กทม.พร้อมเปิดจดทะเบียน 'สมรสเท่าเทียม' 23 ม.ค. ก้าวสำคัญ คนเท่ากัน

'ชัชชาติ' ย้ำ กทม.พร้อมให้บริการจดทะเบียน 'สมรสเท่าเทียม' 50 เขต 23 ม.ค.นี้ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย หลังกฎหมายมีผลใช้บังคับ ชี้เป็นก้าวสำคัญ คนเท่ากัน
เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2568 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เปิดเผยถึงความพร้อมในการให้บริการจดทะเบียนสมรสตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่จะมีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 ม.ค. 68 ว่า ขณะนี้กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีความพร้อมเต็มที่ในการให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ เพราะว่าโดยหลักการแล้วเป็นการจดทะเบียนสมรสเหมือนปกติทั่วไป เป็นหลักการเดียวกันที่ทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน สิ่งที่สำคัญคือรายละเอียดของสิทธิต่าง ๆ ภายหลังจากการจดทะเบียนสมรสแล้ว เช่น หากเป็นข้าราชการภายหลังจดทะเบียนสมรสแล้วจะมีสิทธิการลา การเบิกค่ารักษาพยาบาล เป็นอย่างไรบ้าง เป็นต้น ซึ่งต้องดูให้ละเอียด
ในส่วนของการให้บริการประชาชน กรุงเทพมหานครได้มีการอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมไปแล้ว เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องให้ความใส่ใจ รวมถึงเรื่องการใช้คำพูดต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของคนที่แตกต่างและมีความหลากหลาย ซึ่งคำพูดที่ใช้ในกลุ่มเพื่อนกับคำพูดที่ใช้ในการให้บริการย่อมแตกต่างกัน ได้มีการเน้นย้ำในเรื่องนี้เพราะมีความละเอียดอ่อน ต้องให้มีความเข้าใจกันในการให้บริการ
“การจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมในวันพรุ่งนี้ (23 ม.ค. 68) ถือเป็นก้าวสำคัญเพราะเป็นวันแรกที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ แต่หลังจากนี้ก็จะเหมือนการจดทะเบียนสมรสทั่วไป และทุกคนก็จะเหมือนกัน เท่าเทียมกัน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย
วันเดียวกัน พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครพร้อมให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมครั้งประวัติศาสตร์และครั้งแรกในประเทศไทยที่มีผลทางกฎหมายอย่างแท้จริง ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่จะมีผลใช้บังคับในวันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม 2568
โดย สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานคร มีความพร้อมในทุกด้านในการให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมแก่ประชาชนในวันพรุ่งนี้ (23 ม.ค. 68) ตั้งแต่เวลา 08.00 - 16.00 น. ซึ่งหลายสำนักงานเขตได้จัดเตรียมของที่ระลึก เพื่อร่วมแสดงความยินดีและเฉลิมฉลองให้กับทุกความรักที่ได้รับความเท่าเทียมครั้งประวัติศาสตร์นี้ด้วย
นอกจากนั้น กรุงเทพมหานครยังได้ร่วมจัดงานและให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมที่สยามพารากอน เป็นกรณีพิเศษ โดยเปิดให้บริการเวลา 08.00 - 18.00 น. ซึ่งจะมีสำนักงานเขตปทุมวันเป็นหน่วยงานหลักและประสานความร่วมมือกับสำนักงานเขตที่เกี่ยวข้อง 3 - 4 เขต มาร่วมให้บริการ มีการจัดเตรียมแบบฟอร์ม อุปกรณ์ และสัญญาณการสื่อสาร เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในส่วนของกิจกรรม “Marriage Equality - สมรสเท่าเทียม” ณ Paragon Hall ชั้น 5 สยามพารากอน เขตปทุมวัน จะจัดขึ้นในวันที่ 23 มกราคม 2568 ตั้งแต่เวลา 10.00 - 22.00 น. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้พบกับพิธีจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมครั้งแรก เสวนาเกี่ยวกับการสร้างครอบครัวหลากหลาย นิทรรศการเส้นทางสู่สมรสเท่าเทียม มินิคอนเสิร์ตจากศิลปินแนวหน้า และงานเฉลิมฉลองบนพรมแดงสีรุ้ง Pride Carpet สัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจและการยอมรับ พร้อมแสดงออกถึงตัวตนผ่านการแต่งกายที่สะท้อนอิสรภาพทางความคิดและจิตวิญญาณแห่งความรัก
คุณสมบัติของผู้จะจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมมีดังนี้
1. บุคคลทั้งสองจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ กรณีผู้เยาว์ต้องนำบิดามารดาหรือผู้ปกครองมาให้ความยินยอมด้วย กรณีอายุต่ำกว่า 18 ปี จะต้องได้รับอนุญาตจากศาล
2. ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือไร้ความสามารถ
3. ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดามารดา
4. ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น
5. ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้
6. หญิงที่ชายผู้เป็นคู่สมรสตาย หรือการสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อสิ้นสุดการสมรสไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่ คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้ มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ สมรสกับคู่สมรสเดิม
สำหรับเอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม กรณีคนไทยกับคนไทย ประกอบด้วย บัตรประจำตัวประชาชน หรือยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD กรณีคนไทยกับคนต่างชาติ เอกสารประกอบด้วย บัตรประจำตัวประชาชนคนไทย หรือยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD หนังสือเดินทางคนต่างชาติ หนังสือรับรองสถานภาพการสมรสที่แสดงว่าไม่มีคู่สมรสในขณะที่จะจดสมรส และกรณีคนต่างชาติกับคนต่างชาติ เอกสารประกอบด้วย หนังสือเดินทาง และหนังสือรับรองสถานภาพการสมรสที่แสดงว่าไม่มีคู่สมรสในขณะที่จะจดสมรส ทั้งนี้ การจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม ทั้ง 3 กรณี จะต้องมีพยาน 2 คน ซึ่งเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