‘แพทองธาร’ คิกออฟ ‘30บาท รักษาทุกที่’ เฟส4 ครอบคลุมทั่วประเทศ 1ม.ค.68
“แพทองธาร” คิกออฟ “30บาท รักษาทุกที่” เฟส4 ครอบคลุมทั่วประเทศ 1ม.ค.68 เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ปชช. ผ่าน Health ID เดินหน้าพัฒนาระบบสาธารณสุข 6 ด้าน ขับเคลื่อน รพ.50เขต.ให้คนกทม.
ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “Kick off 30 บาท รักษาทุกที่ เพื่อคนไทย สุขภาพดีถ้วนหน้า ระยะที่ 4 ครอบคลุมทั่วประเทศ 1 มกราคม 2568” โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ 30 บาทรักษาทุกที่ ได้เดินทางมาระยะที่ 4 ตั้งแต่ต้นปี 2567 ได้เริ่มระยะที่ 1 ใน 4 จังหวัดนำร่อง รัฐบาลจะพยายามเปิดครบทั่วทุกจังหวัดให้ได้เร็วที่สุด เพื่อลดปัญหาภาระของประชาชน วันนี้ เปิดตัวระยะที่ 4 ประชาชนจะได้ใช้บริการ 30 บาทรักษาทุกที่ อย่างเต็มรูปแบบทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป รัฐบาลทำได้สำเร็จตามเป้าหมายใน 1 ปี เปิดครบทุกเฟส เท่ากับใช้เวลาประมาณ 2 ทศวรรษ จากการพัฒนานโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคมาสู่นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความทันสมัยมากขึ้น และเข้ามามีบทบาทอย่างมาก รวมทั้ง Digital Transformation หรือการเปลี่ยนผ่านระบบสุขภาพสู่ระบบดิจิทัล จากประชาชนที่เคยต่อคิวนานๆ ก็สามารถจองบริการผ่านแอปพลิเคชั่นได้ ไม่ต้องต่อคิวโรงพยาบาลเสียเวลาเป็นวัน หรือเสียเวลาทำกิน ช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนต่อไปในวันข้างหน้า
นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ 30 บาทรักษาทุกที่ ได้เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของประชาชนแล้ว 100% ประชาชนทุกคนมี Health ID ประจำตัว ได้รับบริการรักษาพยาบาลที่สะดวกรวดเร็วขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนการให้บริการแก่ประชาชน กลายเป็นใบส่งตัวในรูปแบบดิจิทัล การแจ้งเตือนนัดหมอผ่านไลน์ การหาหมอผ่านออนไลน์ หรือมีการสมัครงานเป็นไรเดอร์ส่งยา เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เสริม รวมถึงการเจาะเลือดที่บ้านสำหรับผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงเครื่องล้างไตอัตโนมัติสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ให้ยืมใช้ที่บ้าน เป็นการสาธารณสุขเชิงรุกมากขึ้น ประชาชนที่นอนติดเตียงได้รับการรักษาที่บ้านได้มากขึ้น รวมทั้ง ตู้ห่วงใย ซึ่งเป็นตู้ tele med ที่ให้บริการการแพทย์ทางไกลผ่านการปรึกษาหมอออนไลน์
เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้นและสะดวกยิ่งขึ้นในทุกพื้นที่ การเปิดให้ร้านยาและคลินิกเอกชนเข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการหน่วยปฐมภูมิเพื่อดูแลประชาชนมากขึ้น เพิ่มความสะดวก ลดการเดินทาง ลดระยะรอคอยและลดความแออัดในโรงพยาบาล เพิ่มทางเลือกใหม่ให้ประชาชนในการรับบริการใกล้บ้านมากขึ้น ทั้งนี้ ประชาชนที่ไม่เคยใช้สิทธิ 30 บาทมาก่อน มาใช้ 30 บาทรักษาทุกที่ มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 80,000 คน
นายกฯ กล่าวว่า ปี 2568 นี้ รัฐบาลมีแนวทางการพัฒนาระบบสาธารณสุข 6 ด้าน ดังนี้
1) การพัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้สูงอายุ การดูแลผู้ป่วยติดเตียง จัดตั้งสถานชีวาภิบาลทั่วประเทศ
2) สร้าง Care Giver หรือนักบริบาลผู้สูงอายุ 15,000 ตำแหน่งทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานในชุมชน โดยจะเน้นกลุ่มที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ และผู้สูงอายุหลังเกษียณเพื่อให้มีงานทำ หารายได้เพิ่มให้กับครอบครัว
3) การดูแลสุขภาพของประชาชนด้วยการคัดกรองเร็ว รู้เร็ว รักษาง่าย ปัจจุบันมีชุดตรวจคัดกรองด้วยตนเองที่ประชาชนใช้แค่บัตรประชาชนไปขอรับได้ที่ร้านยา คือ ชุดตรวจมะเร็งปากมดลูก ชุดตรวจการติดเชื้อเอชไอวี ชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในปีนี้จะเพิ่มชุดตรวจไมโครอัลบูมินในปัสสาวะ ป้องกันโรคไตเสื่อมจากเบาหวาน
4) การดูแลสุขภาพจิตของคนไทย ด้วยบริการจิตเวชครบวงจรตั้งแต่การป้องกัน รักษา และการให้คำปรึกษา บำบัด ทั้งศูนย์ให้ปรึกษาทางจิตเวช และการรับการปรึกษาทางสุขภาพจิตผ่านแอปพลิเคชัน
5) การบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยติดสารเสพติดกลับสู่สังคม
6) ขับเคลื่อน 50 โรงพยาบาล 50 เขต เพื่อคนกรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลใกล้บ้านเป็นที่พึ่ง พร้อมกันนี้ รัฐบาลพร้อมที่จะดูแลประชาชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ ให้อยู่ในระบบสาธารณสุขที่สะดวก รวดเร็วให้กับคนไทยทั้งประเทศ
ในตอนท้าย นายกฯ กล่าวอวยพรให้ทุกคนมีสุขภาพที่แข็งแรง ทุกอย่างเริ่มต้นที่ตัวเราสุขภาพดี เราก็จะมีแรงทำงาน มีแรงพัฒนาตนเอง และครอบครัวไปถึงบริษัทและประเทศต่อไป ขอให้ทุกคนในปีใหม่นี้แข็งแรงสดใสและมีความสุขทั้งสุขกาย สบายใจ ขอให้ปีหน้าเป็นปีแห่งโอกาส และเป็นปีที่ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จ