สภากลาโหม ชู 'สมุดปกขาว' วางทิศทางกองทัพ 2569-2580

สภากลาโหม ชู 'สมุดปกขาว' วางทิศทางกองทัพ 2569-2580

สภากลาโหม ชู “สมุดปกขาว” วางทิศทางกองทัพ 10 ปี เร่งแก้ ร่าง พ.ร.บ.กลาโหม ยึดเป็นร่างหลักรัฐบาลเข้าสภา “ภูมิธรรม” ย้ำต้องเป็นประโยชน์กองทัพ-ตอบสนองประชาชน

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 67 ที่กระทรวงกลาโหม  นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหม ว่า เป็นการประชุมสภากลาโหมครั้งสุดท้ายของปี 2567 โดยมีเรื่องสำคัญหารือหลายเรื่อง

 

เรื่องแรกคือ มีการรายงานการจัดทำสมุดปกขาว ที่กำหนดทิศทางของกองทัพในส่วนต่างๆเข้ามาอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์เดียวกัน โดยที่ผ่านมาแต่ละหน่วยของกลาโหมมียุทธศาสตร์ของตัวเอง และดำเนินการกันไปไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ขณะนี้ต้องการให้กำลังพล และส่วนต่างๆในกองทัพทั้งหมด มีทิศทางที่เดินไปเป็นทิศทางเดียวกัน รวมถึงสามารถปรับทิศทางกำลังพล กำลังรบ ให้เป็นไปอย่างสอดคล้องกัน และใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ โดยเป็นการกำหนดทิศทางกองทัพตั้งแต่ปี 2569-2580  

ส่วนเรื่องที่ 2 เกี่ยวข้องกับกฎหมายกระทรวงกลาโหม โดยที่ประชุมได้รับทราบรายงานความคืบหน้าและนำร่างแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม ฉบับของนายสุทิน คลังแสง ที่เคยอนุมัติไว้ มาพิจารณา เพื่อดำเนินการและนำไปประกบกับร่างของพรรคการเมืองในสภา โดยคณะรัฐมนตรีจะนำร่างของกระทรวงกลาโหมป็นร่างหลักของรัฐบาล ซึ่งต้องมีการประชุมกลั่นกรอง ทั้งที่ในฐานะที่ตนเป็นประธาน ก็ได้มีการประชุมกลั่นกรองกันหลายเรื่อง และก็มีข้อวิจารณ์กันหลายเรื่อง เพราะต้องการให้ร่างนี้สอดรับกับความเป็นจริงของกองทัพและกำลังพลต่างๆ รวมถึงสอดรับกับการรับรู้ตามที่ประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโดยเร็วที่สุด ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการในบางประเด็นจากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภากลาโหมอีกครั้ง โดยจะใช้เวลาไม่นาน เพราะต้องมีการหมุนเวียนและถามความเห็นจากฝ่ายต่างๆ เพื่อเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้เป็นร่างของรัฐบาลที่จะประกบเข้าสู่สภา

ส่วนผู้บัญชาการเหล่าทัพ ได้มีข้อเสนอแนะหรือท้วงติงในประเด็นการปรับย้ายนายทหารที่เกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหาร หรือไม่นั้น นายภูมิธรรม กล่าวว่า วันนี้เป็นเพียงการแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ แต่การพูดคุยกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม คงจะคุยในรายละเอียดต่อไป แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่การทำให้ผลการดำเนินงานต่างๆดีที่สุด และบางเรื่องที่เสนอไปไม่ตอบโจทย์ หรือสร้างผลกระทบ และเป็นปฏิกิริยาที่ไม่ดีกับเหล่าทัพ ก็ไม่อยากให้เกิดการสะเทือน เพราะย้ำไปแล้วว่า หากจะมีการปรับเปลี่ยนก็ต้องทำให้เกิดประโยชน์ที่สุด เพราะพูดแล้วว่าเป็นการเปลี่ยนผ่าน ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงอะไรทันที ดังนั้นหลายเรื่องต้องพูดคุยกัน แต่ก็ได้ย้ำกับเหล่าทัพไปว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนผ่านของโลก และความต้องการของประชาชน ซึ่งต้องนำสิ่งเหล่านี้มาประกอบการพิจารณาเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น

