‘ปานปรีย์’ จับชีพจร ‘รัฐบาลพ่อเลี้ยง’ 6 เต็ม 10 ไทยหลุดจอเรดาร์โลก ?
ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์พิเศษประเมินการดำเนินนโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากนายกฯ เศรษฐา ถึง นายกฯ แพทองธาร ในมิติด้านการเมือง เศรษฐกิจ และต่างประเทศ
KEY
POINTS
- ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ดูแลภาพรวมเศรษฐกิจ เคยผ่านตำแหน่งผู้แทนการค้าไทย อดีตประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)
- ตัดสินใจลาออกจากรัฐมนตรีในช่วงที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ครม.เศรษฐา เมื่อ 28 เม.ย. 2567 โดยปรับให้ ดร.ปานปรีย์ พ้นจากรองนายกฯ เหลือเพียง รมว.ต่างประเทศ
- เหตุลาออกจากรัฐมนตรีในช่วงปลายรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ไม่ได้เกิดความน้อยใจ แต่เป็นเพราะไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน ทั้งที่เป็นรัฐมนตรีที่ KPI สูง
- ประเด็นข้อพิพาท MOU44 ขณะที่ ดร.ปานปรีย์ เป็น รมว.ต่างประเทศ ยังคงมีนโยบายให้ดำเนินการต่อไป แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่ายกเลิก MOU44 หรือไม่
- ทางออก MOU44 1.ยกเลิกเอ็มโอยู44 แล้วก็มาเจรจากันใหม่ 2.ทำเอ็มโอยูฉบับใหม่ โดยปกป้องดินแดนของไทยชัดเจนมากขึ้น 3.ทำเอ็มโอยูในส่วนของแผนที่ต้องคุยกันใหม่
- เสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่น่าจะถึงขั้นแตกหัก เพราะรัฐบาลต้องคุมเสียง สส.ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 270 เสียง แต่นายกฯ ก็ยังมีอำนาจยุบสภาฯ ได้
- ให้คะแนน 6 จากเต็ม 10 ถึงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเพื่อนำไทยกลับมามีสู่จอเรดาร์โลก
ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.การต่างประเทศ เริ่มต้นเส้นทางก่อนเข้าสู่การเมือง ด้วยอาชีพข้าราชการประจำสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในห้วงรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
เคยเป็นรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนมีบทบาทโดดเด่นในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เคยเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และทีมเศรษฐกิจของพรรค ทำผลงานในตำแหน่งผู้แทนการค้าไทย และต่อมานั่งประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)
กระทั่งร่วมงานกับรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ก่อนตัดสินใจเว้นวรรคการเมืองอีกครั้ง หลังการปรับ ครม.พ้นรองนายกฯ จึงลาออกจาก รมว.การต่างประเทศ ในที่สุด
ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ในมุมมองด้านเศรษฐกิจ ถึงความท้าทายของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ที่กำลังเข้าสู่กลางเทอมว่า "เรื่องหลักที่ต้องเผชิญคือ เศรษฐกิจ จะสามารถทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ประชาชนเผชิญปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่สูงมาก อีกทั้งรัฐบาลก็มีรายได้น้อย ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องที่ยังมีความหนักใจอยู่สำหรับรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลต้องหาทางดำเนินการด้านเศรษฐกิจให้เติบโตเพื่อมาแก้ไขปัญหาในเรื่องหนี้สินครัวเรือนให้ลดลงมาให้ได้
“ในปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณ 2.7-2.8% ปีหน้าจะเติบโตประมาณ 3% เมื่อเปรียบเทียบประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ยังต่ำกว่าเขาเยอะ ทั้งที่พื้นฐานของเราไม่ได้ด้อยไปกว่าเขา ศักยภาพของเราที่จะเติบโตยังมี ในแง่นโยบายต้องทำให้มีนโยบายชัดเจน ทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ด้วย”
ถามว่าการแจกเงิน 10,000 บาท เฟสแรกของรัฐบาลสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจได้แค่ไหน ดร.ปานปรีย์ ระบุว่า "ก็รัฐบาลเขาบอกว่าหมุนได้ เขามีตัวเลขออกมาว่าจะสามารถช่วยจีดีพีของเราให้เติบโตได้เท่าไร เพียงแต่คำถามคือว่า ประชาชนมีรายได้ดีขึ้นไหม หนี้สินของเขาเพิ่มขึ้นไหม หรือลดลง ความเป็นอยู่ของประชาชนโดยรวม มีความพึงพอใจนโยบายนี้มากน้อยแค่ไหนด้วย"
“ทักษิณ” สร้างความเชื่อมั่นให้รัฐบาล
ในช่วงปีครึ่งที่ผ่านมา การเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน มายังนายกฯ แพทองธาร มีความแตกต่างอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะเมื่อมี ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวช่วย จนได้ฉายา รัฐบาล “พ่อ” เลี้ยง ดร.ปานปรีย์ มองว่า นโยบาย และความต่อเนื่องจากรัฐบาลเศรษฐา ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก เมื่อเข้าสู่ยุครัฐบาลแพทองธาร นโยบายยังเป็นนโยบายเดิมอยู่ แต่ก็มีการปรับเล็กน้อย ตัวอย่างเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งการลากออกไปนานพอสมควร ทำให้ประชาชนที่รอคอย อาจเกิดความผิดหวังได้ เขาถึงปรับนโยบายมาใช้ 10,000 บาทแทน
สำหรับตัวผู้นำ เพราะนายกฯ เศรษฐาเป็นนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ แล้วประสบความสำเร็จ มีอายุมากกว่า ทำให้คนมองว่าท่านเศรษฐามีประสบการณ์สูงกว่าท่านแพทองธาร ที่มีอายุน้อยกว่า
ดร.ปานปรีย์ ระบุว่า "ช่วงแรกที่ท่านเศรษฐา เป็นนายกฯ ก็พยายามเดินหลายเรื่อง เรื่องที่ประชาชนติดติดตามอยู่ ดิจิทัลวอลเล็ต ท่านพยายามจะผลักดันมีการประชุมอยู่หลายครั้ง ส่วนการต่างประเทศ ท่านเศรษฐาเดินทางต่างประเทศเยอะมาก ท่านก็พยายามจะดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยให้มากที่สุด ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี ได้ผลระดับหนึ่ง"
"ส่วนท่านทักษิณ ก็มีทั้งให้คำปรึกษา และเสนอแนะทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ซึ่งท่านทักษิณได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับทั้ง 2 นายกฯ เมื่อลูกสาวท่านมาดำรงตำแหน่งนายกฯ แล้วมีพ่อที่เคยประสบความสำเร็จ ทั้งในแง่ของการที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจ และในแง่เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งที่เคยประสบความสำเร็จมาก ก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาลได้อีกทางด้วย เพราะทุกคนมองเห็นชัดเจนว่า ท่านทักษิณไม่ได้ไปไหน แต่มาช่วยเหลือดูแลลูกสาวท่าน และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมาอย่างต่อเนื่อง”
ด้านต่างประเทศ ไทยผ่านคาบเส้น
ส่วนด้านการต่างประเทศ ต่อข้อถามถึงบทบาทรัฐบาล จะสามารถนำประเทศไทยกลับไปสู่จอเรดาร์โลกอย่างที่ท่านเคยมีนโยบายไว้ได้หรือไม่ มาถึงจุดนี้ให้คะแนนเท่าไร ดร.ปานปรีย์ ระบุว่า “น่าจะอยู่ในระดับ 6 จากเต็ม 10 เพราะเวลานี้สถานการณ์โลกเปลี่ยนไปด้วย ในอดีตครั้งหนึ่งเราอาจอยู่ในเรดาร์ที่ชาวโลกให้ความสำคัญ และไทยเคยเป็นผู้นำอาเซียน การเป็นผู้นำอาเซียนจะมีความโดดเด่นในสายตาชาวโลกด้วย แต่ภายหลังมาเนื่องจากเศรษฐกิจของเราถดถอยลง บทบาทในอาเซียนของเราก็ไม่ได้มีความชัดเจนมากขึ้น ก็ทำให้ไทยในสายตาชาวโลก ลดถอยลงไป”
“แต่จะพูดว่า เรายังไม่อยู่ในสายตาชาวโลก ก็ยังพูดไม่ได้ เพราะว่า มันเป็นช่วงของการปรับตัวของทุกประเทศในอาเซียน รวมทั้งประเทศไทยด้วย ถ้าเราปรับตัวในทิศทางที่ถูกต้อง ก็จะขึ้นมาสู่จอเรดาร์ที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น”
ส่วนกรณีนายกรัฐมนตรี มาเลเซีย “อันวาร์ อิบราฮิม” เชิญอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ไปเป็นที่ปรึกษาประธานอาเซียน จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ไทยในสายตาต่างประเทศหรือไม่ ดร.ปานปรีย์ มองว่า ในแง่สายตาชาวโลก สหรัฐฯ และจีน ผมคิดว่าเวลานี้เขามองเราดีอยู่แล้ว เขาไม่ได้มองแตกต่างไป แต่การที่ท่านทักษิณ เป็นที่ปรึกษาให้ท่านอันวาร์ ประโยชน์น่าจะได้กับท่านอันวาร์ เพราะความเป็นผู้นำในอาเซียน ไม่ได้ตกที่ประเทศไทย แต่จะตกไปที่มาเลเซียมากกว่า อย่างน้อยคนก็หันไปดูว่า เวลานี้มาเลเซียกำลังทำอะไร
ขณะที่กัมพูชาได้ผู้นำใหม่ "ฮุน มาเนต" ส่วนไทยได้ "แพทองธาร" เป็นนายกฯ ขณะที่ "อินโดนีเซีย"ได้ "ปราโบโว สุเบียนโต" เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งคล้ายกับเมื่อ 20 ปีก่อนที่ ดร.ทักษิณ ขึ้นมาเป็นนายกฯ ใหม่จะทำให้ไทยมี โอกาสเป็นผู้นำอาเซียนหรือไม่ ดร.ปานปรีย์ ระบุว่า อยู่ที่นโยบายว่ารัฐบาลมีนโยบายอย่างไร ให้ความสำคัญด้านการต่างประเทศมากน้อยขนาดไหน เพราะโดยปกติ การมองออกข้างนอกกลับเข้ามาข้างในสมัยท่านทักษิณ ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสองแนวทาง
"ท่านจะทำสองด้าน ถ้าทำสองด้านน้ำหนักอยู่ด้านไหนมากกว่ากันแล้วแต่นโยบายของรัฐบาล หรือให้เกิดสมดุลกันก็แล้วแต่นโยบายของรัฐบาล ซึ่งเวลานี้ผมก็ยังไม่แน่ใจว่า ในเชิงนโยบายการต่างประเทศ ทางรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อไป"
เสนอ 3 ทางออกดับไฟ MOU44
ประเด็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา ที่กลุ่มมวลชนนอกสภาฯ พยายามเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลเรื่องเอ็มโอยู44 อ่อนไหวมากน้อยแค่ไหน และรัฐบาลควรมีแนวทางอย่างไร ในการเคลียร์ปัญหาทั้งในประเทศ และนอกประเทศ ดร.ปานปรีย์ ระบุว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องดำเนินนโยบาย จะตัดสินใจเดินหน้าต่อหรือไม่ ถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็ต้องเดินต่อ แต่การจะเดินต่อนั้น จะนับหนึ่งตรงไหน เวลานี้เหมือนคาของเก่าไว้ตั้งแต่ปี 2544
เจตนารมณ์ของเอ็มโอยูฉบับนี้ ร่างขึ้นมาจะมีเนื้อหาในหน้าที่ 1-2 และหน้าที่ 3 เป็นแผนที่ โดยส่วนเนื้อหาไม่ได้มีอะไรทำให้เกิดความเสียหายได้ แต่ขณะนี้ยังมีเรื่องข้อสงสัยในแผนที่
“ช่วงที่ผมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี(ต่างประเทศ) ก็มีการพูดคุยกัน จะดำเนินการเรื่องนี้ต่อไปหรือไม่ โดยมีนโยบายว่า จะต้องดำเนินการต่อไป แต่ไม่ได้มีการพูดว่า จะมีการยกเลิกเอ็มโอยู44 หรือไม่ ถ้าสุดท้ายรัฐบาลตัดสินใจเดินต่อ ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมา คณะกรรมการชุดนี้จะมากำหนดแนวทางเจรจา จะใช้รูปแบบไหน รูปแบบที่มีเอ็มโอยูที่มีอยู่แล้ว หรือจะทำข้อตกลงใหม่ขึ้นมา หรือไม่มีเอ็มโอยู เจรจาเหมือนสมัยที่แล้ว ที่เราเจรจากับมาเลเซีย พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(JDA) ก็แล้วแต่รูปแบบที่คณะกรรมการต้องตัดสินใจ แล้วต้องออกมาบอกให้ประชาชนสบายใจนะครับ แต่ถ้าบอกว่าจะไม่เอา ก็ไม่เอา ก็จบไป"
“กรณีหากมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ก็มีข้อเสนอ 2-3 แนวทางคือ 1.ยกเลิกเอ็มโอยู44 แล้วก็มาเจรจากันใหม่ 2.ทำเอ็มโอยูฉบับใหม่ โดยเนื้อหาปกป้องให้ดินแดนของไทยชัดเจนมากขึ้น และมีการแบ่งปันผลประโยชน์ก็ชัดเจนมากขึ้น และ 3.ทำเอ็มโอยูในส่วนของแผนที่ต้องคุยกันใหม่ว่าจะเอาอย่างไร เรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ เป็นเรื่องต้องเจรจาระหว่างประเทศ มันจะเป๊ะๆ ไม่ได้ แต่อย่างน้อยชี้ให้เห็นว่า เรามีความห่วงใยในเรื่องของดินแดน สิ่งที่ประชาชนเป็นห่วงหลายเรื่อง คือ จะมีการจัดการดูแลอย่างดี ไม่ให้เราต้องสูญเสียดินแดน”
เมื่อถามถึง ท่าทีรัฐบาล ดร.ปานปรีย์ ระบุว่า “ต้องตัดสินใจ แต่ไม่สามารถพูดแทนรัฐบาลได้ แต่ผมคิดว่าต้องตัดสินใจ เพราะว่าในยุทธศาสตร์ 6 ข้อของรัฐบาล เมื่อเปิดมาเห็นในหนังสือพิมพ์จะมีเรื่อง OCA (การพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย และกัมพูชา) ทำให้เชื่อว่ารัฐบาลจะผลักดันเรื่องนี้ต่อ อย่างไรก็ตาม การเดินนโยบายนั้น อย่างแรกต้องเดินอย่างโปร่งใส และไม่มีอะไรแอบแฝง”
ตัดกลับมายังการเมืองเรื่องสถานการณ์ที่ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ดร.ปานปรีย์ มองว่า “ผมมีความรู้สึกว่า แต่ละพรรคเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง เพราะวันนี้พรรคเพื่อไทยแกนหลักได้เปรียบ การหาเสียง ท่านทักษิณก็เหมือนออกไปหาเสียง และได้รับการตอบรับดีพอสมควร
“ผมไม่คิดว่าถึงขั้นแตกหักกัน ระหว่างกลุุ่มรัฐบาล ถ้าดูตัวเลขแล้ว มีบางพรรคอุปสรรคมาก อาจจะให้ออกไป แต่ตัวเลขต้องมีอย่างน้อย 270 เสียงขึ้นไป เพื่อเป็นหลักประกันเวลาโหวต คนนั้นอยู่คนนี้ไม่อยู่ เดี๋ยวจะต่ำกว่า 250 เสียงแล้วจะยุ่ง” อดีตรองนายกฯ ประเมินว่า อำนาจต่อรองของแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทย ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะต่อรองกับพรรคร่วมฯ ได้มากนัก
ดร.ปานปรีย์ ย้ำว่า “หลักการฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะฝ่ายชนะเลือกตั้ง ไม่ต้องการยุบสภา แต่การยุบสภา เกิดได้ตลอด เพราะเป็นอำนาจของนายกฯ ดังนั้น ถ้ามันถึงจุดหนึ่งไปไม่ไหวจริงๆ ก็ต้องนำไปสู่การยุบสภา แล้วเมื่อถึงจุดนั้นแล้ว เหมือนตัวใครตัวมันแล้ว”
อย่างไรก็ตาม ในมุมของฝ่ายค้าน ดร.ปานปรีย์ มองว่า ดูจะเงียบลงไปดูเหมือนพลังฝ่ายค้านเวลานี้ลดน้อยลงไป ไม่แน่ใจว่าเปิดสภาฯ มาแล้ว ถ้ามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทางฝ่ายค้านจะสามารถออกมาแสดงศักยภาพได้มากน้อยขนาดไหน เพราะศักยภาพของฝ่ายค้านจะมีผลต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป ถ้าถดถอย ผลจะไปตกตรงฝั่งพรรคเพื่อไทย
อโหสิกรรม หากขวางผลประโยชน์
ส่วนการตัดสินใจทิ้งตำแหน่ง รมว.การต่างประเทศ หลังถูกปรับพ้นรองนายกฯ ช่วงปลายรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ยังเป็นเรื่องที่สังคมกังขาว่าเบื้องลึกเบื้องหลัง ไม่ใช่ความน้อยใจ แต่อาจเป็นประเด็นที่ไปขวางผลประโยชน์ใคร ในพรรคหรือนอกพรรคหรือไม่ ดร.ปานปรีย์ ระบุว่า “ก็อาจทำไปโดยไม่รู้ตัว ก็อาจจะมี ไปทำอะไรที่บางอย่างที่เขาอาจจะไม่ค่อยแฮปปี้ ถึงต้องขออโหสิกรรมกัน"
"ตอนแรกก็ไม่เชื่อ เขาก็ไม่ได้บอกว่า ผมทำอะไรผิด ถ้าสมมติผมทำอะไรผิด ไปฉ้อราษฎร์บังหลวง ไปตบทรัพย์เขามา หรือเดินนโยบายผิดพลาด ทำให้พรรคเสียหาย ทำให้ประชาชนมองเราไม่ดี ผมก็จะโอเคโดยดุษฎีจะไม่มีปัญหาเลย มันเหมือนถูกทำโทษ คล้ายๆ กับว่า เราทำอะไรที่มันไม่เหมาะสมหรือไม่"
"เพราะในมุมของท่านเศรษฐาท่านจะพูดเสมอว่าจะพิจารณาคนบนพื้นฐาน KPI แล้วเวลานั้น KPI ผมก็สูงมาก ผมก็เลย งง ว่า ตกลงเขาพิจารณาคนอย่างไร แล้วให้ผมพ้น โดยไม่มีคำอธิบายให้ ถ้าอย่างนั้น ก็ต้องให้คนอื่นเป็นละกัน เพื่อให้ทุกอย่างเป็นตามแนวทางที่เขาอยากจะให้เป็น" และท้ายที่สุด ดร.ปานปรีย์ ก็ย้ำว่า อโหสิกรรมให้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์