งบฯ 69 ‘เรือฟริเกต’ แพ็กคู่ ‘เรือดำน้ำ-เกาะกูด’ปัจจัยเสี่ยง

งบฯ 69 ‘เรือฟริเกต’ แพ็กคู่  ‘เรือดำน้ำ-เกาะกูด’ปัจจัยเสี่ยง

การเมืองในประเทศว่าหนักแล้ว ปัจจัยภายนอกประเทศยิ่งกว่า เพราะการขยายอิทธิพล การกีดกันการค้าของมหาอำนาจ ส่งผลทั้งทางตรงทางอ้อมต่อ เรือฟริเกต-เรือดำน้ำ-เกาะกูด อย่างเลี่ยงไม่ได้

KEY

POINTS

  • ทร.เดินหน้าให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์  จัดวางกำลังทางเรือฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน ต้องมีเรือฟริเกต 8 ลำ ในปี 2580
  • รัฐบาลชั่งน้ำหนักยกเลิกสัญญาเรือดำน้ำ แต่ท่ามกลางขยายอิทธิพลของจีนจำเป็นเดินหน้าต่อ

ปีนี้ต้องตามลุ้นโครงการจัดซื้อ “เรือฟริเกตสมรรถนะสูง” ที่กองทัพเรือได้ทำคำขออนุมัติหลักการ จำนวน 4 ลำ แบ่งเป็นงบประมาณปี 2569 จำนวน 2 ลำ ราคาประมาณ 35,000 ล้านบาท ลำละ 17,500 ล้านบาท ส่วนปี 2570 จำนวน 2 ลำ

เพื่อให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ ทร.ได้วางกำลังทางเรือฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน ต้องมีเรือฟริเกตปฏิบัติงานครบ 8 ลำ ในปี 2580 ปัจจุบันมีอยู่ 4 ลำ ได้แก่ เรือหลวงภูมิพล เรือหลวงตากสิน เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงรัตนโกสินทร์ ได้ขยับชั้นเป็นเรือฟริเกต

โครงการนี้ถูกตีตกในชั้น คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2567 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัดส่วน สส.เพื่อไทย สำหรับปี 2568 ไม่ได้รับอนุมัติเปลี่ยนแปลงงบประมาณก่อนจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติ

โดยรัฐบาลอ้างเหตุผลในขณะนั้นว่า เป็นการปรับแผน หากให้ทั้งเรือฟริเกตและเรือดำน้ำในปีเดียวกัน จะทำให้งบประมาณของกระทรวงกลาโหมโป่งพอง สวนทางกับนโยบายของรัฐบาล จึงจำเป็นต้องขยับเวลาออกไป

แต่จนแล้วจนรอด เรือดำน้ำยังไร้ความชัดเจน แม้“ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯและรมว.กลาโหม ได้หารือกับเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย และเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทยไปแล้วเมื่อปลายปี

พร้อมขอเวลา 6 เดือน เพื่อเช็คข้อมูลเดิม ดูรายละเอียดกระบวนการเจรจาเรื่องเครื่องยนต์ที่จีนไม่สามารถหามาติดตั้งได้ตามสัญญา ตามรอย “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหมคนก่อน ที่เคยตรวจสอบขั้นตอนต่างๆไว้หมดแล้ว เหลือเพียงนำเข้า ครม.

ประเด็นแรก ขอให้เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย ไปพูดคุยกับรัฐบาลเยอรมันให้ขายเครื่องยนต์ MTU 396 ให้กับรัฐบาลไทย และจะหาคนมาติดตั้งเครื่องยนต์ในเรือดำน้ำที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่จีน

เรื่องนี้ในช่วงของรัฐมนตรีสุทิน ว่ายากแล้ว ปัจจุบันนี้ยิ่งยากกว่าเพราะ โดนัล ทรัมป์ เตรียมรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในเร็ววันนี้ จึงตัดแนวทางนี้ทิ้งไปได้เลย

ส่วนกรณีไม่ให้เจ้าหน้าที่จีนติดตั้งเครื่องยนต์ในเรือดำน้ำไทย ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นการใช้จ่ายในสัญญาเดียว ไม่ได้แยกสัญญา ดังนั้น การติดตั้งเครื่องยนต์ จึงเป็นหน้าที่ของจีน แต่หากไม่ให้จีนติดตั้งให้ จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเรื่องการติดตั้งเครื่องยนต์ และเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายไทย ซึ่งเป็นเรื่องน่าคิดว่า จะนำงบประมาณส่วนนี้มาจากที่ใด

ประเด็นที่สอง รอข้อมูลจากกองทัพเรือปากีสถาน ซึ่งประสบปัญหาแบบเดียวกับกองทัพเรือไทย แต่ยอมติดตั้งเครื่องยนต์ CHD620 ที่จีนผลิตเอง อยู่ระหว่างทดลอง คาดว่าจะใช้เวลา 3-4 เดือน

โดยพื้นฐานแล้ว การจัดซื้อจัดจ้างเป็นเรื่องของประเทศที่หนึ่งและประเทศที่สอง จะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลคู่ค้าที่เป็นความลับให้กับประเทศที่สามรับทราบ จึงเป็นไปไม่ได้ว่า ภายหลังการทดสอบแล้วจะมีข้อมูลจากกองทัพเรือปากีสถาน ให้กับกองทัพเรือไทย เพื่อให้เกิดความมั่นใจเครื่องยนต์ของจีน เพราะถือเป็นข้อมูลทางความลับที่ไม่มีการเปิดเผยกัน

ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกต เรือดำน้ำอาจไม่ได้ไปต่อ รัฐบาลจึงใช้วิธีดึงเวลาให้ล่วงเลยไป แล้วรอจังหวะหาข้ออ้างที่เหมาะสม ทั้งสภาวะแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย เทคโนโลยีพัฒนาไปข้างหน้า รวมถึงข้อจำกัดงบประมาณ สภาพเศรษฐกิจ

แต่หากคิดจะล้มโครงการเรือดำน้ำ รัฐบาลยังต้องขบคิดอย่างหนัก เพราะมีปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ การขยายอิทธิพลของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตัวแปรสำคัญ เพราะเป้าหมายเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เรือดำน้ำ นอกจากเป็นความต้องการด้านยุทธการกองทัพเรือ ยังเกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ไทย-จีน จึงเป็นที่มาของรัฐบาลสมัยนั้น อนุมัติโครงการนี้

อีกทั้งจีนได้ปักหมุด “ไทย” เป็นหนึ่งในประเทศที่จะมีเรือดำน้ำจีนโลดแล่นในอ่าวไทย-อันดามัน ควบคู่ไปกับรถไฟฟ้าความเร็วสูง เชื่อมต่อภูมิภาคกรุงเทพ-นครราชสีมา ปี 2570

รัฐบาลจึงต้องชั่งน้ำหนักให้ดี หากคิดล้มโครงการเรือเรือดำน้ำ อาจส่งผลทางอ้อมกับการแบ่งทรัพยากรพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนไทย-กัมพูชา รวมถึงกรณีเกาะกูดของไทย เป็นตัวแปรสำคัญที่อาจทำให้รัฐบาลตัดสินใจเดินหน้าโครงการนี้ต่อ

ขณะที่ “กองทัพเรือ” แม้จะเป็นเป็นกลไกหนึ่งของรัฐบาล ก็ต้องบาลานซ์การสนับสนุนและรักษาสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อนโยบาย ควบคู่ไปกับการปกป้องอธิปไตย และผลประโยชน์ของชาติตามหลักการที่ควรให้ได้ข้อสรุปเรื่องเขตแดน ก่อนเดินหน้าแบ่งผลประโยชน์ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ กฎบัตรสหประชาชาติ กฎหมายทะเล และสนธิสัญญาที่จะตกลงร่วมกันระหว่างประเทศ

อีกทั้ง ยังต้องคำนึงการเสริมสร้างกำลังพร้อมรบให้เกิดความเข้มแข็ง เพราะทั้งเรือดำน้ำ-เรือฟริเกต ล่าช้ามาพอสมควร

แม้โครงการเรือฟริเกต จะเปรียบเป็นเค้กก้อนใหม่ของรัฐบาลเพื่อไทย มีแนวโน้มผ่านฉลุยในงบปี 2569 ไม่เหมือนเรือดำน้ำโครงการเก่า ยุค “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง อย่างที่ “ภูมิธรรม” ระบุไว้

เช่นเดียวกับการผลักดันการแบ่งผลประโยชน์พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ที่รัฐบาลเพื่อไทยหมายมั่นปั่นมือ ทำให้แล้วเสร็จในยุคนี้

ดังนั้นอาจพูดได้ว่า ทั้ง “รัฐบาลเพื่อไทย-กองทัพเรือ” ต้องเดินเกมอย่างระมัดระวัง เพราะ “เรือฟริเกต-เรือดำน้ำ-เกาะกูด” มีความเชื่อมโยงกันจนแทบแกะกันไม่ออก

การเมืองในประเทศว่าหนักแล้ว ปัจจัยภายนอกประเทศยิ่งกว่า เพราะการขยายอิทธิพล การกีดกันการค้าของมหาอำนาจ ส่งผลทั้งทางตรงทางอ้อมต่อ 3 ประเด็นนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้