ส่วนการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีปรับย้ายนายทหารที่เกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหาร ตามร่างเดิม ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์นั้น นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่ใช่การจัดทำร่างใหม่ขึ้นมา แต่ใช้ร่างของนายสุทินที่ผ่านสภากลาโหมมาแล้ว เป็นร่างหลักของรัฐบาล แต่ยอมรับมีข้อวิพากษ์วิจารณ์และข้อที่ต้องคำนึงถึง ซึ่งกองทัพก็จะเก็บส่วนนี้ไปพิจารณาต่อไป เพราะขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองกับกองทัพเป็นไปด้วยดี ช่วยเหลือร่วมมือกัน จึงอยากให้ร่วมมือกันทำงานมากกว่า โดยเรื่องนี้ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และปลัดกลาโหม เป็นผู้ประสานงาน

ส่วนเรื่องที่ 3 ได้มีการพูดคุยถึงสถานการณ์ต่างๆทั่วโลก ที่มีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง ซึ่งต้องกำหนดท่าทีของรัฐบาลไทยและของกองทัพไทยต่อสถานการณ์ต่างๆ โดยเน้นว่าต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศให้มากที่สุดซึ่งพื้นฐานของประเทศไทยยึดหลักความเป็นกลางเพราะเราไม่ใช่ประเทศใหญ่ดังนั้นการที่มหาอำนาจกำลังแย่งชิงบทบาทในภูมิภาคนี้ซึ่งไทยเป็นมิตรกับทุกฝ่าย สิ่งใดที่สามารถช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ไทยก็จะดำเนินการ อีกทั้งต้องมีความอดทนอดกลั้นในการแก้ปัญหา

นอกจากนี้ ที่ประชุมสภากลาโหม ยังมีการพูดคุยเรื่องการปรับปรุงกองทัพในหลายด้าน รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านระบบการเกณฑ์ทหารไปสู่ระบบสมัครใจ การช่วยเหลือบรรเทาสาธารณะภัย โดยย้ำว่าการทำงานของทุกส่วนต้องมีการรายงานความคืบหน้า เพราะหากมีความเห็นที่แตกต่างจะได้ช่วยกันหาจุดที่สามารถตกลงร่วมกันได้ในทิศทางเดียว

ด้าน พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหมแถลงว่า ในที่ประชุมสภากลาโหมได้มีการนำเสนอเอกสารยุทธศาสตร์พัฒนากองทัพ พ.ศ. 2569 ถึง 2580 หรือ white paper เพื่อเป็น กรอบแนวทางในการพัฒนาทั้งด้านการเตรียมกำลังและการใช้กำลังกองทัพให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันนำไปสู่การจัดทำแผนและโครงการรองรับที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบและเข้าใจถึงบทบาทรวมทั้งเหตุผลความจำเป็นในการพัฒนากองทัพ 

โดยกำหนดแนวทางพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์3แนวคิดได้แก่

1.การสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ

2.การผนึกกำลังป้องกันประเทศและรักษาผลประโยชน์ของชาติ

3. การปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ

นอกจากนั้น ยังได้ระบุถึง การเตรียมความพร้อมในการใช้กำลังเพื่อการป้องปราม แก้ไขและยุติความขัดแย้งให้พร้อมรับสถานการณ์ทั้งในยามปกติและยามสงครามโดยยึดมั่นในหลักการว่ามีกำลังรบเพื่อป้องกันตนเอง

ทั้งนี้ ยังได้แบ่งการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ที่เน้นหนักไปที่การปรับปรุงโครงสร้างการจัดหน่วยและอัตรากำลังพลและการปรับลดจำนวนการข้าราชการทหาร ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการทยอยปรับลดกำลังพลแล้ว แต่ในภาพรวมทั้งนายทหารสัญญาบัตรและนายทหารประทวนรวมถึงพลอาสาสมัครจะลดลงร้อยละ5 ภายในปีงบประมาณ 2570 

มีเป้าหมายปรับลดนายทหารชั้นนายพลในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษรวมถึงนายทหารปฏิบัติการร้อยละ 50 ไปภายในปีงบประมาณพ.ศ. 2571 และการจัดทำโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดในระยะต่อไป จากนั้น จัดทำแผนควบคุมยอดการผลิตกำลังพลจากสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงกลาโหมและการปรับลดจำนวนความต้องการทหารกองประจำการให้มีความเหมาะสมกับภารกิจและภัยคุกคาม
พร้อมทั้งการพัฒนาระบบบริหารจัดการกำลังพลทั้งการบรรจุข้าราชการ พลเรือนกลาโหม การบรรจุทหารอาสาทดแทนข้าราชการทหารประจำการในหน่วยรบและหน่วยสนับสนุนการรบ โดยดำเนินการไปพร้อมกับการ พัฒนาระบบกำลังพลสำรอง

