ศึกซักฟอก พระรอง‘พปชร.’ เดิมพัน ‘ฝ่ายค้าน’จำเป็น
เดิมพันสำคัญของพลังประชารัฐ ในการเดินต่อบนเส้นทางการเมืองสู่การเลือกตั้งครั้งต่อไป การทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่ชกแบบสมศักดิ์ศรีในวันนี้ หากสร้างผลงานเข้าตาประชาชน น่าจะเป็นบันไดขั้นสำคัญในการฟื้นความเชื่อมั่นของพรรคลุงป้อม
KEY
POINTS
- พปชร. ถ้าจะลุยเลือกตั้งครั้งต่อไป จำเป็นต้องพิสูจน์ผลงานในฐานะฝ่ายค้าน โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
- เป้าหมายถอนแค้นของตนบ้านป่า ถูกคาดกันว่า เล็งฟาดทักษิณ กระทบชิ่งถึงรัฐบาล พาเหรดกันมาทั้ง MOU44 ชั้น14 ครอบงำสั่งการ
- การบริหารเศรษฐกิจล้มเหลว ทั้งแจกเงินหมื่น แก้หนี้ครัวเรือน เป็นอีกประเด็นที่ พปชร. จ้องถล่มรัฐบาลแพทองธาร
ศึก อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ตามไทม์ไลน์ที่พรรคประชาชนวางไว้ คือกลาง ก.พ.หรือช่วง มี.ค.นี้ ผู้นำฝ่ายค้าน อย่าง เท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ โหมโรงมีหมัดเด็ดน็อกรัฐบาลได้แน่นอน ระหว่างนี้เป็นการเตรียมประเด็น และจะได้หารือกันในพรรคร่วมฝ่ายค้านก่อน
บทบาทพระเอกในศึกซักฟอก ต้องยกให้กับพรรคส้ม ที่เคยสร้างผลงานในสภาฯมาตลอด แต่บทบาทของพรรคฝ่ายค้านจำเป็น อย่าง“พลังประชารัฐ” ที่ก่อนหน้านี้เปิดวอร์รูม ชำแหละรัฐบาลนอกสภาฯอย่างต่อเนื่อง
ประเด็นสำคัญที่พยายามจุดพลุชาตินิยม ขุดเรื่อง MOU44 ขยี้ รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ที่มี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คอยเป็นหางเสือ ภายใต้หัวโขน สทร. แตะเรื่องไหนก็เป็นประเด็นเรื่องนั้น
ที่ผ่านมาพลังประชารัฐ โดยไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค เคยยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยกเลิก MOU44 เนื่องจากมองว่า กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และกระทรวงการต่างประเทศ นำ MOU44 ที่ทำขึ้นโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แล้วมาใช้ดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตย และผลประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของไทยด้านอ่าวไทย แต่สุดท้าย ศาลไม่รับคำร้อง
ท่าทีของรัฐบาล ก็ไม่ดันทุรังเร่งรีบตั้งคณะกรรมการการร่วมด้านเทคนิค ไทย-กัมพูชา หรือ JTC เพราะรู้ดีว่าบางฝ่ายไม่ไว้วางใจ 2 ตระกูลผู้นำจาก 2 ประเทศ ขืนเดินหน้าจะยิ่งเติมฟืนเข้ากองไฟ เข้าทางกลุ่มต่อต้านที่ตั้งท่าปลุกม็อบลงถนน แต่พอรัฐบาลเก็บเรื่องนี้ในลิ้นชัก ปฏิกิริยาจากฝ่ายตรงข้าม ก็ซาลงอย่างเห็นได้ชัด
ระยะหลังลูกพรรคพลังประชารัฐ จึงหันมาโฟกัสถล่มรัฐบาลไร้ความน่าเชื่อถือ ประเด็น 4 ลูกเรือไทยที่ถูกทางการเมียนมาจับกุม ทั้งที่รัฐบาลประกาศไว้ดิบดี จะได้รับการปล่อยตัววันนั้นวันนี้ ผ่านมากว่าเดือนแล้ว ก็ยังไร้วี่แวว
ระหว่างนี้ ทางพลังประชารัฐ จึงทำได้แค่ลับดาบรอเจ้าภาพหลักอย่างพรรคประชาชน ดำเนินการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายฯ อย่างเป็นทางการก่อน แล้วจะได้มีการประชุมวิป 2 ฝ่าย วางกรอบการอภิปรายฯ และหารือถึงการจัดสรรเวลาในบรรดาพรรคฝ่ายค้านด้วยกันเอง
ถ้าลองเก็งข้อสอบประเด็นที่พรรคลุงป้อม จะหยิบมาอภิปราย นอกจาก MOU44 แล้ว ก็คาดว่าจะมีเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ล้มเหลว ไล่มาตั้งแต่การแจกเงิน 10,000 บาท การแก้ปัญหาหนี้สิน การแก้ปัญหาเกษตรกร ซึ่งศูนย์นโยบายและวิชาการของพลังประชารัฐ ที่มีสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พลังงาน เป็นหัวหน้าทีม อุตตม สาวนายน อดีต รมว.คลัง ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง เป็นคีย์แมน ออกมาชำแหละนโยบายเรือธงรัฐบาลเป็นระยะ
นอกจากนี้ ก็ต้องจับตาว่าพลังประชารัฐ จะชกเป้าใหญ่อย่างทักษิณ เรื่องชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ที่อาจได้รับความสะดวกจากกลไกการบริหารราชการแผ่นดิน จนไม่ต้องเข้าคุกเลยหรือไม่ หรือจะมีประเด็นครอบงำ สั่งการรัฐบาล และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของพ่อนายกฯ
อีกประเด็นที่น่าจับตา อดีตสปอนเซอร์รายใหญ่พลังประชารัฐ ที่แตกหักกับ ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ชนิดผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ ทางพลังประชารัฐ พ.ศ.นี้ จะหาเหลี่ยมหาช่องถอนแค้นผ่านการถลกหนังรัฐบาลด้วยหรือไม่ เพราะทุนใหญ่ที่กำลังขยับมาเล่นการเมืองเต็มตัว ไม่ได้มีศัตรูแค่สายบ้านป่ารอยต่อ แต่ยังมีแนวร่วมอื่นๆ ทั้งพรรคส้ม พรรคลุง ไม่เว้นแม้แต่บางคนบางกลุ่มในเพื่อไทย ก็ไม่ได้พิศมัยกับแนวทางธุรกิจนำการเมืองแบบกินรวบ
นอกจากนี้ ยังมีแนวร่วมนอกสังเวียนการเมือง ที่เจ็บแค้นเกมกีดกันสารพัด พร้อมเอาคืนทบต้นทบดอก สถานการณ์จึงอาจเหมือนบังคับให้ฝ่ายตรงข้าม จับมือร่วมด้วยช่วยกันถล่มรัฐบาล กระทบไปถึงค่ายใหม่นายทุนไปโดยปริยาย
ศึกซักฟอกรัฐบาลครั้งนี้ จึงเป็นเดิมพันสำคัญของพลังประชารัฐ ในการเดินต่อบนเส้นทางการเมืองสู่การเลือกตั้งครั้งต่อไป การทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่ชกแบบสมศักดิ์ศรีในวันนี้ หากสร้างผลงานเข้าตาประชาชน น่าจะเป็นบันไดขั้นสำคัญในการฟื้นความเชื่อมั่นของพรรคลุงป้อม