การเมืองปี 68 นายกฯชื่อแพทองธาร…แต่รัฐบาลคือทักษิณ

การเมืองปี 68 นายกฯชื่อแพทองธาร…แต่รัฐบาลคือทักษิณ

“นายน้อย - นายใหญ่” คึกส่งท้ายปี แต่การเมืองปีนี้ ยังมีความเสี่ยงไม่น้อยเลย อดีตนายกฯเต็มไปด้วยความมั่นใจ และวางงานการเมืองยาว สอดรับกับจังหวะก้าวทางการเมืองที่เริ่มดุเดือดขึ้นตามปฏิทิน

ยุคนี้ “นายกฯชื่อแพทองธาร…แต่รัฐบาลคือทักษิณ” ต้องบอกว่าช่วงเดือนสุดท้ายส่งท้ายปีที่ผ่านมา คึกกันทั้งพ่อทั้งลูก

อดีตนายกฯเต็มไปด้วยความมั่นใจ และวางงานการเมืองไว้ยาว สอดรับกับจังหวะก้าวทางการเมืองที่เริ่มดุเดือดขึ้นตามปฏิทิน

ส่วนนายกฯตัวจริงตามกฎหมาย ก็เริ่มเดินสาย อะไรๆ เริ่มเข้าที่เข้าทาง แต่แม้ “นายน้อย - นายใหญ่” จะคึกส่งท้ายปีที่ผ่านมา แต่การเมืองหลังปีใหม่ยังมีความเสี่ยงไม่น้อยเลย

1.ความท้าทาย เฉพาะของอดีตนายกฯทักษิณ

- คดี 112 ที่ถูกผูกขาอยู่ นัดสืบพยานเดือน ก.ค. 2568 เป็นต้นไป

- คำร้องชั้น 14 เอื้ออดีตนายกฯ ซึ่ง ป.ป.ช.ตั้งองค์คณะไต่สวน 12 ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์กับโรงพยาบาลตำรวจ แม้อดีตนายกฯไม่ได้ถูกไต่สวนด้วย แต่ผลของคำร้องจะส่งผลต่อตัวอดีตนายกฯ โดยเฉพาะหากสรุปว่าการส่งตัวไปนอนชั้น 14 ไม่ชอบด้วยระเบียบกฎหมาย อาจต้องกลับไปรับโทษใหม่อีกรอบหรือไม่

 - คดีครอบงำพรรคเพื่อไทย อดีตนายกฯไม่ได้เป็นแค่พยาน แต่หาก กกต.และศาลชี้ว่ามีพฤติการณ์ครอบงำ ตัวคุณทักษิณก็จะมีความผิดตามมาด้วย

 - ม็อบลงถนน ปักหมุด 2 เรื่องใหญ่ คือ ชั้น 14 กับ เอ็มโอยู 44 

- การรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของนายกฯมาเลย์ ในหมวกประธานอาเซียนแก้ปัญหาเมียนมา ถ้าสำเร็จก็ปัง ถ้าล้มเหลวก็เสียหายหนัก ถ้าเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะล้มเหลว

2.ความท้าทายของนายกฯแพทองธาร

 - คำร้อง “นิติสงคราม” ที่ยังค้างอยู่อีกหลายคำร้อง โดยเฉพาะปล่อยให้คุณพ่อครอบงำพรรคเพื่อไทยซึ่งตนเป็นหัวหน้า

- ม็อบลงถนน โดยเฉพาะเรื่อง เอ็มโอยู 44 ถ้าทำไม่ดีจะเป็นตัวเร่ง “ปิดเกม” รัฐบาล

 - การผลักดันนโยบายเรือธงให้สำเร็จ โดยเฉพาะแจกเงินหมื่น ฟื้นเศรษฐกิจ และขึ้นค่าแรง

 - ภาวะผู้นำ เนื่องจากบทบาทในตำแหน่งนายกฯยังถูกวิจารณ์ เช่น การลงพื้นที่ภัยพิบัติล่าช้า การไม่เข้าถึงประชาชนในต่างจังหวัด การสื่อสารต่อสาธารณะในเรื่องต่างๆ และท่าทีที่เน้นการตอบโต้เมื่อถูกวิจารณ์​หรือกดดันจากกระแสสังคม 

หนักสุดคือ ถูกบารมีพ่อบดบังหรือไม่

 - ความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล

 - การเผชิญกับแรงกดดันของฝ่ายค้านที่ติดตามตรวจสอบ ทั้งยื่นกระทู้ ญัตติ และอภิปรายทั่วไป (ไม่ลงมติ และไม่ไว้วางใจ) นายกฯแพทองธารเองก็ยังเข้าสภาน้อย กลายเป็นจุดอ่อนให้ถูกโจมตี

3.ความท้าทายของพรรคเพื่อไทย

 - ผลงานของรัฐบาลยังคงถูกทวงถาม

 - ท่าทีของ สส.ที่ชอบแหย่กองทัพ หรือสร้างเรื่องให้โดนถล่ม (แนวแกว่งเท้าหาเสี้ยน)

- กฎหมายนิรโทษกรรม กฎหมายประชามติ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

- ความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะกับพรรคภูมิใจไทย

- ความขัดแย้งกับ สว.สายสีน้ำเงิน

- การถูกกดดันตรวจสอบจากฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาชน

- การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

4. ความท้าทายจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ

 - เลือกตั้งท้องถิ่น ไล่จากใหญ่ไปเล็ก คือ อบจ. เทศบาล และ อบต.  

- พรรคประชาชนพร้อมสู้ศึกเต็มรูปแบบแล้ว ตัดสินใจเปิดตัวเพิ่มในส่วนของนายก อบจ. และน่าจะปักหมุด อบจ.สีส้มได้ 1 จังหวัดเป็นอย่างน้อย

 - คดีมาตรฐานจริยธรรมของอดีต สส.ก้าวไกล (ปัจจุบันคือพรรคประชาชน) หาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ส่งศาลฎีกา จะมี สส.จำนวนหนึ่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ส่งผลต่อเสียงในสภาฯ

- สถานการณ์การเมืองโลก การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของ โดนัลด์ ทรัมป์ และสถานการณ์สงคราม กับความตึงเครียดในหลายๆ พื้นที่ ทั้ง ตะวันออกกลาง ยูเครน ทะเลจีนใต้ และเมียนมา