‘แดง-น้ำเงิน’กินรวบ อบจ. ฐานเสียงนายกท้องถิ่น พท.-ภท.ครองพรรคละ 10 เก้าอี้
สมรภูมิการเลือกตั้ง อบจ.จะมีการเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ 47 จังหวัด 1 ก.พ. 2568 ก่อนหน้านี้มี 29 จังหวัดที่ได้จัดการเลือกตั้งไปจากเหตุนายก อบจ.ลาออกก่อนครบวาระ รวมทั้งมีการสั่งให้เลือกตั้งใหม่จากเหตุทุจริตเลือกตั้ง
KEY
POINTS
- กกต.กำหนดวันเลือกตั้งนายก อบจ.และ ส.อบจ. วันที่ 1 ก.พ. 2568 ใน 47 จังหวัดทั่วประเทศ
- สมรภูมิเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งนี้ต่างจากปี 2563 ที่เปิดทางให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งได้
- พรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคที่ครองเก้าอี้นายก อบจ.มากที่สุดใน 29 จังหวัดที่ได้จัดการเลือกตั้งไปก่อนหน้านี้
ในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศเป็นวันเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศไทย แต่ในช่วงปี 2557 มีนายก อบจ. ในหลายจังหวัด ที่ลาออกก่อนครบวาระวันที่ 19 ธ.ค. 2567 ทำให้ กกต.ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งในทันที
กรณีเลือกตั้งจากการลาออกต้องจัดเลือกตั้งในกรอบ 60 วัน แต่ถ้าอยู่ครบวาระต้องเลือกตั้งภายใน 45 วัน
เหตุที่ต้องจัดเลือกตั้งพร้อมกันหลายจังหวัด เพราะการเลือกตั้ง อบจ. เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2563 เป็นการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งแรก นับตั้งแต่การรัฐประหารของ คสช. และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 และกฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ทำให้กำหนดครบวาระคือ 19 ธ.ค. 2567
การเลือกตั้งนายก อบจ. ถึงขั้น “แสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต.ยอมรับว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีความแปลกประหลาด เนื่องจากเป็นเหตุผลทางกฎหมายมากกว่าเหตุผลทางการเมือง การเลือกตั้งครั้งนี้ให้พรรคการเมืองระดับชาติส่งผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งได้
กกต.กำหนดให้ ตั้งแต่วันที่ 23-27 ธ.ค. 2567 เป็นวันเปิดรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยมี 47 จังหวัดทั่วประเทศที่เปิดรับสมัครนายก อบจ. และ 76 จังหวัดที่ต้องรับสมัคร สจ. โดยเลือกตั้งพร้อมกันวันที่ 1 ก.พ. 2568
สำหรับ 47 จังหวัดที่จะมีการเลือกตั้งนายก อบจ. วันที่ 1 ก.พ. 2568
กระบี่ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด นครนายก นครปฐม
นครพนม นครราชสีมา นนทบุรี นราธิวาส น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี
พังงา พัทลุง พิจิตร แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยะลา ระยอง
ลพบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สกลนคร สงขลา สตูล สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร
สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ
ส่วนจังหวัดที่ไม่อยู่ในข่ายจัดเลือกตั้งต้นปี 2568 เพราะมีบางจังหวัดมีการเลือกตั้งซ่อมไปก่อนหน้านี้ ทั้งเหตุนายก อบจ.ลาออกก่อนครบวาระ รวมทั้งมีการสั่งให้เลือกตั้งใหม่จากเหตุทุจริตเลือกตั้ง
เมื่อสแกนรายชื่อ เรียงจังหวัดที่เคยมีการเลือกตั้งใหม่ ก่อนครบวาระ และได้นายก อบจ.คนใหม่ เป็นตัวแทนกลุ่ม-พรรคการเมือง
ปี 2565 กาฬสินธุ์ “เฉลิมขวัญ หล่อตระกูล” พรรคเพื่อไทย จ.ร้อยเอ็ด “เศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์” พรรคเพื่อไทย
ปี 2566 สระแก้ว ฐานิสร์ เทียนทอง ในนามอิสระ (พรรคพลังประชารัฐ) เคยเป็นอดีต สส.พรรคพลังประชารัฐ มารดาเคยเป็นนายก อบจ.
