มติสภาฯเอกฉันท์ รับหลักการ ร่างกม.ตั๋วร่วม ตั้ง31กมธ.พิจารณา

"ครม.-ปชน." ชงร่างกม.ตั๋วร่วม ให้สภาฯพิจารณา หวังสร้างระบบตั๋วร่วม สร้างมาตรฐานค่าโดยสารรถ-เรือ-ราง "พท." หวังเปิดทางสู่ ค่ารถไฟฟ้า20บาท ก่อนสภาลงมติรับหลักการเอกฉันท์
ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาฯ ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ... ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ทั้งนี้ที่ประชุมได้นำร่างพ.ร.บ.บริหารจัดการตั๋วร่วม พ.ศ... ที่เสนอโดย นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชนและคณะ เสนอ พิจารณาพร้อมกันด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เสนอหลักการและเหตุผลต่อร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ของครม. ตอนหนึ่งว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมี 7 หมวด 54 มาตรา มีสาระสำคัญเพื่อสนับสนุน การให้บริการขนส่งสาธารณะ ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง รวมถึงเรือโดยสาร ซึ่งจัดทำมาตรฐานทางเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วมเป็นมาตรฐานกลาง มีการกำหนดอัตราโดยสารร่วม จัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบร่วม รวมถึงการกำหนดเกี่ยวกับผู้ประกอบการที่จะมีสิทธิ์ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมระบบตั๋ว
“เพื่อลดค่าใช้จ่ายและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนโดยการใช้บัตรโดยสารใบเดียวเดินทางได้ทุกระบบของการบริการขนส่งสาธารณะ และเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางจากขนส่งส่วนบุคคลมาเป็นการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะโดยเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาล“ นางมนพรกล่าว
ขณะที่ นายสุรเชษฐ์ นำเสนอร่างกฎหมายฉบับพรรคประชาชนตอนหนึ่งด้วยว่า พรรคประชาชนสนับสนุนให้มีระบบตั๋วร่วม แต่เหตุที่ต้องเสนอร่างประกบนั้น เพื่อต้องการให้สภาฯ พิจารณาร่างกฎหมายของพรรคประชาชนเป็นร่างหลัก เนื่องจากมีสาระสำคัญที่ชัดเจน ครอบคลุม รวมถึงมีกลไกที่บังคับใช้ได้จริง เช่น กรณีการกำหนดคำว่า ค่าโดยสารร่วมจะครอบคลุมถึงการบริการสาธารณะทั้งหมดของประเทศ มีราคาอยู่ที่ 8 - 45 บาท นอกจากนั้นยังเพิ่มหน้าที่ผู้ประกอบการระบบร่วมให้เปิดเผยสถานะทางการเงิน เพิ่มความชัดเจนในการใช้เงินกองทุน โดยมุ่งหวังสร้างสมดุลการอุดหนุนบริการขนส่งสาธารณะพร้อมคำนึงถึงภาระทางการคลังระยะยาว
ทั้งนี้ที่ประชุมสภาฯ ในการอภิปรายของสส. ได้สนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว โดยในส่วนของ สส.พรรคประชาชน อภิปรายอย่างชัดเจนต่อการสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ของพรรคประชาชนเป็นร่างหลักในการพิจารณาแทน ครม. เพราะเชื่อว่าจะทำให้แก้ปัญหาต่อการนำงบประมาณที่มาจากเงินภาษีของประชาชนทั่วประเทศมาสนับสนุนค่าโดยสารจากการให้บริการของเอกชนเฉพาะพื้นที่กทม. รวมถึงจะมีงบประมาณที่สามารถพัฒนารถโดยสารประจำทางในพื้นที่ต่างจังหวัดได้
นอกจากนั้นแล้วยังตั้งข้อสังเกตว่าร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วมของ ครม. ว่าอาจไม่สามารถทำให้กลไกตั๋วร่วมทำได้จริงเพราะมีประเด็นที่เอกชนไม่ให้ความร่วมมือ เนื่องจากอาจเสียผลประโยชน์จากค่าแรกเข้าการใช้บริการ ที่ปัจจุบันเป็นประเด็นที่ทำให้การใช้รถไฟฟ้ามีราคาแพง พร้อมกับสนับสนุนให้รัฐบาลนำการให้บริการรถไฟฟ้าเป็นของรัฐเพื่อให้การบริหารจัดการเรื่องค่าโดยสารสามารถทำให้เกิดประโยชน์ประชาชนอย่างแท้จริง
ขณะที่การอภิปรายของสส.พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าวของ ครม. เพราะเชื่อว่าจะเป็นก้าวแรกที่ทำให้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายตามนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ให้เป็นจริงได้
ทั้งนี้หลังจากที่สส.ได้อภิปรายแล้วเสร็จ ที่ประชุมได้ลงมติ พบว่ามติที่ประชุมเสียงเอกฉันท์ 367 เสียง รับหลักการ และตั้งกมธ. 31 คน เพื่อพิจารณา.