16 ปี จุดเริ่มต้น สู่ฉากจบ ? 'เสื้อแดง' แตกแยก-แยกทาง

จาก“คนเสื้อแดง”ที่เคยแข็งแกร่ง ก่อร่างสร้างตัวมาด้วยอุดมการณ์ที่แรงกล้า จนเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคมาตั้งแต่ไทยรักไทย ทว่า การต่อสู้ทางการเมืองที่มี“ทักษิณ”เป็นเสมือนตัวแทนพรรค มาถึงวันนี้ ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
KEY
POINTS
- ผ่านมาแล้ว 16 ปี จาก “กลุ่มคนรักทักษิณ” สู่องค์กร นปก.-นปช. ที่สวม“เสื้อแดง”เป็นสัญลักษณ์ ก่อนจะเดินมาถึงวันล่มสลายทางอุดมการณ์
- แม้ “จตุพร” และ “ณัฐวุฒิ” จะไม่ใช่ทุกอย่างของ องค์กรนปช.-คนเสื้อแดง แต่การแตกแยกของ “แกนนำ” ทำให้แรงขับเคลื่อนคนเสื้อแดงมีน้อยลง
- จาก“คนเสื้อแดง”ที่เค
ดราม่าป้าเสื้อแดงขว้างขวดน้ำขึ้นเวทีหาเสียงนายก อบจ.มหาสารคาม ขณะที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตผู้นำทางจิตวิญญาณคนเสื้อแดง กำลังปราศรัย ระบายความโกรธเคืองที่ครอบครัวได้รับผลกระทบ ทำให้ต้องย้อนกลับไปดูว่า จากจุดเริ่มต้นของคนเสื้อแดง จนถึงวันนี้ พวกเขาเป็นอย่างไร
ผ่านมาแล้ว 16 ปี จาก “กลุ่มคนรักทักษิณ” สู่องค์กร นปก.-นปช. ที่สวม“เสื้อแดง”เป็นสัญลักษณ์ ก่อนจะเดินมาถึงวันล่มสลายทางอุดมการณ์ ภายหลัง “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร เปิดดีลไปตามการเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์การเมืองไทย
จุดเริ่มต้นของ “คนเสื้อแดง” มาจากการรวมตัวกันของ “ไข่มุกดำ” วีระกานต์ มุสิกพงศ์ “ตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ “เต้น” ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ “จักรภพ เพ็ญแข” ตั้งบริษัทพีทีวี ทำช่องทีวีดาวเทียม และพัฒนาไปสู่ม็อบพีทีวี สู้เพื่อ “ทักษิณ”
ช่วงตั้งไข่ “ม็อบพีทีวี” มี “ครูใหญ่” ค่ายสีน้ำเงิน ขณะนั้นเป็นมันสมองของ “นายใหญ่” ช่วยระดมมวลชน เกณฑ์สาวกเข้ามาชุมนุมในเมืองหลวง
ปี 2551 ม็อบพีทีวีได้ยกระดับเป็น “แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ” (นปก.) และตอนเปิดยุทธการบุก “สี่เสาเทเวศร์” ของ “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นหัวขบวนกลุ่มอนุรักษ์ ม็อบพีทีวียังไม่ได้สวมเสื้อแดง แต่ใช้ผ้าโพกหัวสีเหลือง
ปี 2552 ยุบ นปก. และจัดตั้งองค์กรใหม่ “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” (นปช.) ภายใต้การสนับสนุนของ “ทักษิณ” เหมือนเดิม เปิดยุทธการโค่นอำมาตย์ กลางปี 2552 โดยเปลี่ยนชื่อเป็น นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ถือเป็นยุคทองของคนเสื้อแดง ที่มี “ตู่-เต้น” เป็นตัวละครหลัก
ปี 2552-2553 “คนเสื้อแดง” ปักหลักสู้กับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตาต่อตาฟันต่อฟัน แต่ต้องพ่ายแพ้ในศึกสลายชุมนุมที่ราชประสงค์ในปี 2553 และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ขบวนการ นปช. เกิดความขัดแย้งทางความคิด หลายกลุ่มเริ่มไม่ยอมรับการนำของแกนนำบางคน
ทว่า “กลุ่มคนเสื้อแดง” ถูกแปลงสถานะจากมวลชนชุมนุม มาเป็นฐานเสียง-ฐานการเมืองให้กับ “ทักษิณ” จนกระทั่งการเลือกตั้งปี 2554
กระแสคนเสื้อแดงพุ่งสุดขีด สร้างประวัติศาสตร์พา “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นั่งเก้าอี้นายกฯ ทั้งที่เปิดตัวหาเสียงเพียง 49 วัน
เก้าอี้รัฐมนตรีชนวนแตกหัก
เมื่อ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” เข้าสู่อำนาจ “แกนนำเสื้อแดง” บางคนได้รับการปูนบำเหน็จ โดยเฉพาะ “เต้น” ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ รมช.พาณิชย์ ขณะที่แกนนำเสื้อแดงหลายคนถูกเมินเฉย จนนำมาสู่ความคับข้องใจ
ขณะที่ “แกนนำเสื้อแดง” ต้องช่วยกันประคับประคองรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หลังโดน “กลุ่ม กปปส.” เปิดเกมรุกตั้งม็อบ ก่อนจะชุมนุมจนนำมาสู่การรัฐประหารปี 2557
จุดเปลี่ยน-จุดแตกหักของ “แกนนำเสื้อแดง” ภายในองค์กรชื่อ นปช. เริ่มต้นขึ้น เมื่อแกนนำต่างทยอยขึ้นศาลในคดีค้างเก่าสมัยยุทธการโค่นอำมาตย์ และบางส่วนต้องเข้าไปใช้ชีวิตในเรือนจำ
“นี่คือสิ่งที่เรียกว่ารางวัลของนักต่อสู้ มีคุกตะราง มีชีวิต และท้ายที่สุดก็ล้มละลาย สำคัญสุดคือว่าเมื่อคดีถึงที่สุดก็ต้องน้อมรับคำตัดสิน” จตุพร กล่าวผ่านรายการลมหายใจของพีซทีวี เมื่อปี 2562
“ตู่-เต้น”วงแตก แยกทาง
ช่วงเลือกตั้งปี 2562 “จตุพร” ร่วมกับ “ยงยุทธ ติยะไพรัช” และ “สงคราม กิจเลิศไพโรจน์” ตั้งพรรคเพื่อชาติ ตามแผนแตกแบงก์พันของ “นายใหญ่”
ขณะนั้น “จตุพร” ยังปักหลักที่ชั้น 5 อิมพีเรียล ลาดพร้าว โดยมีสำนักข่าวพีซทีวี เป็นกระบอกเสียง ผลิตคอนเทนท์การเมือง ผ่านช่องยูทูบและทีวีดาวเทียม
หลังเลือกตั้ง “จตุพร” แยกทางจาก “ยงยุทธ-สงคราม” เพราะมีความขัดแย้งในพรรคเพื่อชาติ และหันไปทำสำนักข่าวพีซทีวี ที่ซอยนวลจันทร์
ด้าน “ณัฐวุฒิ” แยกไปเข้าสังกัดพรรคไทยรักษาชาติ แต่โดนคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคเสียก่อน บทบาทของเจ้าตัวจึงลดน้อยลงไป
หลังจากนั้น “ณัฐวุฒิ” พาแกนนำ นปช. อย่างธิดา-เหวง มาตั้งศูนย์ข่าวยูดีดีนิวส์ อยู่แถวเมืองนนทบุรี โดยจัดรายการทีวีออนไลน์ แพร่ภาพหลายช่องยูทูบ UDD news Thailand
แม้ “จตุพร” และ “ณัฐวุฒิ” จะไม่ใช่ทุกอย่างของ องค์กรนปช.-คนเสื้อแดง แต่การแตกแยกของ “แกนนำ” ทำให้แรงขับเคลื่อนคนเสื้อแดงมีน้อยลง
ปี 2565 “จตุพร” สลัดทิ้ง นปช.และคนเสื้อแดง หันไปจับมือทนายนกเขา-นิติธร ล้ำเหลือ จัดตั้งคณะหลอมรวมประชาชน จัดการชุมนุมใหญ่ขับไล่ประยุทธ์
ส่วน “ณัฐวุฒิ” และ “จาตุรนต์ ฉายแสง” เตรียมเปิดตัวพรรคเส้นทางใหม่ โดยมีการก่อสร้างสำนักงานพรรคในเนื้อที่ 2 ไร่ อยู่แถวปากเกร็ด
