมากกว่าฝ่ายการเมือง 1 เสียง
หากร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม แก้ไขเสร็จเรียบร้อย ส่งให้ภูมิธรรม นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ หากไม่มีปัญหา ส่งเข้า ครม.อนุมัติ เตรียมประกบร่างของพรรคประชาชนในสภาฯ
ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ประเด็นร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ฉบับ “ประยุทธ์ ศิริพานิชย์” กลายเป็นเผือกร้อนของพรรคเพื่อไทย หลังถูกพรรคร่วมรัฐบาลต่อต้าน
เปิดหัวโดย “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียง สส.มาเป็นลำดับสองรองจากพรรคเพื่อไทย แต่กุมเสียง สว.เหนือกว่า ด้วยการส่งสัญญาณ “ภูมิใจไทย” ไม่เห็นด้วยร่างพ.ร.บ.ของพรรคเพื่อไทย เพราะมองว่า ไม่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง แต่นักการเมืองต้องทำหน้าที่ให้ดี ซื่อสัตย์สุจริต รักษาความสงบ อย่าให้แตกความสามัคคี
ต้องยอมรับว่าบารมี “อนุทิน” เบ่งบานในกองทัพ มากว่า 6 ปี ผลพวงหลักสูตรคอนเนกชั่น วปอ.61 ที่มีเพื่อนร่วมรุ่นบิ๊กทหารทั้ง “ใน-นอก” กองทัพ
กลุ่มนอกราชการ อาทิ “บิ๊กเกรียง” พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา อดีต ผู้ช่วยผบ.ทบ.และ มทภ.4 “บิ๊กต่อ” พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ อดีต ผบ.ทบ.
ส่วนในราชการ เช่น พล.อ.สนิธชนก สังข์จันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ทหารสูงสุด พล.ร.อ.ชลธิศนาวานุเคราะห์ รอง ผบ.ทร.รวมถึงนายทหารดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพหลายคน
คอนเนกชั่นเพื่อนร่วมรุ่น เริ่มเห็นดอกผลชัด การเลือกตั้งนายกอบจ.นครศรีธรรมราช พ.ย.ที่ผ่านมา “วาริน ชิณวงศ์”จากภูมิใจไทย ล้มบ้านใหญ่ “กนกพร เดชเดโช” มารดา “ชัยชนะ-พิทักษ์เดช เดชเดโช” สส.นครศรีธรรมราช ประชาธิปัตย์ ขาดลอย
เชื่อกันว่าได้พลัง “บิ๊กเกรียง” เพื่อนซี้ “อนุทิน” และยังต้องมองไกลไปถึงเลือกตั้งครั้งใหญ่ ภูมิใจไทย หวังเจาะ สส.พื้นที่ภาคใต้ รวมถึง พื้นที่อีสาน อยู่ในการดูแลกองทัพภาคที่ 2
หากย้อนไปในการช่วงเลือกตั้งปี 2566 ภูมิใจไทย เป็นพรรคแรกส่งสัญญาณไม่สนับสนุน “นายกรัฐมนตรี” จากพรรคที่มีแนวคิดแก้ไขมาตรา 112 ก่อนพรรคอื่นๆ จะร่วมแสดงจุดยืนเดียวกัน เป็นเหตุให้การจับมือตั้งรัฐบาล ระหว่างพรรคก้าวไกล(พรรคประชาชน) กับเพื่อไทย ล่มไม่เป็นท่า
กรณี ร่าง พ.ร.บ.กลาโหม พรรคเพื่อไทย ก็เช่นเดียวกัน หลังจากอนุทินส่งเสียง “รวมไทยสร้างชาติ” พรรค DNA ลุงตู่ ก็ตามขบวนมาติดๆ แสดงจุดยืน ไม่เห็นด้วย เพราะทำให้การเมืองเข้าแทรกแซงกองทัพ กระทบความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะการเปลี่ยนองค์ประกอบสภากลาโหม และประเด็นอื่นๆ
สำทับด้วย วิษณุ เครืองาม อดีตกุนซือกฎหมายรัฐบาลลุงตู่ และอีกหลายรัฐบาล ยอมรับว่า การแก้ไขเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารให้มาเป็นอำนาจ ครม. เกิดสมัยรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน
“ซึ่งเป็นกิจการที่ ขนาดตำรวจยังไม่(ส่ง)มา ครม. คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เขาทำเสร็จแล้วจบ และกราบบังคมทูลฯ มีแต่พลเรือนที่ต้องมา ครม. เนื่องจากรัฐธรรมนูญไปเขียนเอาไว้ พร้อมเชื่อว่าไม่มีกฎหมายใดป้องกันรัฐประหารได้จริง” วิษณุ กล่าว
นอกจากนี้ พรรคฝ่ายค้าน “พลังประชารัฐ” ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประกาศเดินหน้าคัดค้านเต็มที่ โดยชี้ว่าเป็นใบเบิกทางฝ่ายการเมือง ให้มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้าย หวังผลประโยชน์ บั่นทอนกองทัพให้อ่อนแอลง
จน ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ยังออกอาการเหน็บ “อนุทิน” ผ่านสื่อ
"ภูมิใจไทยรีบหล่อเร็วไปนิด ขอให้หล่อช้า ๆ หน่อย ยืนยันไม่ต้องมีอะไรต้องอธิบาย เพราะพรรคร่วมรัฐบาลต้องฝึกการทำงานร่วมกันไม่จำเป็นต้องโทรไปหาคนหล่อ แค่คนที่หล่อเร็ว ขอให้หล่อช้านิดนึง" ทักษิณ กล่าว
พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 เกิดขึ้นหลังเหตุการรัฐประหารปี 2549 เป็นป้อมปราการสำคัญสกัดฝ่ายการเมืองล้วงโผทหารมากว่า 16 ปี
ในขณะที่ฝ่ายการเมืองพยายามปรับแก้ทุกยุคสมัย หวังดึงอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายมาอยู่ในมือ สร้างเสถียรภาพ เพิ่มแต้มต่อทางการเมือง โดยเชื่อว่า ในยุคผู้นำรัฐบาลมาจากพลเรือน การรื้อระเบียบ ปรับโครงสร้างกองทัพ คงทำได้ง่ายขึ้น ทหารคงไม่กล้าหืออือมากนัก
แต่ดันมาเจอ“อนุทิน” กระโดดขวางเต็มประตูหากปล่อยผ่าน ร่างพ.ร.บ.กลาโหม ฉบับเพื่อไทย มีผลบังคับใช้ “ผบ.เหล่าทัพ แม่ทัพ นายกอง” ย่อมถูกเซ็ตซีโร่ใหม่ทั้งหมด ดังนั้นสิ่งที่ลงทุนลงแรงปูรากฐานมากว่า 6 ปี ก็พังไม่เป็นท่า