ดีเดย์ ‘ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด’ แก้ฝุ่นพิษ ก่อนปิดสภาฯ เม.ย.

ดีเดย์ ‘ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด’  แก้ฝุ่นพิษ ก่อนปิดสภาฯ เม.ย.

1ปี ผ่านไป "กมธ.อากาศสะอาด" ง่วนกับการ ยำรวม ร่างกม.อากาศสะอาด ที่สภาฯรับหลักการ 7ฉบับ ดีเดย์จะส่งสภาฯ ให้พิจารณา กลาง ก.พ.นี้ ต้องจับตาให้ดี เพราะเนื้อหาของร่างกม. มีผลทำให้ "มีคนได้-มีคนเสีย"

KEY

POINTS

เป็นฤดูกาล “ฝุ่น” ประจำภูมิภาค ที่ช่วงนี้ “กทม. และ จังหวัดปริมณฑล” ต้องเผชิญกับภาวะฝุ่นพิษ แม้จะมีความพยายามแก้ไขปัญหา โดยใช้อำนาจของท้องถิ่น แต่ยังไม่เห็นวี่แววที่จะคลี่คลายภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นได้

ทำให้มีคำถามจากสังคมว่า “การตรากฎหมายเพื่ออากาศสะอาด” ในเดือน ม.ค.ของปีที่แล้ว สภาฯ ได้ลงมติรับหลักการร่างกฎหมายที่เสนอโดย สส.และภาคประชาชน รวม 7 ฉบับ มีความคืบหน้าอย่างไร หลังให้คณะกรรมาธิการวิสามัญที่มี “จักรพล ตั้งสุทธิธรรม” ผู้ช่วย รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน กมธ. ไปทำงาน ผ่านมาแล้ว 1 ปี มีความคืบหน้าอย่างไร

ล่าสุด ความคืบหน้าของการทำงานของ “ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์” นักวิชาการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ในฐานะกมธ.เปิดเผยว่า กมธ. ได้ผ่านการพิจารณาเนื้อหาแล้ว 7 หมวด จากที่มีทั้งสิ้น 10 หมวด เบื้องต้นจะใช้เวลาเพื่อพิจารณาเนื้อหา ทบทวนรายละเอียดทั้งฉบับ ก่อนส่งให้สภาฯ พิจารณาในวาระสอง และวาระสาม กลางเดือน ก.พ.นี้ หากเป็นไปตามไทม์ไลน์นี้ ร่างกฎหมายผ่านสภาฯ ได้จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภา ที่คาดว่าจะอยู่ในช่วงเดือน มี.ค.

ดีเดย์ ‘ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด’  แก้ฝุ่นพิษ ก่อนปิดสภาฯ เม.ย.

“ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน วุฒิสภามีเวลาพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน และขณะนี้ สว.ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาล่วงหน้าแล้ว ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าก่อนที่สภาฯ จะปิดสมัยประชุมช่วง 9 เม.ย.นี้ ร่างพ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด จะผ่านกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติได้” ดร.บัณฑูร ระบุ

หากนับปฏิทินดูแล้ว จากวันนี้ไปจนถึงกลางเดือน ก.พ. “กมธ.อากาศสะอาด” ยังมีเวลาทำงานอีกราวๆ สัปดาห์ ที่ผ่านมามีการประชุมไปแล้ว 53 ครั้ง และเตรียมนัดประชุมครั้งที่ 54 และ 55 ในปลายสัปดาห์นี้ และต้นสัปดาห์หน้า

สำหรับเนื้อหาของการจัดทำกฎหมายฉบับนี้ พบว่ามีระดับที่เรียกว่า ต้องใช้ความละเอียดและรอบคอบ เพราะต้องนำบทบัญญัติของร่างพ.ร.บ.บริหารจัดการอากาศสะอาดที่ “สภาฯ” ลงมติรับหลักการด้วยเสียงเอกฉันท์ 443 เสียง ทั้ง 7 ฉบับ มา “ยำรวม” เพื่อออกแบบให้เป็นร่างกฎหมายที่บังคับใช้ได้จริง ลดปัญหาฝุ่นพิษได้อย่างจริง และเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนไม่ใช่ แก้ได้แค่เป็นครั้งเป็นคราว 

ดีเดย์ ‘ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด’  แก้ฝุ่นพิษ ก่อนปิดสภาฯ เม.ย.

โดยร่างกฎหมายทั้ง 7 ฉบับที่เสนอต่อสภาฯ นั้น ประกอบด้วย ร่างพ.ร.บ.เพื่ออากาศสะอาด ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน เสนอโดย อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเสนอโดย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ พรรคเพื่อไทย

ร่างพ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ เสนอโดย คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 22,251 คน ร่างพ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด เสนอโดย ตรีนุช เทียนทอง พรรคพลังประชารัฐ ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาอากาศเพื่อสุขภาพ เสนอโดย ร่มธรรม ขำนุรักษ์ พรรคประชาธิปัตย์ และ ร่างพ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดนเสนอโดย ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ จากพรรคประชาชน

แม้จะมีเจตนาเดียวกันคือ เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศที่จะเป็นผลเสียต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน แต่รายละเอียดของเนื้อหานั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งที่ผ่านมา กมธ.ฯ ได้ตั้งคณะอนุกมธ. ขึ้นมา 2 ชุด เพื่อพิจารณาเนื้อหา คือ

1.อนุกมธ.พิจารณาความรับผิดทางกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายของร่างพ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด 

และ 2.อนุกมธ. พิจารณากรอบคิด หลักการสำคัญ และโครงสร้างการบริหารของร่างพ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด

ดีเดย์ ‘ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด’  แก้ฝุ่นพิษ ก่อนปิดสภาฯ เม.ย.

โดยอนุกมธ.ฯ ทั้ง 2 ชุด ได้ทำงานคู่ขนานกับ กมธ.คณะใหญ่ เพื่อนำผลการพิจารณาบทบัญญัติไปเสนอและถกกันในที่ประชุมกมธ.ชุดใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาการทำงานเป็นไปด้วยความราบรื่น มีการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและออกแบบให้เป็น “กติกา” ที่จะบังคับใช้ในอนาคต

ขณะที่การทำงานภายใต้ “กมธ.ชุดใหญ่” ที่ต้องพิจารณาเนื้อหาทั้งฉบับนั้น “ดร.บัณฑูร” ระบุในสาระสำคัญที่ กมธ.ลงมือออกแบบไว้ คือ กำหนดเครื่องมือให้หน่วยงานได้ทำงาน และทำหน้าที่ป้องกันฝุ่นพิษ ไม่ใช่เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ตั้งรับ รอปัญหามาแล้วถึงแก้ไข

“สาระสำคัญคือ ต้องลดสาเหตุของการเกิดฝุ่นพิษ ซึ่งจัดอยู่ใน 6 สาขา คือ สาขาเกษตร สาขาป่าไม้ สาขาอุตสาหกรรม สาขาคมนาคม สาขาเมือง และฝุ่นข้ามแดน ซึ่งไม่ใช่การเน้นแก้ปลายทาง เช่น สร้างห้องปลอดฝุ่น เอาน้ำฉีดดับไฟ เป็นต้น ซึ่งแต่ละสาขานั้นปัจจุบันมีหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว เช่น กรรมการข้าว กรรมการอ้อยและน้ำตาลแห่งชาติ จึงใช้กลไกที่มีอยู่เพื่อทำงาน โดยกฎหมายนี้จะเป็นเครื่องมือให้ทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งดีกว่าออกคำสั่ง ห้ามเผา หรือ เผาแล้วจับ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาไม่ได้” ดร.บัณฑูร ระบุ

นอกจากจะมีเครื่องมือให้ “หน่วยงานปัจจุบัน” ได้ทำงานเพื่อแก้ปัญหาเชิงรุกแล้ว ตัวร่างกฎหมายยังกำหนดให้มี “กองทุนอากาศสะอาด” เพื่อนำไปเป็นแหล่งทุนที่จะพัฒนา และต่อยอดการแก้ปัญหาเชิงรุกให้ได้ผลเป็นรูปธรรม

เมื่อมีกฎหมาย ที่เป็นกติกาบังคับใช้ ให้การแก้ปัญหาบรรลุผล และช่วยให้ประชาชนปลอดภัยจาก “ฝุ่นพิษ” แล้ว ที่ขาดไม่ได้ในเนื้อหาคือ การเขียนบทลงโทษ ซึ่ง​ “ดร.บัณฑูร” ระบุว่าอยู่ในหมวดท้าย ที่คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาในที่ประชุมอีก 4 ครั้ง จะแล้วเสร็จ ก่อนที่ประชุมจะทบทวนเนื้อหา คำถูกคำผิดอีกครั้ง และเสนอต่อสภาฯ ได้ตามปฏิทินที่กำหนดไว้

สำหรับเนื้อหาอื่นๆ ที่อยู่ในความสนใจ คือ มาตรการเชิงลงโทษที่จะมีต่อผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ที่ขณะนี้ กมธ.ฯ ได้พิจารณาเนื้อหาในภาพกว้าง และกำหนดโทษทางอาญาต่อบุคคลที่ฝ่าฝืน รวมไปถึงการกำหนด “ค่าธรรมเนียมอากาศสะอาด” ในสินค้าประเภทต่างๆ ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ หรือฝุ่นพิษ 

ดีเดย์ ‘ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด’  แก้ฝุ่นพิษ ก่อนปิดสภาฯ เม.ย.

แม้ว่ากมธ.ชุดใหญ่จะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่มีกรอบเบื้องต้นที่วางไว้คือ สินค้าประเภทใดที่ปล่อยมลพิษสู่อากาศ ซึ่งจะต้องกำหนดเป็นบัญชีแนบท้ายเป็นรายการสินค้า ต้องเสียค่าธรรมเนียม เช่นเดียวกันการควบคุม การปล่อยฝุ่นพิษจากการคมนาคม ที่ให้หน่วยงานที่กำกับสามารถประกาศพื้นที่เฉพาะจุด เพื่อปล่อยมลพิษต่ำได้ ดังนั้นในร่างกฎหมายจะมีรายละเอียดทั้งที่เป็นมาตรการลงโทษ และ มาตรการอุดหนุนส่งเสริมควบคู่กันไป

ดังนั้น ต้องจับตาการทำงานของกมธ.อากาศสะอาดอีกครั้งว่า ตามแผนการทำงานที่ต้องเข็น ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ให้ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ ก่อนปิดสมัยประชุม 9 เม.ย.นี้ จะสามารถทำได้ทันหรือไม่ 

ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมว่า การกำหนดมาตรการต่างๆ ในกฎหมาย ล้วนมีผู้ที่ได้รับผลกระทบ และมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อาจเกิดปรากฏการณ์ “ขวาง” ในชั้นสุดท้าย จนอาจทำให้ร่างกฎหมายเพื่ออากาศสะอาด เข็นไปไม่ถึงปลายทาง.