หลังกติกาเลือกตั้งเปลี่ยน จากบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบ “จาตุรนต์” ถอดใจ จึงล้มแผนสร้างพรรคเส้นทางใหม่ และหวนกลับเพื่อไทย เช่นเดียวกับ “ณัฐวุฒิ” ที่กลับไปรับตำแหน่ง ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย
“แดง” พ่ายกระแส “ส้ม”
อย่างไรก็ตาม ในเชิงยุทธศาสตร์การเมือง ช่วงกลางปี 2563 "รัฐบาลประยุทธ์ 1 " ได้มีการสลายกลุ่มคนเสื้อแดงในเชิงสัญลักษณ์
โดยจัดให้มีการคืนป้าย“หมู่บ้านเสื้อแดง” ทั่วประเทศ เปลี่ยนเป็น“เครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนคนท้องถิ่น เรารักประเทศไทย” โดยมีแรมโบ้อีสาน สุภรณ์ อัตถาวงศ์ อดีตแกนนำเสื้อแดง ที่มีตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นตัวแทน เดินสายรับคืนป้ายเดิม และมอบป้ายและธงหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนฯ ใหม่ เพื่อปูทางสำหรับพรรค“รวมไทยสร้างชาติ”ในเวลาต่อมา
แต่นั่นก็เป็นเพียงฉากการเมือง ขณะที่องคพยพของคนเสื้อแดงก็ยังมีอยู่ แม้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ตัดกลับมาปัจจุบัน ก่อนช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แต่งตั้ง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. เป็นผอ.ครอบครัวเพื่อไทย บริหารเวทีปราศรัยใหญ่ของครอบครัวเพื่อไทย เดินหน้าคู่ขนานพรรคเพื่อไทย
แกนนำพรรคเพื่อไทย อยากให้เหมือนปี 2554 ยุทธศาสตร์ 2 ขาคือ เพื่อไทย เดินคู่ขนาน นปช. จุดกระแสยิ่งลักษณ์ฟีเวอร์ ผลการเลือกตั้ง สส.ปี 2566 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว ยุทธศาสตร์ 2 ขาของเพื่อไทยนั้น ตกยุคตกสมัย
เนื่องจาก “คนเสื้อแดง” ได้สลายตัวตาม “แกนนำ” ที่แยกกันเดินคนละทาง แถมมีกระแสสีส้มที่โชว์จุดยืนทางการเมืองแข็งแรงกว่า ทำให้ผู้สมัคร สส.เพื่อไทยจำนวนมาก แพ้เลือกตั้งในสมรภูมิภาคเหนือ และภาคอีสาน
ผลจากการจับมือ “หัวขบวนอนุรักษ์” เพื่อให้ “ทักษิณ” กลับบ้านอย่างเท่ๆ ส่งผลให้แต้มการเมืองของ “พรรคเพื่อไทย” ลดน้อยลง แนวร่วม “คนเสื้อแดง” อุดมการณ์หันหลังให้
แนวทางการหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ. รอบนี้ “ทักษิณ” รู้ดีว่ากระแสคนเสื้อแดงปลุกยาก การปราศรัยจึงหันไปพูดการทำงานของรัฐบาลแพทองธาร
ว่ากันว่า ลำพังกระแส “คนเสื้อแดง” ในปีกกลุ่มรักทักษิณ ยากที่จะเอาชนะการเลือกตั้งนายก อบจ. ได้ในทุกจังหวัด การบริหารจัดการ “กระสุน” ในพื้นที่จึงเป็นปัจจัยที่ถูกพูดถึงมากที่สุด
ปรากฎการณ์ของ “ป้าอ้วน” ขว้างสิ่งของขึ้นบนเวทีขณะที่ “ทักษิณ” กำลังปราศรัยบนเวที จ.มหาสารคาม อาจบ่งบอกได้ว่าความไม่พอใจในตัวของ “ทักษิณ” ไม่ใช่เพิ่งเริ่มก่อตัวขึ้น
จาก“คนเสื้อแดง”ที่เคยแข็งแกร่ง ก่อร่างสร้างตัวมาด้วยอุดมการณ์ที่แรงกล้า จนเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคมาตั้งแต่ไทยรักไทย ทว่า การต่อสู้ทางการเมืองที่มี“ทักษิณ”เป็นเสมือนตัวแทนพรรค มาถึงวันนี้ ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป