'พงศ์เทพ เทพกาญจนา’ ในภารกิจบ้านพิษฯ โฟกัสเศรษฐกิจ โอกาสรัฐบาล

"พงศ์เทพ เทพกาญจนา" อดีตรองนายกฯ เป็น 1 ใน 5 คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงภารกิจของทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก รวมทั้งประเมินฉากทัศน์โอกาสที่คนไทยจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่าน ส.ส.ร.
KEY
POINTS
- "พงศ์เทพ เทพกาญจนา" อยู่ในวงการการเมืองมา 30 ปี เริ่มเข้าการเมืองกับพรรคพลังธรรมเป็นพรรคแรก ในยุคที่มี "ทักษิณ ชินวัตร" เป็นหัวหน้าพรรค ผ่านการชักชวนของ “พีระพงศ์ ถนอมพงษ์พันธ์” อดีต สส.กทม. พรรคพลังธรรม
- เคยผ่านการเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ยกร่างรัฐธรรมนูญที่ทำให้พรรคการเมืองเก
"ท่านนายกฯ ก็ใช้เวลาอยู่กับเราหลายชั่วโมง โดยปกติมาประชุมกันแต่ละครั้ง อยู่ 1 ชั่วโมง 2 ชั่วโมง อาจจะมีความแตกต่างของคณะที่ปรึกษาระหว่างท่าน พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งต้องการคนรุ่นใหม่ ส่วนนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร คนรุ่นใหม่ก็อาศัยคนรุ่นมีประสบการณ์เข้ามาช่วยเสริม"
พงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตผู้พิพากษา ซึ่งเป็น 1 ใน 5 คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ให้สัมภาษณ์พิเศษผ่าน "กรุงเทพธุรกิจ" ถึงการทำงานในทีมที่ปรึกษาให้กับนายกฯ ทีมบ้านพิษณุโลก ที่ถูกรื้อฟื้นกลับมาในยุคนี้
จากผลของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 317/2567 เรื่องแต่งตั้งคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ทันทีที่ “แพทองธาร” เข้ามารับตำแหน่งนายกฯ โดยคณะที่ปรึกษาชุดนี้ นำโดย พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษา นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษา รวมทั้งมีที่ปรึกษา ประกอบด้วย ศุภวุฒิ สายเชื้อ ธงทอง จันทรางศุ และพงศ์เทพ เทพกาญจนา
ส่วนเบื้องหลังการถูกดึงมาเป็นคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ นั้น “พงศ์เทพ” ระบุว่า ตอนที่นายกฯแพทองธาร ขึ้นมาบริหาร ก็มีผู้ติดต่อ ซึ่งตนเองรู้จักคุ้นเคยท่านนี้มานาน และส่วนตัวก็คุ้นเคยกับคณะที่ปรึกษาชุดนี้ทั้งหมด ซึ่งตนเองก็คุ้นเคยกับนายธงทอง เพราะเป็นนักกฎหมายเคยเป็น ส.ส.ร.เมื่อปี 2540 มาด้วยกัน
“สมัยรัฐบาลไทยรักไทย อาจารย์พันศักดิ์ ก็เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำกับรัฐบาลต่างๆ ผมก็คุ้นเคยกับท่าน แล้วก็เป็นรุ่นน้องท่าน สมัยที่ท่านเรียนหนังสืออยู่โรงเรียนเดียวกัน แต่ไม่ทันกัน ท่านรุ่นก่อนผมเยอะ แต่ก็เป็นนักเรียนเก่าวชิราวุธ ด้วยกัน”
โฟกัสผลกระทบรายจ่ายภาครัฐ
สำหรับหน้าที่ของที่ปรึกษานโยบายของนายกฯแพทองธาร จะให้คำปรึกษาในเรื่องภาพรวมนโยบาย หรือเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายเป็นหลัก โดย “พันศักดิ์” เป็นผู้หนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญ ในการสร้างรายได้
“ศุภวุฒิ” เป็นนักเศรษฐศาสตร์ จะช่วยดูเรื่องตัวเลข “นพ.สุรพงษ์” จะดูการขับเคลื่อนเรื่องซอฟต์พาวเวอร์เพื่อทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และรายได้รวมของประเทศ
