บล็อกโหวต ‘สว.สีส้ม’ โชว์พลัง ขวาง‘นายใหญ่’รื้อรธน.
"พรรคเพื่อไทย" ปรารถนารื้อ รธน.2560 โดยใช้ "พรรคประชาชน" เดินเกมประชามติ2ครั้ง และใช้พลังลับกวาดเสียง สว.ให้สนับสนุน ทว่าไม่ง่ายเพื่อ "สว.ค่ายน้ำเงิน" โชว์เหลี่ยมให้ยำเกรง
KEY
POINTS
Key Point :
- บรรยากาศสงครามตัวแทน ในรัฐสภา นับวันเริ่มทวีความระอุ
- เมื่อ "ฝ่ายก้าวหน้า" ที่มี "เพื่อไทย" แอบอยู่เบื้องหลัง เดินเกมรื้อรัฐธรรมนูญ2560 ที่เป็นกลไกสืบทอดอำนาจของ "ฝ่ายอนุรักษ์"
- งานนี้ จึงได้เห็น "ภูมิใจไทย-สว." แสดงบทบาท "ขวาง" ตั้งแต่ เกม ยื้อ ไม่ปลดล็อกเกณฑ์ผ่านประชามติ ด้วยเสียงข้างมาก2ชั้น
- ทว่า "เพื่อไทย" ไม่ยอมลดละ เดินเกม แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อหวังปลดปล่อยนายใหญ่ ให้เป็นอิสระ
- จึงได้เห็น แอ็คชั่นของ "สว.สีน้ำเงิน" ผ่านเกม "โหวตบล็อก" สว.สีส้ม ไม่ให้มีอำนาจใน กรรมาธิการฯการเมือง สว.
- นัยที่สะท้อนคือต้องการโชว์พลัง เหลี่ยมจัดการเมือง ให้ "นายใหญ่" ได้เห็นว่า หากจะใช้มุขเดิม "ซื้อรายหัว" เพื่อหวังให้ การแก้รัฐธรรมนูญผ่านด่าน "สว." นั้นไม่ง่าย
วาระของ “สงครามตัวแทน” ที่ถูกมองผ่านการชิงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น ระหว่าง “ทักษิณ ชินวัตร” ฐานะผู้ช่วยหาเสียงของผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย กับ “แกนนำคณะก้าวหน้า” ฐานะผู้ช่วยหาเสียงของผู้สมัครสีส้มจาก “พรรคประชาชน”
หากมองผิวเผิน จะเห็นได้ว่าเป็นการชิงพื้นที่ทางการเมือง “ท้องถิ่น” แต่ผลเลือกตั้ง คือการเดิมพันของการอยู่รอดของ “ขั้วอำนาจเก่า” ในสนามการเลือกตั้งระดับชาติ
จะว่าไปแล้ว “เพื่อไทย” รวมถึง “ทักษิณ” ถูกมองว่า เป็น “กลุ่มกลับใจ” ที่ “ขั้วอำนาจ”เลือกใช้ค้ำยันความอยู่รอด และมีบทบาทมาแทน “พรรคการเมืองขั้วอนุรักษ์” ที่ปัจจุบันกลายเป็น “นักการเมืองแถวสอง-แถวสาม”
ทว่า ในวาระของสงครามตัวแทน นอกจาก “การเมืองนอกสภาฯ”แล้ว ยังมี “สงครามในสภาฯ” ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “พรรคภูมิใจไทย” ฐานะพรรคอันดับ 3 ในสภาฯ ถูก “ฝั่งอนุรักษนิยม” ชูให้เป็น “นัมเบอร์วัน” เพราะยังไม่อาจไว้ใจพรรคเพื่อไทยและทักษิณได้สนิทใจ
ด้วยแต้มต่อที่พรรคภูมิใจไทยมีเสียงสนับสนุนอยู่อีก 170 เสียง ในชั้นของ “วุฒิสภา” จึงสามารถใช้หน้าที่ และอำนาจของ “สว.สีน้ำเงิน” ถ่วงดุลวาระการเมืองจากสภาผู้แทนราษฎรได้อีก
สปอตไลต์ฉายไปที่ “วาระแก้รัฐธรรมนูญ” ที่ได้เห็นเค้าลางความเห็นต่างระหว่าง “พรรคภูมิใจไทย-สว.” กับ “พรรคเพื่อไทย-พรรคประชาชน” ในชั้นการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ว่าด้วยเกณฑ์ผ่านประชามติด้วยเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น
ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่จะนำทางไปสู่การ “รื้อใหญ่รัฐธรรมนูญ2560” โดยกติกาของ “ขั้วอนุรักษ์” บรรจงวางให้เป็นกลไกสืบทอดอำนาจแบบยาวๆ
ล่าสุด มีความพยายามให้ “รัฐสภา” พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวดใหม่ ว่าด้วยการกำหนดให้มี “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ ส.ส.ร. ทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการทำประชามติก่อน จาก “พริษฐ์ วัชรสินธุ-พงศ์เทพ เทพกาญจนา” ที่นั่งร่วมวงหารือกับคณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภา ที่มี ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาฯ เป็นประธาน
ผลการพิจารณา “ฝ่ายการเมือง” กดดัน “ฝ่ายข้าราชการประจำ” จนมีมติเสียงข้างมากเห็นว่า สามารถบรรจุวาระแก้ไขมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 และเพิ่มหมวดใหม่ว่าด้วย ส.ส.ร.ได้ ก่อนการทำประชามติ เพื่อเป็นข้อมูลที่ใช้เป็นฐานให้ “ประธานรัฐสภา” กลับคำของตัวเอง และอาจยอมบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ “พรรคประชาชน” ที่ชงนำร่อง โดยไม่คำนึงถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564
ขณะเดียวกัน มีสัญญาณจาก “ฝั่งเพื่อไทย” โดย “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่โทรศัพท์กำชับฝ่ายข้าราชการประจำของสภาฯว่า “บรรจุวาระได้”
ดังนั้น เมื่อเส้นทางการรื้อใหญ่ของรัฐธรรมนูญถูกปูทางมาในแนวทางนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ฝั่ง สส.จะผ่านฉลุย แม้ “พรรคร่วมรัฐบาล” จะไม่เห็นคล้อยตาม ดังนั้น ต้องจับตาฝั่ง สว.ที่ตามเกณฑ์ต้องได้เสียงรับหลักการ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 67 เสียง
ตามเกมแล้ว “พรรคเพื่อไทย” ที่แอบหลัง “พรรคประชาชน” ต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ คสช.ทำได้สำเร็จ เพื่อปลดปล่อย “ทักษิณ” เป็นอิสระอย่างแท้จริง แต่ยังหาเส้นทางฟาสต์แทร็กไม่ได้ เพราะติดลูกเกรงใจ “ขั้วอนุรักษ์” ที่ทำตัวเป็น “จงอางหัวไข่” และยังมีอำนาจแฝง
ครั้นจะใช้เกม “ซื้อตัว สว.” เหมือนยุค “อดีตพรรคไทยรักไทย” รุ่งเรืองนั้น คงทำได้ยากยิ่ง เพราะ สว.ปัจจุบันอยู่ภายใต้มุ้งเดียวกัน
กับสิ่งที่สะท้อนความเป็นปึกแผ่นของ สว.เห็นได้ชัดเจนใน 3 กรณี คือ
1.การโหวตร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ทั้งในวาระสาม ซึ่งแก้เกณฑ์ผ่านประชามติ ด้วยเสียง 167 เสียง ต่อ 19 เสียง
2.การโหวตยืนยันในมติของกรรมาธิการร่วมฯ ประชามติ ด้วยเสียง 153 เสียง ต่อ 24 เสียง
3. การโหวตบล็อก “สว.นันทนา นันทวโรภาส” สว.พันธุ์ใหม่ ไม่ให้เป็น กมธ.การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค แทนตำแหน่งที่ว่าง เมื่อ 23 ธ.ค. ซึ่ง “สว.สีน้ำเงิน” วางเกมให้การตั้งกมธ.แทนตำแหน่งที่ว่าง ต้องใช้การลงมติ โดยส่ง ตัวแทน “สว.สีน้ำเงิน” เสนอตัวเองเข้าชิง “เก้าอี้ที่ว่าง” ซึ่งไม่เคยปรากฎเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน
“สว.สีน้ำเงิน” อ้างข้อบังคับและตีความคลุมไปให้ “ประธานวุฒิสภา” ต้องใช้ดุลพินิจว่า จะตั้งโดยลงมติ หรือไม่ก็ได้
กับการโหวตบล็อก สว.นันทนา อาจดูเหมือนเป็นเกมต่อเนื่อง แต่นัยแฝงที่คนเชิด สว.ต้องการแสดงให้ “นายใหญ่” ได้เห็น คือ เหลี่ยมชั้นครูที่มีแต้มต่อ แบบฉบับ “เขี้ยวลากดินตัวพ่อ” แม้เป็นเรื่องเล็กน้อย
ดังนั้น ต่อให้ “เกมกดดัน” จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 นำไปสู่ตั้ง สสร. ในสภาฯ จะทำสำเร็จ แต่การจะผ่านด่าน “สว.” ด้วยการ “ซื้อเรียงหัว”นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย.