เกมลึกศึก2สภางัดข้อ ‘รื้อรธน.’ ผ่าดุลแดง-น้ำเงิน สัญญาณ 'หักเหลี่ยม'?

เกมลึกศึก2สภางัดข้อ ‘รื้อรธน.’  ผ่าดุลแดง-น้ำเงิน สัญญาณ 'หักเหลี่ยม'?

เกมแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับ "คสช." เดินหน้ามาสู่การฝ่าด่าน "คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ" โดยรัฐสภา ต้องจับตาวาระว่า "พรรค-สว.สีน้ำเงิน" จะผันตัวจากมิตร เป็น "อสรพิษ" กับ "พท." ต้อนรับศักราชใหม่2568หรือไม่

KEY

POINTS

Key Point :

  • เกมรื้อใหญ่ รัฐธรรมนูญ มรดกของ "คสช." ถูกเดินหน้า โดย "พรรรคประชาชน" ที่มี "พรรคเพื่อไทย" แอบอยู่เบื้องหลัง
  • 8มกราคมนี้คงเห็นภาพชัดเจนว่า การปูทางให้ แก้ไขมาตรา 256 และมี สภาร่างรัฐธรรมนูญ จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ จะเป็นอย่างไร
  • ทว่าในเกมรื้อใหญ่รัฐธรรมนูญนี้ สะท้อนให้เห็นถึง การงัดข้อระหว่าง 2ดุลอำนาจ คือ "ฝ่ายเพื่อไทย" ที่กุมเสียงข้างมากในสภา
  • และฝ่าย "พรรคสีน้ำเงิน" ที่คุม "สว." ไว้ได้เกินกว่า 153เสียง
  • เพราะการเดินไปสู่กลไก "จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" ก่อนทำประชามติถาม "ประชาชน" ต้องใช้เสียง "สว." ร่วมเห็นพ้องด้วย
  • ดังนั้นหาก สว.-พรรคน้ำเงิน ยังไม่เอาด้วย อาจได้เห็นภาพมิตรที่กลายเป็น "อรพิษ" และพร้อม "แตกหัก" พรรคใหญ่
  • เนื่องจากเกมนี้ มีเดิมพันด้วย "โอกาส วิน-วิน" ในสมรภูมิเลือกตั้งครั้งหน้า

เปิดศักราชปี “มะเส็ง”2568 ที่การเมืองขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง สำหรับ “ศึกสภาฯ” ที่ถึงคราวต้องวัดจุดยืนกันว่า ใครคือ “มิตรแท้” หรือใครจะเป็น “อสรพิษ” 

กับวาระร้อน ช่วงกลางเดือน ม.ค. 2568 ที่ถูกกำหนดไว้เป็นไฮไลต์ คือการ “รื้อรัฐธรรมนูญ” ฉบับ คสช. ที่ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา วางไว้ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณา 14-15 ม.ค.2568 คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ขณะนี้บรรจุวาระไว้แล้ว 17 ฉบับ ซึ่งเป็นการแก้ไขรายมาตรา เสนอโดย “พรรคประชาชน” 100%

อีกทั้งยังมีวาระรื้อใหญ่ คือ การแก้ไขมาตรา 256 พร้อมเพิ่มหมวดใหม่ว่าด้วยการตั้งองค์คณะ คือ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ ส.ส.ร.ขึ้นมาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แทน “สมาชิกรัฐสภา” ชุดปัจจุบัน

โดยในวันที่ 8 ม.ค. 2568 “วันนอร์” นัดคณะกรรมการประสานงาน หรือวิป 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ฝ่ายวุฒิสภา รวมทั้งตัวแทนคณะรัฐมนตรี หารือกันอีกครั้ง ถึงการเรียงลำดับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยื่นเข้ามา 

อีกนัยหนึ่ง คือรอคำยืนยันจาก “พรรคเพื่อไทย” ว่าจะมีเนื้อหาการแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวดว่าด้วย “ส.ส.ร.” ประกบกับร่างของ “พรรคประชาชน" หรือไม่

สำหรับเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกผลักดันอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่ผ่านมา อาจไม่ถูกยกเป็นวาระร้อน หากไม่มีความพยายามผลักดันให้ “ฝ่าด่านคำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564” ที่วางบรรทัดฐาน ให้การรื้อใหญ่รัฐธรรมนูญ 2560 ทำได้ แต่ต้องผ่านความเห็นของ “ประชาชน” ฐานะผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสียก่อน

ย้อนความของเรื่องนี้ พบการเดินเกมของ “พรรคประชาชน” ที่มี “พรรคเพื่อไทย” เป็นอีแอบ ผลักดันให้ “ประธานรัฐสภา” กลับมติของตนเองที่เคยมีก่อนหน้าช่วงต้นปี 2567 ไม่บรรจุวาระรื้อใหญ่รัฐธรรมนูญ 2560

เกมลึกศึก2สภางัดข้อ ‘รื้อรธน.’  ผ่าดุลแดง-น้ำเงิน สัญญาณ \'หักเหลี่ยม\'?

จนนำไปสู่การขอมติรัฐสภา เพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “รัฐสภาจะบรรจุวาระและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยังไม่มีผลการออกเสียงประชามติว่าประชาชนประสงค์ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้หรือไม่”

แม้ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้อง โดยอ้างว่าคำวินิจฉัย ที่ 4/2564 ว่าวินิจฉัยไดัละเอียด ชัดเจนแล้ว และไม่ใช่กรณีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่ และอำนาจที่อยู่ในขอบเขตของศาลรัฐธรรมนูญ

โดยคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ตีขลุมไว้ว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาให้มี หมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น มีผลยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 จึงต้องถามความเห็นของประชาชน ก่อนเสนอแก้ไข

ดังนั้น ความพยายามดันเกม “ประชามติ 2 ครั้ง” ซึ่งหมายถึงการเดินเกมรื้อรัฐธรรมนูญ 2560 จัดตั้ง ส.ส.ร.ก่อนการทำประชามติสอบถามความเห็นชอบประชาชน ในฐานะผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเสียก่อน คือกลยุทธ์การเมืองที่เมิน “คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ” ซึ่งมีผลผูกพันกับทุกองค์กร

เกมลึกศึก2สภางัดข้อ ‘รื้อรธน.’  ผ่าดุลแดง-น้ำเงิน สัญญาณ \'หักเหลี่ยม\'?

กับความเห็นเบื้องต้นของ “วันนอร์” หลังจากที่คณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภา ที่มี “ว่าที่ร้อยตำรวจตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์” เลขาธิการสภาฯ เป็นประธาน เสนอมติให้ “บรรจุวาระ” ท่ามกลางคำขู่และการกดดันของ “ฝ่ายการเมือง” คือการเห็นคล้อยตาม และเตรียมบรรจุวาระไว้ให้ “สมาชิกรัฐสภา” พิจารณา

* จับตาวัดพลัง2สภารื้อมาตรา256

มีความเป็นไปได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ ให้มีส.ส.ร.จะถูกรับไว้พิจารณาเป็นลำดับต้น ตามความต้องการของ “พรรคประชาชน” เพราะเป็นเรื่องสำคัญ

ทว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวดว่าด้วยการตั้ง ส.ส.ร.นั้น ยังมีประเด็นให้ถกเถียง โดยเฉพาะความชอบด้วย รัฐธรรมนูญ 

แม้ว่าฝ่ายสภาฯที่จับมือกับ ระหว่างสส.เพื่อไทยกับพรรคประชาชนจะครองเสียงข้างมากของสภาฯ แต่ตามเกณฑ์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ต้องได้รับ “ไฟเขียว” จากวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 67 เสียง

เกมลึกศึก2สภางัดข้อ ‘รื้อรธน.’  ผ่าดุลแดง-น้ำเงิน สัญญาณ \'หักเหลี่ยม\'?

ตามเกณฑ์นี้ หากพิจารณาตามเกม เชื่อว่าย่อมถูกขวาง เพราะ “สว.” เสียงข้างมาก อย่างน้อย 153 เสียง ถูกคุมโดย “ค่ายสีน้ำเงิน” ส่วนอีก 47 เสียงที่เหลือ ก็ยังห่างไกลจากเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ผ่าน