ขณะที่ “ธงทอง” ก็จะดูเรื่องผลของการสร้างรายได้ ที่จะทำให้ภาคประกอบการด้านธุรกิจมีขั้นตอนอุปสรรคต่างๆ ให้ง่ายขึ้นและดูเรื่องการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการด้วย
"คณะที่ปรึกษากำลังให้ความสนใจเรื่องรายจ่ายภาครัฐ ที่แต่ละปีต้องใช้จ่ายถึงร้อยละ 40 ของงบประมาณแผ่นดินในเรื่องค่าใช้จ่ายบุคลากรของรัฐ ทั้งเงินเดือน บำเหน็จ บำนาญ สิทธิประโยชน์ต่างๆ และกรณีเงินบำเหน็จบำนาญก็มีอัตราที่เพิ่มสูงมากในเฉลี่ยปีละร้อยละ 10 เพราะหากงบฯรายจ่ายประจำสูงมาก ก็จะไปกระทบต่องบฯ ลงทุน ในการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือสร้างสาธารณูปโภคพื้ฐานหรือสร้างอะไรใหญ่ๆ"
"พงศ์เทพ" ขยายความว่า "ผมเข้าไปดู ก.พ. กพร. และกรมบัญชีกลางมาดู ยังไม่ได้เสนอคณะที่ปรึกษา แต่เราเห็นตัวอย่างของค่าใช้จ่าย พวกนี้เป็นค่าใช้จ่ายประจำต่อเนื่อง ทุกปีไปตลอด ค่าใช้จ่ายประจำถ้าสูงมากจะไปกินกับงบลงทุน
ปัด "ทักษิณ" ชักใยกุนซือนายกฯ
อีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องซุบซิบหลังม่านการเมือง พงศ์เทพ ยืนยันว่า “นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ไม่เคยเข้ามายุ่งอะไรกับคณะที่ปรึกษาชุดนี้ ท่านไม่เคยมายุ่งอะไรเลย ตอนติดต่อทาบทาม ก็เป็นท่านอื่นไม่ได้เกี่ยวกับท่านทักษิณเลย เท่าที่ดูบทบาทของท่าน ท่านมีประสบการณ์การคิด แก้ไขปัญหาให้ประเทศ แล้วท่านก็จะแสดงความเห็นของท่านให้รัฐบาลทราบ โดยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะพูดออกสื่อสาธารณะต่างๆ ท่านไม่มีความจำเป็นต้องมาบอกทางคณะที่ปรึกษาเลย” เคลียร์ข้อครหา ที่อดีตนายกฯ มีบทบาทอยู่เบื้องหลังในการตั้งทีมบ้านพิษฯ ยุคนี้
“พงศ์เทพ” ย้ำว่า “ทุกรัฐบาลไปดูดิครับ ถ้ามีแนวความคิดดี ๆ ในการทำให้ประเทศก้าวหน้าไปได้ ไม่ว่าความคิดนั้นจะมาจากใคร รัฐบาลทั้งหลายต้องหยิบความคิดเหล่านั้นมาดำเนินการเกือบทั้งสิ้น ท่านนายกฯ ทักษิณเป็นผู้มีประสบการณ์เยอะ ท่านเองได้รับการยอมรับสมัยผมจำได้ สมัยประธานาธิบดีอากีโน เรียกการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในสมัยนั้นว่า ทักษิโณมิกส์ เพราะฉะนั้นความเห็นท่านทักษิณที่พูดออกมาทางสื่อ ถ้ารัฐบาลจะนำไปใช้ก็เป็นเรื่องปกติ”
"อย่างกรณีนายกฯ มาเลเซีย ตั้งท่านทักษิณเป็นที่ปรึกษา แสดงว่าท่านเหล่านั้นเห็นว่าความเห็นของท่านทักษิณเป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นความเห็นท่านทักษิณที่พูดออกมาทางสื่อ ถ้ารัฐบาลจะนำไปใช้ก็เป็นเรื่องปกติ
ผลงานฟื้นเศรษฐกิจ โอกาสพท.ที่ 1
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พงศ์เทพห่างหายไปจากจอเรดาร์การเมือง หลังจากตัดสินใจลาออกสมาชิกพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 2564 เรื่องนี้ เจ้าตัวบอกเล่าถึงเหตุผลว่า ตนเองอยู่การเมืองมานานกว่า 30 ปีตั้งแต่ปี 2538 ลงสมัครรับเลือกตั้งกับพรรคพลังธรรม ที่ขณะนั้นมี “ทักษิณ ชินวัตร” เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค ผ่านการชักชวนของ “พีระพงศ์ ถนอมพงษ์พันธ์” อดีต สส.กทม. พรรคพลังธรรม
“พออายุเริ่มจะมากขึ้น เราก็เห็น คนรุ่นใหม่ๆ ที่เข้ามาทำงานการเมืองเยอะกว่าสมัยรุ่นผมนะ ช่วงหลังเราเห็น คนที่อายุน้อยลงมีความสนใจทางการเมือง แล้วเข้ามาในการเมืองมากขึ้น ก็คิดว่า ตอนนั้นก็คิดว่าถึงเวลา คิดว่าก็น่าจะถอยจากการเมืองได้ เพราะว่าทำมานานแล้ว”
