ชำแหละ ‘รัฐบาล-กทม.’ แก้ฝุ่นเหลว ปัจจัยการเมืองท้องถิ่นแทรก?

“คนเขาก็สงสัยว่า ทำไมไม่แอ็กชั่นให้เต็มที่ เกรงใจหน่วยงานต่าง ๆ หรือไม่ คือในภาวะวิกฤติที่มองว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ท่านต้องจัดการได้เลย แต่ผมมองว่า ผู้ว่าฯ กทม.ทำ แล้วทำไมจังหวัดต่าง ๆ ไม่ทำ ไม่เห็นมีใครประกาศสักคนหนึ่ง ก็เป็นสิ่งน่าแปลกใจ”
KEY
POINTS
- วิเคราะห์สถานการณ์วิกฤติ ‘ฝุ่น
"ปัญหาฝุ่น PM2.5" กำลังกลายเป็น “ภัยพิบัติ” ในสังคมไทยตอนนี้ เพราะนับตั้งแต่ไทยเข้าสู่ “ฤดูหนาว” อย่างเป็นทางการ ฝุ่นพิษเหล่านี้ก็ลอยคลุ้งไปทั่วเมืองหลวง และกระจายอยู่ทั่วประเทศอย่างหนัก โดยสาเหตุเบื้องต้นตามการวิเคราะห์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ “การเผา” ทั้งการเผาภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม
นับตั้งแต่ฝุ่น PM2.5 เข้าสู่สภาวะ “วิกฤติ” เมื่อขึ้นเป็นระดับ “สีส้ม” ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ม.ค.2568 เป็นต้นมา ประชาชนจำนวนไม่น้อยต่างวิพากษ์วิจารณ์ โยนบาปไปที่ “รัฐบาล” ที่ยังไม่ยอมแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ขณะที่ “เพื่อไทย” ซึ่งเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เคยหาเสียงเรื่องเหล่านี้ไว้ แต่เมื่อมาเป็นรัฐบาลกลับไม่สามารถออกนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม
นอกเหนือจาก “รัฐบาล” กำลังตกเป็น “แพะรับบาป” เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว ในพื้นที่ “เมืองหลวง” อย่าง กทม. ชื่อของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน ก็กำลังกลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อสัปดาห์ก่อนที่ค่าฝุ่น PM2.5 กระจายตัวอย่างหนัก ทำให้กลายเป็น “เมืองหลวงสีแดง-ส้ม” ในหลายพื้นที่ จนถึงขั้นประกาศให้โรงเรียนในสังกัด กทม.หยุดกว่า 437 แห่ง และขอความร่วมมือหน่วยงานรัฐ-เอกชน ให้พนักงาน “Work From Home” อีกด้วย
ถัดมารัฐบาลถึงเริ่มขยับประกาศเป็น “วาระแห่งชาติ” โดยออกมาตรการระยะสั้น เช่น ทุ่มงบ 140 ล้านบาท ให้ขึ้นรถไฟฟ้าฟรีตลอดสาย เป็นต้น รวมถึงการแต่งตั้ง ปภ.ช. หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย ขึ้นมาแก้ไขปัญหาดังกล่าวทันที โดย “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะ “แม่งานหลัก” รับผิดชอบสถานการณ์วิกฤติเหล่านี้ ซึ่งสั่งการเข้มไปยังผู้ว่าฯทุกจังหวัด บังคับใช้กฎหมายเข้มงวด เรื่องการเผาทั้งภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการตั้งคำถามว่าเหตุใด “ภาครัฐ-กทม.” ถึงมาออกแอ็กชั่นล่าช้า เพราะสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เริ่มผ่อนคลายลงแล้ว ล่าสุด “ดร.สนธิ คชวัฒน์” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในมหาวิทยาลัยไทยหลายแห่ง ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ สรุปข้อเท็จจริงได้เป็น 2 ส่วนด้วยกัน
1.พื้นที่ กทม. “ดร.สนธิ”ยืนยันว่า “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ”มีอำนาจเต็มที่ตามกฎหมาย 2 ฉบับคือ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ 2550 และ พ.ร.บ.สาธารณสุขฯ 2535 แก้ไข 2560 ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.สามารถกำหนด“แหล่งกำเนิดมลพิษ” ใช้อำนาจตามกฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าวเข้าไป“แทรกแซง” การทำงานของหน่วยงานอื่นได้อย่างเต็มตัว
“ภาวะวิกฤติฝุ่นสูงเกินมาตรฐาน เขาสามารถประกาศ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือการควบคุมเหตุรำคาญ ตามกฎหมายสาธารณสุข ได้ คือการประกาศว่า พื้นที่ตรงไหนควบคุมเขตรำคาญ พื้นที่ตรงไหนตามกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กำหนดเป็นเขตสาธารณภัย เขาสามารถกำหนดแหล่งกำเนิดมลพิษต่าง ๆ เขาสามารถเข้าไปจัดการ Sanction ทุกหน่วยงานได้เลยด้วยซ้ำไป” ดร.สนธิ ยืนยัน
2.พื้นที่ต่างจังหวัด “ดร.สนธิ” อธิบายว่า เป็นเขตพื้นที่นอกเหนืออำนาจ กทม. แต่ยังมีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกัน เพราะถ้า กทม.แก้ไขเพียงจังหวัดเดียว แต่จังหวัดอื่น ๆ ยังมีการเผา หรือไม่ดำเนินการแก้ไขแหล่งมลพิษ ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ อย่างไรก็ดีผู้ว่าฯจังหวัดอื่น ๆ สามารถใช้อำนาจตามกฎหมาย 2 ฉบับข้างต้นได้เช่น กัน โดยสามารถประกาศพื้นที่ประสบภัย กำหนดแหล่งกำเนิดมลพิษ และเข้าไปดำเนินการได้แบบเดียวกับ กทม.
ดร.สนธิ เล่าอีกว่า ในสมัยผู้ว่าฯ กทม.ชื่อ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง จนมาถึงยุคต้นของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็เคยใช้อำนาจตามกฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าว แต่เมื่อปลายปี 2567 จนถึงขณะนี้ (ต้นปี 2568) กลับไม่ดำเนินการ ก็สร้างความสงสัยเหมือนกันว่าเพราะอะไร
“คนเขาก็สงสัยว่า ทำไมไม่แอ็กชั่นให้เต็มที่ เกรงใจหน่วยงานต่าง ๆ หรือไม่ คือในภาวะวิกฤติที่มองว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ท่านต้องจัดการได้เลย แต่ผมมองว่า ผู้ว่าฯ กทม.ทำ แล้วทำไมจังหวัดต่าง ๆ ไม่ทำ ไม่เห็นมีใครประกาศสักคนหนึ่ง ก็เป็นสิ่งน่าแปลกใจ” ดร.สนธิ กล่าว
อย่างไรก็ดี ดร.สนธิ ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ “ฝุ่น PM2.5” กระจายตัวหนักขนาดนี้ อาจเป็นเพราะอยู่ในช่วงใกล้การเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งการเลือกตั้งนายก อบจ. ในวันที่ 1 ก.พ.นี้ รวมถึงการเลือกตั้งเทศบาลต่าง ๆ ที่จะหมดวาระปลายเดือน มี.ค.นี้ หรือไม่
“ก็สงสัยว่าทำไมไม่จัดการทุกแหล่งกำเนิดมลพิษ จัดการแค่บางแหล่ง ต้องดูทั้งหมด ก็สงสัยแต่ว่าในต่างจังหวัดก็มีการพูดกันเยอะ การเผาทำไมไม่จับ เพราะใกล้เลือกตั้ง อบจ.หรือไม่ ประเด็นต่อมา 28 มี.ค. หมดวาระเทศบาลหลายแห่ง ก่อนหน้านี้ก็มีการเลือกตั้ง เทศบาลอีกหลายแห่งเช่นกัน เกรงใจประชาชนหรือไม่” ดร.สนธิ ระบุ
ดร.สนธิ ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าเรื่องนี้อาจมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ จนตอนหลัง “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย เห็นว่าไม่ได้ ต้องจัดการให้หมด เพราะว่ามีการต่อว่าเข้ามาเยอะ จึงต้องประกาศวาระแห่งชาติขึ้นมา อย่างไรก็ดีมองว่า เป็นการออกแอ็กชั่นล่าช้าเป็นอย่างมาก ท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เริ่มคลี่คลายด้วยตัวเองไปแล้ว
ดร.สนธิ เล่าอีกว่า ก่อนหน้านี้เคยมี “วาระแห่งชาติ” เรื่องการแก้ไขฝุ่น PM2.5 มาแล้ว โดยเป็นวาระตั้งแต่ปี 2562-2567 กำหนดมาตรการแก้ไขทั้งระยะสั้น ระยะยาว และภาวะวิกฤติ ใครต้องทำอะไร ที่ไหน อย่างไรบ้าง ยกตัวอย่าง ก่อนปี 2567 อ้อยไฟไหม้จะต้องไม่มี โรงงานน้ำตาลต้องรับอ้อย 100% รถยนต์ใน กทม.ถ้าเป็นรถขนส่งมวลชนต้องรถ EV หรือใช้แก๊สทั้งหมด และรถยนต์ต้องน้อยลง การต่อภาษีรถเครื่องยนต์ดีเซลเก่าต้องแพงขึ้น เรามีแผนหมดแล้ว แต่ไม่ได้แอ็กชั่น
“มาตอนนี้มาบอกว่าตั้งแผนมาใหม่ ทีนี้พอประกาศใหม่ ก็ต้องเริ่มกันใหม่ สุดท้ายเลยไม่ได้แอ็กชั่นอะไร ของเก่าก็ยังแก้ไม่หมด ของใหม่ก็ต้องคิดอีก ทั้งที่จริง ๆ ไม่ต้องคิดของใหม่ เพราะของเก่ามีบอกไว้หมดแล้ว” ดร.สนธิ ทิ้งท้าย