กาญจนบุรี “ประวัติ กิจธรรมกูลกิจ” กลุ่มพลังกาญจ์ สส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทยให้การสนับสนุน
ปี 2567 พบว่ามีการเลือกตั้งนายก อบจ.หลายครั้งก่อนครบวาระ 25 จังหวัด
เลย “ชัยธวัช เนียมศิริ” กลุ่มพัฒนา ตัวแทนบ้านใหญ่ “ทิมสุวรรณ” พรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยให้การสนับสนุน
นครสวรรค์ “พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์”กลุ่มนครสวรรค์บ้านเรา พรรคภูมิใจไทย โดย “ชาดา ไทยเศรษฐ์” ให้การสนับสนุน
อ่างทอง “สุรเชษฐ์ นิ่มกุล” กลุ่มสำนึกรักบ้านเกิด ตัวแทนบ้านใหญ่ “ปริศนานันทกุล” จากพรรคภูมิใจไทยให้การสนับสนุน
พะเยา “ธวัช สุทธวงศ์” พรรคเพื่อไทย ลงแทน “อัครา พรหมเผ่า” อดีตนายก อบจ.ที่ลาออกไปรับตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ ตัวแทน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จากพรรคกล้าธรรรม พันธมิตรพรรคเพื่อไทย
พระนครศรีอยุธยา “สมทรง พันธ์เจริญวรกุล” ในนามอิสระ ตัวแทนพรรคภูมิใจไทย
ชัยนาท “จิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภา” ในนามอิสระ ตัวแทนตระกูลนาคาศัย สนับสนุนโดย “อนุชา นาคาศัย” อดีตจากพรรครวมไทยสร้างชาติ
ชัยภูมิ “สุรีวรรณ นาคาศัย” ในนามอิสระ อดีตอดีตที่ปรึกษา “อนุทิน ชาญวีรกูล” เป็นภรรยาของ “สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์” สส.ชัยภูมิ พรรคภูมิใจไทย
พิษณุโลก “มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์” กลุ่มพลังพิษณุโลก มีพรรคพลังประชารัฐสนับสนุน ได้รับแรงสนับสนุนจากบ้านใหญ่ทุกซุ้มทุกพรรค เว้นพรรคประชาชน ใน จ.พิษณุโลก
ราชบุรี “วิวัฒน์ นิติกาญจนา” กลุ่มพัฒนาราชบุรี ตัวแทนกลุ่ม สส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ ตระกูลนิติกาญจนา ได้ย้ายสังกัด สส.ไปอยู่พรรคกล้าธรรม
ปทุมธานี “พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง” กลุ่มคนรักปทุม มีพรรคภูมิใจไทยให้การสนับสนุน
ชุมพร “นพพร อุสิทธ” กลุ่มพลังชุมพร ตัวแทนบ้านใหใญ่จุลใส พรรครวมไทยสร้างชาติ
ยโสธร “วิเชียร สมวงศ์” พรรคเพื่อไทย กลุ่มเพื่อไทยอีสานใต้ “กัลป์ตินันท์”
ระนอง “สีหราช สรรพกุล” กลุ่มระนองก้าวหน้า พรรคภูมิใจไทย
อุทัยธานี “เผด็จ นุ้ยปรี” กลุ่มคุณธรรม “ชาดา ไทยเศรษฐ์” สส.พรรคภูมิใจไทย ให้การสนับสนุน
ขอนแก่น “วัฒนา ช่างเหลา” ในนามอิสระ พรรคเพื่อไทย สาย 2 ส.ให้การสนับสนุน
สุโขทัย “มนู พุกประเสริฐ” พรรคเพื่อไทย ตัวแทนบ้านใหญ่ “เทพสุทิน” และเป็นพี่ชาย “เจ๊เป้า” อนงค์วรรณ เทพสุทิน ภริยาของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน”
สุรินทร์ “ธัญพร มุ่งเจริญพร” ในนามอิสระ พรรคภูมิใจไทยสนับสนุน
นครศรีธรรมราช “วาริน ชิณวงศ์” ทีมนครเข้มแข็ง สมาชิกพรรคภูมิใจไทย และได้รับแรงสนับสนุนจากอดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์
เพชรบุรี “ชัยยะ อังกินันทน์” กลุ่มรวมใจเพชร พรรครวมไทยสร้างชาติสนับสนุน
อุดรธานี “ศราวุธ เพชรพนมพร” พรรคเพื่อไทย
กำแพงเพชร “สุนทร รัตนากร” ในนามอิสระ พรรคพลังประชารัฐ พี่ชาย “วราเทพ รัตนากร”
ตาก “อัจฉรา ทวีเกื้อกูลกิจ”กลุ่มพัฒนาตาก พรรคภูมิใจไทย
เพชรบูรณ์ “อัครเดช ทองใจสด” ในนามอิสระพรรคพลังประชารัฐ
ล่าสุดเลือกตั้งเมื่อ 22 ธ.ค. 2567 จ.อุตรดิตถ์ “ชัยศิริ ศุภรักษ์จินดา” กลุ่มรักอุตรดิตถ์บ้านเรา พรรคเพื่อไทย
อุบลราชธานี “กานต์ กัลป์ตินันท์” พรรคเพื่อไทย
ใน 29 จังหวัดที่มีการเลือกตั้งนายก อบจ.ก่อนครบวาระ พบว่า พรรคภูมิใจไทย แม้จะไม่ได้ส่งผู้สมัครในนามพรรค แต่ก็มีผู้สมัครที่เป็นเครือข่ายของนักการเมืองจากพรรคภูมิใจไทยสนับสนุน จนได้นายก อบจ. 10 จังหวัด
พรรคเพื่อไทยได้ นายก อบจ. 10 จังหวัด พรรคพลังประชารัฐ นายก อบจ. 3 จังหวัด พรรครวมไทยสร้างชาติ นายกอบจ. 3 จังหวัด พรรคกล้าธรรม 1 จังหวัด
ส่วน จ.เลย พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทยผนึกกันได้นายก อบจ. และ จ.พิษณุโลก บ้านใหญ่พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทยสนับสนุน
ส่วน 47 จังหวัด 1 ก.พ. 2568 ทั่วประเทศจะรู้ผลว่าพรรคการเมืองใด ซุ้มการเมืองไหน จะยึดครองผู้บริหารท้องถิ่นไปได้เป็นกอบเป็นกำ ซึ่งจะส่งผลต่อการยึดกุมฐานเสียงระดับชาติในอนาคตด้วย