เมื่อย้อนกลับไปยังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2566 พรรคเพื่อไทย ต้องเผชิญกับการแพ้เลือกตั้งเป็นครั้งแรก เพราะฐานเสียงถูกแบ่งคนละครึ่งไปให้กับพรรคก้าวไกลที่ชนะเลือกตั้งนั้น พงศ์เทพ ประเมินถึงโอกาสของพรรคเพื่อไทยจะกลับมาครองความนิยมเหมือนในอดีตได้หรือไม่ว่า “ผมเป็นคนนอก ขณะนั้นผมคิดว่า ฝ่ายประชาธิปไตย ที่ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ ถามว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะเลือกพรรคการเมืองไหน พรรคหลักๆ ฝ่ายประชาธิปไตยที่จะเลือก คือ พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลก็แบ่งคะแนนกันคะแนนที่ออกมาก็ถือว่าใกล้เคียงกันมาก 2 พรรค”
“พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ก็คงขึ้นอยู่กับผลงานว่า การบริหารประเทศเป็นที่พอใจของประชาชนเพียงใด ถ้าบริหารประเทศ ทำให้ประชาชนพอใจ พลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ดี พรรคเพื่อไทยก็จะมีโอกาสมากที่จะกลับมาครองที่หนึ่งอีกครั้งหนึ่ง”
ในฐานะที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ สิ่งที่รัฐบาลแพทองธาร ต้องระมัดระวังเพื่อไม่ให้อุปสรรคทางการเมืองนั้น “พงศ์เทพ” เลี่ยงที่ให้เหตุผลผ่านสื่อมวลชน โดยบอกเพียงว่า “ท่านนายกฯ จะมาร่วมประชุมกับคณะที่ปรึกษาอยู่ บ่อยๆ อยู่แล้ว ตรงนี้ขออนุญาต กราบเรียนท่านนายกฯ โดยตรงดีกว่า ขณะนี้ก็ยังไม่เห็นมีปัญหาอะไรที่เป็นอุปสรรคที่จะทำให้เกิดปัญหา” พงศ์เทพ เชื่อมั่นเสถียรภาพรัฐบาลเพื่อไทย
"ท่านนายกฯ เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งไม่กี่เดือน การดำเนินการของภาครัฐ อาจให้เห็นผล บางอย่างใช้เวลาระยะหนึ่ง แค่เอาง่ายๆ แค่จะเปลี่ยนพืช เปิดช่องทางปลูกพืชให้ได้มูลค่าสูง ๆ มันก็ใช้เวลาอยู่ระยะหนึ่ง กว่าจะทำให้เกษตรกรจำนวนหนึ่งมีศักยภาพรู้วิธี แล้วตัดสินใจเปลี่ยนพืช เพราะเราไปบังคับเขาไม่ได้ จะต้องใช้วิธีแสดงให้เขาเห็น ให้เขาดูมีความหวัง เปลี่ยนอนาคตจากการปลูกพืชเหล่านี้ของเดิม เป็นพืชแบบใหม่ มันก็ใช้เวลาระยะหนึ่ง"
"พงศ์เทพ" ระบุว่า รัฐบาลก็มีการเตรียมการเพิ่มรายได้เหล่านี้หลายทาง ไม่ใช่เฉพาะทางเกษตรกรรมอย่างเดียว ยังมีเรื่องทางอื่นที่จะทำให้ประชาชน มีรายได้อยู่หลายทาง
คนไทยได้ ส.ส.ร.ปี 2569
อย่างไรก็ตาม เมื่อตัดสินใจกลับสู่เส้นทางการเมืองอีกครั้ง สปอตไลต์ได้ฉายจับไปที่ภารกิจสำคัญ ที่ "พงศ์เทพ"ถูกดึงเข้ามาช่วยขับเคลื่อน โดยเฉพาะนโยบายเรือธง การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
พงศ์เทพในฐานะอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.เมื่อปี 2540 ซึ่งเคยเข้าชี้แจงกับคณะกรรมการของประธานรัฐสภา พร้อมกับ “พริษฐ์ วัชรสินธุ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ถึงความจำเป็นในการบรรจุระเบียบวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มี ส.ส.ร. ซึ่งล่าสุดประธานรัฐสภา ยินยอมบรรจุเข้าระเบียบวาระในเดือน ก.พ. 2568
“กว่าจะพิจารณายกร่าง พ.ร.บ.ประชามติ กลับมาใหม่ได้ ก็จะใช้เวลาอีก 180 วัน ตรงนี้ไม่มีปัญหาแล้ว เพราะว่าแต่เดิมที่มีผู้อ้างว่าต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ต้องรอ พ.ร.บ.ประชามติฉบับนั้น ถึงทำประชามติครั้งแรก แต่คราวนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะประชามติเมื่อท่านประธานรัฐสภาบรรจุระเบียบวาระ เราจะเห็นว่าประชามติ คงมีเพียง 2 ครั้ง”
เมื่อถามถึงกติกา พ.ร.บ.ประชามติยังคาราคาซังอยู่ในรัฐสภา พงศ์เทพระบุว่า “เมื่อมีการหยิบยกร่าง พ.ร.บ.ประชามติ มาทบทวน สภาผู้แทนราษฎรก็คงยืนยันเอาเสียงข้างมากชั้นเดียว การทำประชามติ ในกรณีที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระที่สาม มันก็จะเกิดหลังจากที่ พ.ร.บ.ประชามติ ที่แก้ไขใช้บังคับแล้ว คือใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว”
พงศ์เทพประเมินถึงโอกาสการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คาดว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนฝ่ายค้าน ส่วนวุฒิสภาจะต้องดูว่ามีเสียงสนับสนุนถึง 1 ใน 3 หรือไม่ ถ้าเสียงสนับสนุนผ่านทั้ง 3 วาระ ขั้นตอนจะนำไปสู่การออกเสียงประชามติครั้งแรกว่า เห็นด้วยกับการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร.หรือไม่ ถ้าประชามติเห็นด้วย ก็นำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ จากนั้นกระบวนการได้มาซึ่ง ส.ส.ร. ก็จะเกิดขึ้น
สำหรับไทม์ไลน์กระบวนการให้ได้มาซึ่ง ส.ส.ร.นั้น พงศ์เทพระบุว่า ปี 2568 จะเป็นกรณีที่รัฐสภาต้องพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม คาดว่า รัฐสภาจะใช้เวลาพิจารณาเรื่องนี้ไม่น่าจะเกิน 6 เดือน เมื่อผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก็ไปสู่การออกเสียงประชามติ โดยระหว่างการออกเสียงประชามติก็ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง 4-5 เดือน
เมื่อประชามติครั้งแรกผ่านก็จะต้องนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ดังนั้นจะมีโอกาสที่เราจะได้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในปี 2568 จากนั้นปี 2569 ก็จะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ทั้งประเทศ ในช่วงต้นปี 2569 ก็คาดว่า ส.ส.ร.จะมายกร่างจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2569 ก่อนที่รัฐบาลแพทองธารจะครบวาระในปี 2570
“พอได้ ส.ส.ร.แล้ว ไม่ว่าสภาจะครบวาระหรือยุบสภาก็ตาม ส.ส.ร.เขาก็จะพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ภายใต้กรอบเวลา โดยปกติผมเชื่อว่ารัฐธรรมนูญที่กำหนด ไม่น่าให้เวลามากจนเกินไป เต็มที่ที่สุด ผมว่าไม่น่าจะเกินสัก 8 เดือน”
ปลุกกระแสนอกสภาฯกดดันพวกขวาง
พงศ์เทพออกตัวว่า ไม่กังวลเรื่องเกมการขัดขวางหรือคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับทำคลอด ส.ส.ร. ซึ่งคำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 บอกด้วยซ้ำไปว่า การเปิดโอกาสให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สามารถทำได้ และไม่ได้บอกว่ากระบวนการที่ผ่านมา ผิดหรือไม่ถูกต้อง
“ขึ้นอยู่กับประชาชนนะครับ ถ้าประชาชนออกมาเรียกร้องกันเยอะๆ แสดงความเห็นกันเยอะๆ ไม่ต้องออกมาข้างนอกด้วยซ้ำไป สมัยปัจจุบันส่งความเห็นผ่านสื่อโซเชียล ผ่านสื่อมวลชนให้คนทั้งหลาย ทั้งสมาชิกรัฐสภา ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายให้ทราบว่า พี่น้องประชาชนต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้พี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมในการยกร่าง เราจะได้มีกติกาที่เหมาะสม ที่เป็นธรรม”
“ถ้าประชาชนแสดงความต้องการ อย่างมีพลัง ก็จะมีผลต่อการลงมติของสมาชิกรัฐสภา ถึงเขาพยายามที่จะขัดขวาง เขาคงไม่ได้มีช่องทางอะไรมากหรอกไปขัดขวาง” พงศ์เทพ ขีดเส้นใต้ถึงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะพอทำให้วุฒิสภา และบางพรรคการเมืองโหวตเห็นชอบ
"จะมีคนที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมูญปี 2560 ที่คงไม่อยากให้แก้ แต่บุคคลเหล่านี้ไม่ได้เยอะ ไม่ได้เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเลย นอกจากนั้นแล้วบุคคลเหล่านั้นในแง่กลไกรัฐสภา ไม่ได้มีเสียงมากนักในรัฐสภาขณะนี้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ถึงแม้จะมีบุคคลเหล่านั้นอยู่ ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่"
ส่วนความแตกต่างระหว่าง ส.ส.ร.ในยุคนี้กับ ส.ส.ร.ปี 2540 พงศ์เทพ ระบุว่า ต่างกัน เพราะตอน ส.ส.ร.ปี 2540 เป็นเหตุการณ์หลังเกิดพฤษภาทมิฬไม่นาน แล้วคนไทยมีความรู้สึกว่ามัน ต้องมีรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย ที่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่มาจากคณะรัฐประหาร เขามีส่วนร่วมในการร่างขึ้น เสียงเรียกร้องประชาธิปไตยขณะนั้น ช่วงนั้นแรง สมัยนั้นท่านนายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร. ไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไรเหมือนตอนนี้
พงศ์เทพ บอกว่า ตอนแรกสมัย ส.ส.ร.ปี 2540 ดูเหมือนสมาชิกรัฐสภาส่วนหนึ่งจะไม่เห็นด้วย มีการทำความเข้าใจชี้แจงให้ประชาชนเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นอย่างไร พอถึงวันที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อรัฐสภา ปรากฏว่าสมาชิกรัฐสภาหลายท่าน เราไม่เคยคิดเลยว่าจะลงมติให้ ก็ปรากฏลงมติให้ แม้กระทั่งวุฒิสภา วุฒิสภาเป็นผู้ถูกผลกระทบจากรัฐธรรมนูญปี 2540 มากที่สุด เพราะวุฒิสภาเหล่านั้นได้รับการแต่งตั้งต่อเนื่องมาโดยตลอด เป็นวุฒิสภาต่อเนื่องหลายสมัย แต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เท่ากับทุบหม้อข้าวเขาเลยนะ
"เราไม่เคยคิดว่าสมาชิกวุฒิสภาเหล่านั้นจะมาลงมติเห็นชอบ แต่ปรากฏว่า สมาชิกวุฒิสภาลงมติเห็นชอบเข้าใจกันว่าเยอะมาก หรือเกือบทั้งหมดด้วยซ้ำไป" พงศ์เทพ เล่าถึงการผ่านความเห็นชอบรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540
เมื่อถามถึงกรณีพรรคเพื่อไทยถูกมองว่ากำลังตีสองหน้า เล่นละครกับการแก้รัฐธรรมนูญ พงศ์เทพระบุว่า “ผมเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยเข้าใจตรงนี้ การที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มันเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างไร มีความจำเป็นอย่างไร พรรคเพื่อไทยไม่ได้ไปตีสองหน้าหรอกครับ เขาตั้งใจจริงๆ เพียงแต่ว่าพรรครัฐบาลบางพรรคจะคิดอย่างไร ผมเองไม่อาจไปทราบได้ ผมว่าพรรคเพื่อไทย มีความตั้งใจ ทราบดีว่าจำเป็นต้องมียกร่างฉบับใหม่ เพื่อให้มีโครงสร้างการใช้อำนาจรัฐ ที่ทำให้ประเทศไทยขับเคลื่อนไปได้อย่างเต็มที่ อย่างไม่มีอุปสรรค” ที่ปรึกษาทีมบ้านพิษฯ ทิ้งท้าย