เทียบ ‘อัลไพน์-เขากระโดง’ งบฯ ไม่มี จบที่‘เช่า-ออกพ.ร.บ.’

กรณีเพิกถอนที่ดินอัลไพน์ ที่เป็น “ข้อสรุป” แบบยังไม่สรุป100% เพราะยังเหลืออีกหลายขั้นตอนในการดำเนินการ ย่อมไม่พ้นถูกนำไปเปรียบเทียบกับกรณีพิพาท “เขากระโดง” ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) และกรมที่ดิน ที่ยังคงคาราคาซังอยู่ในชั้นศาลปกครอง
KEY
POINTS
- "กรณีนี้ 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยอมรับเป็นเจ้าของสนามกอล์ฟอัลไพน์ ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย แต่วัดต่างหากที่ต้องเรียกค่าหาย กรณีนำพื้นที่ของวัดไปแสวงหาผลประโยชน์ ที่ดินตกเป็นของวัดโดยอัตโนมัติ" ถาวร เสนเนียม อดีตรมช.มหาดไทย
- งบประมาณมหาศาล 7.7 พันล้าน ที่ส่อแววกลายเป็น “ค่าโง่” นำมาซึ่งคำถาม ถึงแหล่งเงินจำนวนนี้ จะนำมาจากไหน
- ทางออก
ยังมีอีกหลายขั้นหลายตอนให้ต้องลุ้น หลัง“ชำนาญวิทย์ เตรัตน์”รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เซ็นลงนามเพิกถอนการจดทะเบียนฯ และนิติกรรมต่าง ๆ บนที่ดิน“อัลไพน์”แล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา กระบวนการถัดไปก็จะเข้าสู่ขั้นตอนในการเพิกถอน รวมถึงเยียวยาให้กับประชาชน
โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเพิกถอนรายการจดทะเบียนที่ดิน และโฉนดที่ดินดังกล่าว สามารถใช้สิทธิยื่นคำฟ้อง พร้อมขอทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองต่อศาล หรือยื่นคำขอให้กระทรวงมหาดไทย กรมที่ดิน ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ได้
อย่างที่รู้กันว่า “มูลค่าความเสียหาย” จำนวนมหาศาล ที่กรมที่ดิน มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ บริษัทอัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ต คลับ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของครอบครัวชินวัตร และบริษัทอัลไพน์ เรียลเอสเตท จำกัด (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ราชธานี พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด) จะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายในคดีแพ่ง หากประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในปัจจุบัน ซึ่งมีจำนวน 533 ราย และผู้รับจำนองอีก 30 ราย ยื่นฟ้องกรมที่ดิน และบริษัทที่เกี่ยวข้องจะมีมูลค่าสูงถึง 7,700 ล้านบาท
ด้วยจำนวนงบฯ ที่มหาศาลนี้เอง มีการประเมินว่า สุดท้ายอาจเป็น“กรมที่ดิน” ซึ่งจะเป็น“ตัวละครหลัก” ที่จะต้องแบกภาระตรงนี้ ในฐานะเป็นผู้เก็บค่าธรรมเนียม และออกโฉนดให้แก่ประชาชน
ทว่า ในมุมนี้เอง มีความเห็นจาก“ถาวร เสนเนียม” อดีตรมช.มหาดไทย ที่มองต่างว่า การดำเนินนิติกรรมในยุค “เสนาะ เทียนทอง” อดีตรมว.มหาดไทย เป็นการทำนิติกรรมที่มีความผิดเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงถือว่าการกระทำดังกล่าว เป็นนิติกรรมที่เป็นโมฆะ ตามมาตรา 150 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ดังนั้น กรณีนี้ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยอมรับเป็นเจ้าของสนามกอล์ฟอัลไพน์ ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย แต่วัดต่างหากที่ต้องเรียกค่าหาย กรณีนำพื้นที่ของวัดไปแสวงหาผลประโยชน์ ที่ดินตกเป็นของวัดโดยอัตโนมัติ
“ถ้าอธิบดี(กรมที่ดิน)คนใดจ่าย ก็ติดคุก อยู่ๆ มีอำนาจจ่ายได้อย่างไร เพราะเหตุว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ถ้าเอาเงินหลวงไปจ่าย ก็ติดคุกเอง เข้าตามมาตรา 150 ถ้าจะเล่นบทมวยล้มต้มคนดู เขาเรียกร้องมา แล้วเจ้าหน้าที่รัฐนำเงินไปจ่าย ถามว่าเอาเงินจากไหน ถ้าตั้งงบประมาณแผ่นดินไปจ่ายเรื่องนี้ ก็ติดคุกกันทั้งสภาฯ ถ้าผ่านกฎหมายงบประมาณ” อดีตรมช.มหาดไทยระบุ
แน่นอนว่าหากเป็นไปตามที่อดีตรมช.มหาดไทยผู้นี้ระบุ ก็จะกลายเป็นเกมเข้าทางบรรดา "นักร้อง" ชิงจังหวะผสมโรงยื่นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลังจากนี้เป็นได้
เห็นชัดจากกรณีที่ "สมชาย แสวงการ" อดีตสว.ออกโรงเตือน "นายกฯแพทองธาร" อาจผิดจริยธรรมร้ายแรง หากรัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชย
ดังนั้น งบประมาณมหาศาล 7.7 พันล้าน ที่ส่อแววกลายเป็น “ค่าโง่” นำมาซึ่งคำถาม ถึงแหล่งเงินจำนวนนี้ จะนำมาจากไหน
แม้แต่“ปกรณ์ นิลประพันธ์”เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังยอมรับว่า งบฯปกติ น่าจะไม่มี เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ได้ตั้งงบฯไว้ ไม่มีใครคิดว่าจะเกิด ฉะนั้นอีกหนึ่งทางออกที่ไม่ยากคือ การออกพ.ร.บ.โอนที่ธรณีสงฆ์ ทำกันบ่อย ๆ อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่เป็นข่าว
สอดคล้องกับ “กรมที่ดิน” ที่มีความพยายามในการเสนอทางออก
1.วัดให้เจ้าของที่ดินคนปัจจุบันเช่า ซึ่งถ้าเช่าเกินกว่า 3 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี ต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักพระพุทธศาสนา โดยข้อดี ของการเช่าในลักษณ์ดังกล่าวคือ ผู้เช่าสามารถอยู่อาศัยได้ต่อเนื่อง ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก
ส่วน “ข้อเสีย” คือ การเช่ามีระยะจำกัด ไม่เกิน 30 ปี หากผู้เช่าเสียชีวิต การเช่าจะถูกระงับ และไม่ได้กรรมสิทธิ
ประเด็นนี้สอดคล้องตามรายงานข่าว อ้างถึง กรรมการนิติบุคลหมู่บ้านราชธานี ( หมู่บ้านอัลไพน์เดิม ) ที่ล่าสุดได้รับหนังสือจากกรมที่ดินเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา ถึงลูกบ้านอัลไพน์ จำนวน 312 แปลง ให้นำหลักฐานที่เป็นโฉนดที่ดิน คืนกรมที่ดิน
โดยมีรายงานว่า “ลูกบ้าน”ได้รับความชัดเจนแล้ว และหลังจากนี้จะ“เช่า”ที่ดินต่อจากวัดธรรมิการาม ในราคาตารางวาละ 10 บาทต่อปี ดีกว่าต้องออกจากพื้นที่ ขณะที่ทางวัดยินดีให้ลูกบ้านอยู่ในพื้นที่ต่อ ส่วนค่าชดเชยทั้งตัวบ้าน ต้นไม้ ส่วนการต่อเติม และที่ดิน ต้องรอการชดเชยต่อไป
ส่วนสนามกอล์ฟอัลไพน์ หากเช่าวัดในราคาถูกและดำเนินธุรกิจต่อไปมองว่าคุ้มค่า
2.วัดขอออกหนังสือรับรองทรัพย์อิงสิทธิ ไม่เกิน 30 ปี ข้อดี คือ เจ้าของกรรมสิทธิอยู่อาศัยได้ต่อเนื่อง สามารถโอนสิทธิและจำนอง รวมถึงตกทอดทางมรดกได้
ส่วน ข้อเสีย คือ มีระยะจำกัด 30 ปี ต้องแบ่งแยกก่อนดำเนินการ ใช้ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ก่อตั้ง ไม่ได้กรรมสิทธิ แบ่งแยกไม่ได้ และค่าใช้จ่ายสูงกว่าการเช่า
และ 3.วัดโอนที่ดินโดยตราเป็น พ.ร.บ.ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2545 โดยให้เฉพาะบุคคลซึ่งได้สิทธิในที่ดินมาโดยสุจริต ข้อดี คือ ได้กรรมสิทธิ ข้อเสียคือ ขั้นตอนการดำเนินการมีความยุ่งยากใช้เวลานาน
โดยทางออกที่ 3 นี้เองที่เป็นไปตามที่ “เลขากฤษฎีกา” รวมหนึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พยายามเสนอทางออกเทียบกับโมเดลที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
เวลานี้ กรณีเพิกถอนที่ดินอัลไพน์ ที่เป็น “ข้อสรุป” แบบยังไม่สรุป100% เพราะยังเหลืออีกหลายขั้นตอนในการดำเนินการ ย่อมไม่พ้นถูกนำไปเปรียบเทียบกับกรณีพิพาท “เขากระโดง” ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) และกรมที่ดิน ที่ยังคงคาราคาซังอยู่ในชั้นศาลปกครอง หลังจาก รฟท.ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่เพิกถอนของอธิบดีกรมที่ดิน ซึ่งตามกระบวนการมีกรอบเวลา 60 วัน
ก่อนหน้านี้ มีความเห็นมาจากฝั่ง รฟท.เกี่ยวกับทางออกในเรื่องนี้ ในมุมของ“วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่า รฟท.ประเมินว่า หากถึงที่สุดการรถไฟเป็นฝ่ายชนะ กรมที่ดินจะต้องเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกทับซ้อนในบริเวณดังกล่าว ส่วนประชาชนในพื้นที่พิพาท สามารถ“ขอเช่าที่ดิน”เพื่อใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
สอดคล้องกับ แหล่งข่าวจาก“กรมที่ดิน” เคยให้ข้อมูลเมื่อครั้ง “ทรงศักดิ์ ทองศรี” รมช.มหาดไทย นำขณะลงพื้นที่ดูแนวเขตเขากระโดง เมื่อช่วงปลายเดือน ธ.ค.2567 โดยระบุว่า หากถึงที่สุด ฝั่งกรมที่ดินแพ้ จะต้องเข้าสู่ขั้นตอนในการเพิกถอนเอกสารสิทธิ
ส่วนประชาชนในพื้นที่พิพาทคงไม่มีการรื้อถอน เพราะสิ่งที่จะตามมา คือ ค่าชดเชยจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะพื้นที่ในส่วนที่มีความเชื่อมโยงกับธุรกิจ“บ้านใหญ่เมืองบุรีรัมย์”
ฉะนั้นทางออกในเรื่องนี้ จึงอยู่ที่ การให้ประชาชน “เช่าที่ดิน” เพื่อใช้ประโยชน์แทน
ภายใต้บริทบทในเรื่อง“ความต่าง”ของทั้ง 2 กรณี ก็ยังมี “ความเหมือน”กันในหลายกรณี โดยเฉพาะเม็ดเงินจำนวนมหาศาลจากข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ทุกบาททุกสตางค์ล้วนมาจากงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน