'ปธ.กมธ.อากาศสะอาด' เผยพิจารณาคืบ 85% มั่นใจ ก.พ.นี้ ส่งสภาพิจารณาวาระ 2-3

"จักรพล" เผย พิจารณาร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด คืบ 85% เหลือบางมาตราที่ต้องลงมติ ยืนยัน ก.พ.นี้ ส่งสภาฯ พิจารณาวาระ 2-3 ได้
ที่รัฐสภา นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างพ.ร.บ. หลังจากที่ กมธ.ใช้เวลาพิจารณาแล้ว 1 ปี ว่า ขณะนี้มีความคืบหน้า 85% โดยได้พิจารณาครบทุกมาตรา โดยนำสาระของบทบัญญัติ ที่ระบุไว้ในร่างกฎหมายที่เสนอทั้ง 7 ฉบับมาพิจารณา และในการประชุม กมธ. วันนี้ (24 ม.ค.68) จะพิจารณามาตราที่ กมธ.เว้นไว้ ทั้งนี้จะมีบางมาตรการที่ต้องลงมติในส่วนที่ กมธ.เห็นต่าง เช่น เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ว่าจะต้องไปเป็นกองทุนหรือไม่ จัดการอย่างไร ใครจะเป็นเจ้าภาพ และในเรื่องของกรรมการจังหวัดจะต้องพิจารณาว่าจะเป็นกรณีใดๆ
นายจักรพล กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอต่อการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ ซึ่งสภาฯ ได้อภิปราย เมื่อวันที่ 23 ม.ค.68 นั้น ขอย้ำว่าทุกความเห็นในสิ่งที่เป็นประโยชน์ถึงหูรัฐบาลแน่นอน และจะนำไปใช้ นำไปปรับปรุงให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งงบประมาณ และช่วงเวลา ดังนั้นทุกความเห็น หรือ ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ กมธ.นำมาบรรจุในร่างพ.ร.บ.และเป็นแนวทางในการปฏิบัติของรัฐบาลแน่นอน และหากไม่สะดุดอะไร บวกกับสถานการณ์ หวังว่า ร่างพ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด จะบรรจุเป็นวาระเร่งด่วนเข้าสภาฯ ในวาระ 2 และ 3ได้ ในช่วงเดือน ก.พ.นี้
ทางด้าน นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.พรรคประชาชน ฐานะ กมธ.ฯ อากาศสะอาด กล่าวด้วยว่า สำหรับการพิจารณาเนื้อหาได้นำจุดเด่นของร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอแต่ละฉบับมาพิจารณา เช่น กองทุนอากาศสะอาด ที่กำหนดให้ผู้ที่ก่อมลพิษจะต้องจ่ายค่าปรับ และค่าธรรมเนียม เพื่อเป็นทุนเข้ากองทุน และนำไปแก้ไขปัญหาอากาศสะอาด ในกรณีที่งบรายจ่ายประจำหรืองบกลางไม่สามารถนำมาใช้ได้ทันท่วงที ส่วนปัญหาฝุ่นข้ามแดนนั้นแม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายห้ามนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่กฎหมายฉบับนี้จะเป็นคู่มือการทำงานให้รัฐบาลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในการจัดการสินค้าที่ก่อให้เกิดมลพิษจากประเทศอื่น ซึ่งผู้ประกอบการเป็นคนไทย และนำเข้ามา นอกจากนี้เรื่องบทลงโทษจะมีความชัดเจน
"การจัดทำร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดส่วนใหญ่ กมธ.เห็นไปในทิศทางเดียวกัน หากมีประเด็นใดที่เห็นต่างจะมีอนุ กมธ. เชิญหน่วยงานมาศึกษาข้อเท็จจริง เพื่อนำความเห็นมาเสนอต่อที่ประชุมชุดใหญ่ หลังจากนี้หากมีประเด็นที่เห็นต่างก็จะมีการลงมติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนเนื้อหาสาระตั้งแต่มาตราที่ 1-100 ทั้งนี้ในส่วนของคณะกรรมการตามร่าง พ.ร.บ. ว่ามีตั้งแต่คณะกรรมการระดับชาติ คณะกรรมการกำกับ คณะกรรมการจังหวัดจะดูแลปัญหาภายในจังหวัดรวมไปถึงท้องถิ่น กลไกการสั่งงานจะเริ่มตั้งแต่คณะกรรมการส่วนบนลงล่าง" นายภัทรพงษ์ กล่าว.
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์