หากเกมออกหน้านี้แน่นอนว่า ไม่เพียงแต่จะเป็นการตอกย้ำถึงศึกวัดพลังระหว่าง2สภา แต่เพียงเท่านั้น แต่อาจหมายรวมไปถึงศึกวัดพลังระหว่าง "2พรรค"   ที่ต่างฝ่ายต่างถือดุลอำนาจแต่ละสภาไว้ในมือ  ฝั่ง "เพื่อไทย" ถือดุลอำนาจสภาล่าง ขณะที่ดุลอำนาจสภาสูง กลับอยู่ในกำมือ “พรรคสีน้ำเงิน” แน่นอนว่าแรงปะทะระหว่าง2สีอาจกำลังเปิดฉากอีกวาระหนึ่ง 

* เผือกร้อนวัดใจประธาน-สมาชิกรัฐสภา

ประเด็นที่ล่อแหลมมากกว่านั้น คือชะตาของ “ประธานรัฐสภาฯ” และ “สมาชิกรัฐสภา” ที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ข้อหา “ขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ” ที่ 4/2564 ที่อาจจะมีผลต่อ อนาคตทางการเมือง

แม้ว่า “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ในฐานะนักการเมืองมืออาชีพ จะดักทางไว้ว่า “คงไม่มีใครคิดยื่นศาลรัฐธรรมนูญ” และต่อให้ถูกยื่นจริง ยังไม่รู้ผลว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องไว้พิจารณาหรือไม่ หรือรับแล้วจะชี้ชะตาในทิศทางใด

เกมลึกศึก2สภางัดข้อ ‘รื้อรธน.’  ผ่าดุลแดง-น้ำเงิน สัญญาณ \'หักเหลี่ยม\'?  

ท่ามกลางสงครามการเมืองที่เต็มไปด้วย “การแย่งชิงตำแหน่ง” อาจไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นคุณกับ “ฝ่ายจำเลย” หรือ คนที่อยู่ในเกม ที่เสี่ยงถูกเขี่ยให้พ้นตำแหน่ง

* เกมสภาสูง“ตัดตอน”รื้อรัฐธรรมนูญ?

นอกจากนั้นแล้วในปี 2568 ยังมีทางที่ต้องจับตาให้ดี ถึงการล็อกมติโหวตร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่จะครบวาระยับยั้ง 180 วัน ในช่วงเดือน มิ.ย.2568 แต่กว่าที่จะเปิดสภาฯให้พิจารณายืนยันร่างกฎหมายตามเกณฑ์เสียงข้างมากปกติ เพื่อนำไปสู่การทำประชามติรื้อใหญ่รัฐธรรมนูญ 2560 จะตกอยู่ในช่วงเดือน ก.ค. 2568

ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร หากสภาฯมีมติข้างมาก เห็นชอบกับเกณฑ์ประชามติแก้รัฐธรรมนูญด้วยเสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธิ หรือ “ชั้นเดียว” เท่ากับว่าในราวๆ ปลายปี 2568 จะเห็นความช้ดเจนจากครม.ต่อการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ เรื่องรื้อใหญ่รัฐธรรมนูญฉบับ “คสช.”

หากเสียงของ “สว.” ในนามสมาชิกรัฐสภา ไม่ยอมให้ “ซื้อตัว” เท่ากับว่าเกมรื้อใหญ่รัฐธรรมนูญจะถูกตัดตอน และต้องไปลุ้นกันอีกครั้งในช่วงปลายปี 2568 ว่า รัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” จะเดินหน้าทำประชามติ เพื่อขอความเห็นชอบจากประชาชน เพื่อปูทางไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ผ่าน ส.ส.ร.ตามเรือธงที่พรรคเพื่อไทยได้ประกาศไว้ได้สำเร็จหรือไม่

เกมลึกศึก2สภางัดข้อ ‘รื้อรธน.’  ผ่าดุลแดง-น้ำเงิน สัญญาณ \'หักเหลี่ยม\'?

กว่าเรื่องจะเดินไปสู่ปลายปี 2568 เราอาจได้เห็นหน้าฉาก ระหว่างเกมการแก้รัฐธรรมนูญที่ตั้งใจรื้อมรดกบาปของ “คสช.” จะเห็นทั้งภาพจริง และสะท้อนเงา ที่ชัดเจนว่า พรรคใดร่วมในเกมนี้ พรรคใดคือ “มิตรแท้” หรือทำทีเป็นมิตร แต่เบื้องหลังคือ “อสรพิษ” ที่มีเดิมพัน โอกาสวิน-วิน กินรวบในสนามเลือกตั้งรอบหน้า.