ในเอกสารยังระบุถึง การพัฒนาปรับปรุงด้านเทคโนโลยี สื่อสารไซเบอร์และกิจการอวกาศ การพัฒนาระบบการจัดหายุทโธปกรณ์กลาโหมเป็นแบบรวมศูนย์ โดยเน้นเหตุผลความจำเป็นความเร่งด่วน การบริหารงบประมาณในระยะยาวและขีดความสามารถในการปฎิบัติการร่วมตลอดจนให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศการวิจัยพัฒนาแลนโยบายoffset policy

ในส่วนของรายละเอียดการเตรียมกำลังและใช้กำลังกองทัพ ในส่วนกองทัพไทยได้แก่การปฎิบัติการร่วมหลายมิติ การปฎิบัติร่วมที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลางระบบการข่าวกรองร่วม ระบบเฝ้าตรวจแจ้งเตือนภัยคุกคามทุกมิติ การโจมตีเชิงรุกในระยะไกล ระบบส่งกำลังบำรุงร่วมระบบป้องกันภัยทางอากาศร่วม ระบบอากาศยานไร้คนขับและระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับและขีดความสามารถสนับสนุนอื่นๆ

สำหรับกำลังทางบกปรับปรุงโครงสร้างให้มีขนาดที่เหมาะสม ทันสมัย เป็นกำลังรบอเนกประสงค์สามารถปฏิบัติภารกิจได้หลากหลาย ดำรงสภาพความพร้อมรบ การขยายขีดความสามารถในการเสริมสร้างความทันสมัยของยุทโธปกรณ์ที่สนับสนุนระบบการปฎิบัติการในสนามรบ จัดหายุทโธปกรณ์และพัฒนากำลังพลที่มีความพร้อมสำหรับปฎิบัติภารกิจ เป็นต้น

กำลังทางเรือ ต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างของกำลังทางเรือให้มีขนาดที่เหมาะสมทันสมัยรองรับภารกิจได้อย่างสอดคล้องกับภัยคุกคามทางทะเลทั้งในปัจจุบันและอนาคต เป็นกำลังรบอเนกประสงค์ที่ปฏิบัติภารกิจได้หลายรูปแบบ พัฒนาความพร้อมในการปฎิบัติการทางเรือ พัฒนากำลังคนให้มีความพร้อมในการปฎิบัติภารกิจทั้งด้านอ่าวไทยและอันดามัน ลดประเภทและแบบยุทโธปกรณ์ บูรณาการปฏิบัติกับหน่วยงานต่างๆที่มีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางทะเล

กำลังทางอากาศ ปรับปรุงโครงสร้างให้มีความเหมาะสมทันสมัยเป็นกำลังรบอเนกประสงค์ที่สามารถปฏิบัติภารกิจได้หลายรูปแบบ พัฒนาปรับปรุงขีดความสามารถอากาศยานที่ใช้ ประจำการอยู่  ส่วนที่จัดหาใหม่ก็ทดแทนในส่วนอากาศยานที่ครบอายุการใช้งาน ในส่วนที่ยังจัดหาไม่ครบตามแผนรวมทั้งมีระบบอาวุธที่ทันสมัยพิจารณาใช้งานอากาศยานไร้คนขับที่สามารถตอบสนองภารกิจต่างๆของกำลังทางอากาศ พัฒนาระบบบัญชาการและควบคุมของระบบป้องกันภัยอากาศ รวมถึงการพัฒนาปฎิบัติการร่วมทางไซเบอร์ให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ

ในงานด้านไซเบอร์จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางไซเบอร์และโรงเรียนไซเบอร์เสริมสร้างความพร้อมของชุดปฏิบัติการไซเบอร์เคลื่อนที่เร็วให้พร้อมตอบโต้แก้ไขปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ของประเทศ 

นอกจากนั้นการปฎิบัติการทางอวกาศจะต้องมีหน่วยงานหลักที่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายดูแลภารกิจในส่วนของกิจการอวกาศของประเทศ สนับสนุนการจัดทำโครงการดาวเทียมแห่งชาติเพื่อให้มีช่องทางการสื่อสารผ่านดาวเทียมที่มีความปลอดภัย นอกจากนั้นจะต้องร่วมกับหน่วยงานภาครัฐเอกชนพยายามหารูปแบบจัดตั้งฐานส่งวัตถุอวกาศในประเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพในการพึ่งพาตนเองด้านอวกาศ