‘ฝ่ายค้าน’ เปิด‘ศึกซักฟอก’ วัดใจ ‘ปชน.’ จับมือ ‘พปชร.’

‘ฝ่ายค้าน’ เปิด‘ศึกซักฟอก’ วัดใจ ‘ปชน.’ จับมือ ‘พปชร.’

เปิดศักราชใหม่ "ฝ่ายค้าน" จองคิวซักฟอก "รัฐบาล" เราจะได้เห็นฝีมือ​ "ปชน.-หัวหน้าเท้ง" ฐานะฝ่ายตรวจสอบ ทว่าเสียงสส.มิอาจโหวตล้มรัฐบาลได้ ดังนั้นจำเป็นต้องวางกลยุทธ์ส่งต่อความไม่ไว้วางใจไปนอกสภาฯ ให้ดี

KEY

POINTS

Key Point :

  • หัวหน้าเท้ง ประกาศชัดเจนถึงการเปิดศึกซักฟอกรัฐบาล-แพทองธาร ช่วงปลายสมัยประชุมนี้
  • สำหรับประเด็นเด็ดต้องรอฟัง การหารือของ "วิปพรรคฝ่ายค้าน" ในเร็วๆนี้
  • ตามหลักการของการซักฟอก จำเป็นต้องโหวตเขี่ย รัฐมนตรีหรือรัฐบาลออกไปด้วยเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 247เสียง
  • ทว่าเสียงสส.ฝ่ายค้าน แท้จริงยามนี้มี 166 เสียง ไม่พอต่อเกมล้มรัฐบาลผ่านกลไกสภาฯ
  • ดังนั้นจำเป็นที่ "ปชน." ต้องวางกลยุทธ์ให้ดี เพื่อส่งต่อความไม่ไว้วางใจไปนอกสภาฯ
  • วัดใจว่างานนี้ "ปชน." จะจับมือกับทำงานร่วมกับ "พปชร." หรือไม่ ฐานะที่เป็น พรรคการเมืองที่มีศัตรูคนเดียวกัน

การเมืองในสภาฯ ในปี 2568 เป็นที่จับตาถึง วาระร้อน หลัง “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา นักการเมืองผู้ค่ำหวอดในแวดวงมาเกือบครึ่งทศวรรษ ประเมินว่าจะเป็นปีที่การเมืองเข้มข้น ร้อนแรงกว่าปี 2566 หรือ 2567 เนื่องจากย่างสู่ปีที่ 2 ของ “รัฐบาลเพื่อไทย” อีกทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชนยังไม่ได้แก้ไขอีกมาก

ประจวบกับเมื่อเปิดศักราชใหม่ 2568 จะเป็นวาระที่เวทีสภาฯ จะได้ฤกษ์เปิดเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดย “พรรคฝ่ายค้าน” จองกฐินซักฟอกรัฐบาลที่ทำหน้าที่บริหารประเทศ

กับวาระร้อนที่ว่านั้น “วันนอร์” ประเมินว่า จะไม่ทำให้สภาฯสะดุด แม้จะมีจุดเสี่ยงที่จะทำให้สถานะของรัฐบาลสั่นคลอน ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาให้ประชาชน

อย่างไรก็ดี ในประเด็นการเปิดศึกซักฟอกรัฐบาล อีกนัยหนึ่ง คือการสะท้อนบทบาทของ “ฝ่ายค้าน” ที่มี “พรรคประชาชน” เป็นแกนนำ ในการตรวจสอบรัฐบาล รวมถึงเป็นเวทีวัดฝีมือ-ประเมินผลงานของ “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” หัวหน้าพรรค ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ และ “พรรคพลังประชารัฐ” ฝ่ายค้านน้องใหม่

‘ฝ่ายค้าน’ เปิด‘ศึกซักฟอก’ วัดใจ ‘ปชน.’ จับมือ ‘พปชร.’

ณัฐพงษ์ ประกาศไว้แล้วว่า ในเดือนมีนาคมนี้จะขอเปิดศึกกับ “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร”  ผ่านการยื่นญัตติขอเปิดประชุมสภาฯ เพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ 

ส่วนรายละเอียดที่ถูกจับตานั้น “หัวหน้าเท้ง” บอกว่า ขอหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านในช่วงต้นเดือนมกราคมนี้ก่อน

ส่วนรายละเอียดประเด็นที่จะยกมาอภิปรายนั้น “หัวหน้าเท้ง” บอกว่า “จะไม่ได้แบ่งปันข้อมูลกัน เพราะยึดแนวทางปฏิบัติที่ผ่านมา อีกทั้งแต่ละฝ่ายจะมีข้อมูลของตนเอง”

นั่นแปลว่า พรรคประชาชนเลือกที่จะปกปิด เพราะกังวลปัญหา “ข้อสอบรั่ว” เหมือนยุคที่ผ่านมา อีกทั้งสะท้อนให้เห็นว่า พวกเขาถนัดงาน “โชว์เดี่ยว”มากกว่า เพราะอีเวนต์นี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า คือการแสดงบททางการเมืองต่อหน้า “พลพรรคส้ม” มากกว่าการห้ำหั่นรัฐบาลอย่างเอาเป็นเอาตาย

ศึกรอบนี้ ดูอย่างไรแล้ว ก็คงไม่อาจโค่น “พรรคเพื่อไทย” ในฐานะผู้นำฝ่ายบริหารลงได้

ตามกติกาของการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล หรือรัฐมนตรีทั้งคณะ จำเป็นต้องใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของ จำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปัจจุบันมี สส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้งสิ้น 493 เสียง ดังนั้นต้องได้ 247 เสียงขึ้นไป

‘ฝ่ายค้าน’ เปิด‘ศึกซักฟอก’ วัดใจ ‘ปชน.’ จับมือ ‘พปชร.’

สำหรับจำนวนสส.ที่มีสถานะพรรคร่วมฝ่ายค้านจริงๆ มีเพียง 166 เสียง ประกอบด้วย พรรคประชาชน 143 เสียง พรรคเป็นธรรม 1 เสียง พรรคไทยก้าวหน้า 1 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง พรรคประชารัฐ 20 เสียง 

ขณะที่ พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง แม้สถานะจะอยู่กับฝ่ายค้าน แต่ผลการทำงานที่ผ่านมา ทั้งการลงมติสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลอยู่เนืองๆ 

อีกทั้งเห็นได้ชัดคือ การทำงานร่วมกับวิปฝ่ายค้าน หรือคณะกรรมการประสานงานพรรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งมีชื่อของ “ฐากร ตัณสิทธิ์” สส.ไทยสร้างไทย นั่งเป็นวิปฝ่ายค้าน แต่ในการทำงานที่ผ่านมาจะพบว่า “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย เลือกส่งสายตรง อย่าง “ชวลิต วิชยสุทธิ์” รองหัวหน้าพรรค เข้ามานั่งในวงประชุมวิปฝ่ายค้าน เพื่อประสานกันโดยตรง และไม่ผ่าน “สส.ของพรรค” ที่ถูกกาหัวว่าเป็น “งูเห่า” ฝ่ายค้าน 

จึงทำให้บทบาทที่แท้จริงของพรรคไทยสร้างไทย นิยามไม่ได้ว่าอยู่ฝ่ายใด

ดังนั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านที่แน่นอนจึงมี 166 เสียง ซึ่งจำนวนเท่านี้ กลไกศึกซักฟอกในสภาฯ จึงไม่อาจเขี่ยรัฐมนตรี หรือโหวตให้รัฐบาลให้พ้นจากอำนาจบริหารได้ เพราะขั้วรัฐบาลขณะนี้ กุมเสียงข้างมาก 321เสียง ไว้ในมือ  

ดังนั้นฉากทัศน์ของ “วาระซักฟอก” ที่ “พรรคประชาชน” เป็นแกนนำ จึงจำเป็นต้องวางแผนให้รัดกุม เพื่อส่งต่อ “ความไม่ไว้วางใจ” ไปสู่ “การเมืองนอกสภาฯ” 

‘ฝ่ายค้าน’ เปิด‘ศึกซักฟอก’ วัดใจ ‘ปชน.’ จับมือ ‘พปชร.’

เหมือนสมัยยุคตรวจสอบ “รัฐบาลคสช.” ที่ฝ่ายค้านใช้จังหวะอภิปรายทั่วไป และอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นเวทีเซาะกร่อนความศรัทธา จน “พรรคการเมืองสาย คสช.” ต้องพ่ายแพ้ในสมัยเลือกตั้งถัดมา

แม้บริบททางการเมืองในปัจจุบันจะแตกต่างกัน และมีตัวแปรอย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” ที่พยายามวางสถานะเป็น “สายตรงอนุรักษนิยม” แต่อย่างน้อย ปชน.ต้องแสวงหาความร่วมมือกับ “พรรคพลังประชารัฐ-พรรคขั้วอนุรักษ์” แม้จะเป็นคู่อริทางอุดมการณ์ เพราะยามนี้ ต่างมี “ศัตรูคนเดียวกัน”

‘ฝ่ายค้าน’ เปิด‘ศึกซักฟอก’ วัดใจ ‘ปชน.’ จับมือ ‘พปชร.’ อย่างน้อยก็เพื่อสะท้อนภาพใหญ่ให้สังคมมองเห็นถึง “วิกฤติรัฐบาล” และมองภาพอนาคตที่เห็น “โอกาสใหม่” ไม่ใช่ว่ามองไปทางไหนก็เหนื่อยหน่ายใจที่ “การเมือง” เล่นบทเกี๊ยเซียะกัน ไม่เว้นแม้กระทั่งการตรวจสอบในฐานะ “ฝ่ายค้าน” ในสภาผู้แทนราษฎร.