'มติรัฐสภา' รับหลักการแก้ข้อบังคับประชุมรัฐสภา เปิดทาง 'คนนอก' ร่วมแก้รธน.
มติรัฐสภา 415 เสียง รับหลักการร่างแก้ข้อบังคับประชุมรัฐสภา ของพรรคประชาชน เปิดทาง "คนนอก" ร่วมนั่งกมธ.แก้รธน. "พท." คาใจหลักเกณฑ์ แนะให้แก้ให้เหมาะสม
ในการประชุมรัฐสภา วาระพิจารณาเรื่องด่วน คือ ร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา (ฉบับที่...) พ.ศ.... เสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาเป็นประธานการประชุม
พบว่ามีการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ทั้งสนับสนุนและคัดค้าน ทั้งนี้ในส่วนของพรรคเพื่อไทย พบการอภิปรายของนายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่าตนมีความเห็นก้ำกึ่งว่าจะรับหรือไม่ เนื่องจากยังมีความเห็นต่างในรายละเอียดโดยเฉพาะการแก้ไขในประเด็นกรรมาธิการ โดยการเป็นกมธ.ต้องมาจากหลายสัดส่วน รวมถึงสัดส่วนของพรรคการเมือง แต่เมื่อกมธ.ขาดจากสมาชิกของพรรคการเมืองใด จะทำให้ดำรงตำแหน่งต่อไปไม่ได้ ซึ่งการแก้ไขข้อ 123 ถือเป็นหัวใจของกระบวนการตรากฎหมายสูงสุด ทั้งนี้หากรับฝากกมธ.ที่ตั้งขึ้นให้แก้ไขในรายละเอียดให้เหมาะสม แต่หากไม่รับเพราะข้อบังคับที่ใช้ตั้งแต่ปี2563 มีหลายประเด็นที่ต้องสังคายนา
ขณะที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตนเห็นด้วยควรรับหลักการ แม้มีข้อถกเถียงในการตั้งบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) ได้หรือไม่สามารถพิจารณาในชั้นกมธ.ได้ เพื่อหาข้อสรุปทางกฎหมาย อย่างไรก็ดีตนมีข้อสังเกตด้วยว่าสามารถตั้งบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาได้หรือไม่ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ สามารถตั้งบุคคลภายนอกมาเป็นที่ปรึกษาของกมธ.ได้
“ชั้นนี้รับหลักการได้ และตั้งกมธ.พิจารณาในสาระบัญญัติของข้อบังคับที่เขียนไว้มาตรา 123 และ 123/1 เพราะวิสามัญเป็นตัวกำหนดไว้ว่าสามารถตั้งบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาทำหน้าที่ได้” นพ.ชลน่าน อภิปราย
จากนั้นนายพริษฐ์ อภิปรายสรุปด้วยว่าการประเด็นที่สมาชิกรัฐสภาติดในการตัดเงื่อนไขให้กมธ.พ้นจากตำแหน่งกรณีที่ขาดจากสมาชิกภาพของสภาที่เป็นสมาชิกนั้น เป็นการแก้ไขเพื่อให้สอดรับกับกรณีที่บางพรรคหรือสว. เสนอบุคคลภายนอกเป็นกมธ. แต่หากเขียนไว้ไว้ จะมีปัญหาทางกฎหมายทันที
“ที่บอกว่าอาจไม่มีสส. สว. เป็นกมธ.เลย นั้นอาจเป็นไปได้ กรณีที่พรรคการเมืองและสว. ไม่เสนอสมาชิกของสภาของตนเองได้ แต่หากเห็นว่าควรมีสมาชิกรัฐสภาอยู่ในกมธ. ในโควต้าของสว. ไม่ต้องเสนอคนนอก เพื่อปิดปัญหา อย่างไรก็ดีหากสว. หรือ สส. จะเสนอชื่อใครต้องขออนุมัติจากสมาชิกรัฐสภา หากพบว่ามี กมธ.ที่น้อยไป สามารถแก้ไขได้ หากต้องการหลักประกันสามารถรับหลักการแล้วไปแก้ไขในชั้นกมธ.ได้” นายพริษฐ์ ชี้แจง
นายพริษฐ์ ชี้แจงว่ากรณีที่เสนอให้ผู้แทนประชาชนที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นกมธ. นั้นเป็นกรณีพิเศษที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยประชาชน ส่วนจำนวน และถ้อยคำนั้นตนดึงมาจากรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้
จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติ โดยพบว่ามติของรัฐสภา 415 เสียงเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย 185 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ถือว่ารัฐสภาลงมติรับหล้กการร่างแก้ไขข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ที่พรรคประชาชนเสนอ จากนั้นได้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา 18 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการตั้งกมธ.สัดส่วนของวุฒิสภานั้นพบว่ามีประเด็นขัดแย้งระหว่าง สว. 2 กลุ่ม ทำให้นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ เสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติตัดสิน แต่นายวันมูหะมัดนอร์ ขอให้สว. หารือกันภายในก่อนเสนอต่อที่ประชุม