'พิสิษฐ์' ท้วง ร่างแก้รธน.ม.256 หั่นเกณฑ์ 1ใน3 ส่อขัดหลักปชต.-การถ่วงดุล
"สว.พิสิษฐ์" เตรียมจัดเวทีชำแหละร่างแก้รธน.ม.256 พร้อมมองหั่นเสียงสว.1ใน3ออกไปส่อขัดระบบประชาธิปไตย-การถ่วงดุล จ่อไม่เห็นชอบ
ที่รัฐสภา นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวถึงกรณีที่การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เลื่อนการพิจารณาไปเป็นวันที่ 13 - 14 ก.พ. เนื่องจากสว.ขอเวลาศึกษาเนื้อหาให้รอบคอบ ว่า ในขั้นตอนของวุฒิสภานั้น เตรียมจัดเวทีเสวนาเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ให้กับ สว. โดยจะเชิญนักวิชาการ นักกฎหมาย รวมถึงผู้ที่เคยยกร่างรัฐธรรมนูญมาให้ความรู้และความเข้าใจกับสว. ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ได้จัดเวทีเพื่อให้ความรู้กับ สว. ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้วรอบหนึ่งเมื่อวันที่ 8 ม.ค. โดยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา แต่รอบที่จะเกิดขึ้นนี้จะนำเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอต่อรัฐสภา มาพิจารณา
เมื่อถามถึงความเห็นต่อสาระในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ที่เสนอโดยพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย นายพิสิษฐ์ กล่าวว่าความเห็นส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่มีเนื้อหาแก้ไขที่ตัดเสียงสว. จำนวน 1 ใน 3 ออกจากการเห็นชอบในขั้นรับหลักการและชั้นวาระสาม เพราะมองว่าขัดต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ใช้ระบบสองสภา ที่ต้องถ่วงดุลกัน
“ในการพิจารณากฎหมายทั่วไป ในชั้นสส.ต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง และต้องผ่านสว. ที่ต้องใช้เสียงครึ่งหนึ่งของสว. ซึ่งกฎหมายทั่วไปนั้นมีศักดิ์และสิทธิน้อยกว่ารัฐธรรมนูญ ดังนั้นการแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดและมีเกณฑ์กำหนดให้ใช้เสียงแค่ 1 ใน 3 ซึ่งถือว่าน้อยกว่ากฎหมายทั่วไปด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงขอถามไปยังผู้เสนอร่างว่า หากมองว่ามีเกณฑ์ใช้เสียง 1 ใน3 ของสว. ทำให้รัฐธรรมนูญผ่านยาก จะยากตรงไหน เพราะจำนวน 1 ใน 3 ยังน้อยกว่าเสียงเกินกึ่งหนึ่งด้วยซ้ำ” นายพิสิษฐ์ กล่าว
นายพิสิษฐ์ กล่าวด้วยว่า ตนมองว่าหากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของทั้ง2พรรคดีจริง สามารถโน้มน้าว สว. จำนวน 67 เสียงให้เห็นชอบได้แน่นอน ดังนั้นในระบบการปกครองที่ใช้แบบสองสภาฯ ต้องการถ่วงดุลกันและกัน การตัดสิทธิสว.ออกไปนั้น ขอตั้งคำถามว่าถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่
เมื่อถามมองว่าการตัดเกณฑ์ 1 ใน 3 ของสว.ออกไปมีนัยแฝงหรือไม่ นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่ขอย้ำว่าการปกครองของไทยใช้ระบบสองสภาฯ ที่สส. และสว. ต่างมีหน้าที่ถ่วงดุลกัน ดังนั้นการกำหนดเกณฑ์ให้ใช้เสียง สส. และสว. ในมาตรา 256 (3) และ (6) นั้น จึงเป็นการเขียนที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดการถ่วงดุลกัน ส่วนที่ไปแก้ไขให้ใช้เกณฑ์ผ่านด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ สว.ที่มี 200 คน จึงเทียบอะไรไม่ได้กับ สส. ที่มี 500 คน ดังนั้นสว.ไม่สามารถคัดค้านอะไรได้เลย ทั้งนี้ตนมองว่าการตัดเสียง สว.ออกไปนั้น ตนไม่เห็นด้วยเพราะขัดกับสิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้และอย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ผ่านประชามติมาแล้ว การแก้ไขใดๆ ตามที่เสนอมานั้นถูกต้องหรือไม่
นายพิสิษฐ์ กล่าวต่อว่า ตนขอให้ผู้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนู กลับไปอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ให้ระเอียดและรอบคอบ และหวังว่าคงจะไม่ถอนออกไปก่อน ทั้งนี้ตนไม่ทราบว่าในขั้นตอนการพิจารณาหลังจากที่มีการบรรจุวาระต่อที่ประชุมแล้ว จะมีผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งตนคงไม่ไปดำเนินการ แต่เมื่อสามารถบรรจุวาระให้พิจารณาได้ ตนยินดีเข้าร่วมประชุม แต่ไม่เห็นชอบ
เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่าการพิจารณาจะมีการยื่นเอาผิดสมาชิกรัฐสภา ประเด็นผิดจริยธรรมเพราะได้ทำสิ่งที่ขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่ก่อนหน้านี้นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้เข้าพบประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เขาย่อมมั่นใจว่าสิ่งที่ทำไปได้ไตร่ตรองรอบคอบแล้ว ดังนั้นมั่นใจว่าการประชุมรัฐสภาจะเกิดขึ้น ส่วนจะผิดหรือไม่ไม่ทราบไม่อาจก้าวล่วงอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและไม่ทราบว่าจะมีผู้ยื่นร้องหรือไม่.