ส.ก.ส้ม ไล่บี้ 'ชัชชาติ' ควรแก้ฝุ่น PM2.5 ให้ดีกว่านี้ จี้ประสานรัฐบาลทำด่วน

ส.ก.พรรคส้ม อภิปรายปม 'ฝุ่น PM2.5' บี้ผู้ว่าฯ กทม.แม้มีอำนาจจำกัด แต่หลายเรื่องควรทำได้ดีกว่านี้ จี้ประสานรัฐบาลแก้ด่วน ชงใช้งบพีอาร์หลายร้อยล้านบาท แจ้งเตือนประชาชนให้ทันท่วงที ย้อนข้อบัญญัติรถเมล์อนาคต แก้ปัญหาที่ต้นตอ
เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2568 ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) มีการพิจารณาญัตติเรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดย ส.ก.พรรคประชาชน (ปชน.) ได้ลุกขึ้นอภิปรายเสนอแนะต่อผู้ว่าฯ กทม. หลายคนด้วยกัน
น.ส.ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า วิกฤตฝุ่น PM2.5 เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบต่อสุขภาพของชาวกรุงเทพฯ ทุกคน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าแหล่งกำเนิดสำคัญแหล่งหนึ่งมาจากรถยนต์ดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมาเราจึงเห็นความพยายามของ กทม. ในการประกาศใช้มาตรการสำคัญ คือ “เขตควบคุมฝุ่น” (Low Emission Zone: LEZ) โดยห้ามรถบรรทุกตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนบัญชีสีเขียว (Green List) เข้ามายังบริเวณกรุงเทพฯ ชั้นใน (ภายในถนนวงแหวนรัชดาภิเษก) ซึ่งโดยหลักการแล้วก็ดูเหมือนจะเป็นมาตรการที่ดี แต่ในทางปฏิบัติกลับพบปัญหาหลายด้าน
น.ส.ภัทราภรณ์ กล่าวอีกว่า รถบรรทุกที่จะขึ้นทะเบียน Green List ได้นั้นมีหลายเงื่อนไข เช่น ต้องเป็นรถที่เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและเปลี่ยนไส้กรองอากาศแล้ว หรือเป็นรถบรรทุกดีเซลที่ได้รับมาตรการยูโร 5 แต่เงื่อนไขเหล่านี้มองเห็นไม่ได้ด้วยสายตา ต้องใช้กล้องตรวจจับป้ายทะเบียนแล้วไปตรวจสอบในระบบว่ารถแต่ละคันเข้าเงื่อนไขนี้หรือไม่ ลงทะเบียน Green List ไว้หรือยัง จึงต้องปล่อยรถบรรทุกที่ฝ่าฝืนเข้ามาในพื้นที่ก่อนแล้วค่อยไปตามจับย้อนหลัง กว่าจะตามจับได้ครบ ฝุ่นก็ปกคลุมเต็มเมืองแล้ว เห็นได้จากสถิติของการใช้มาตรการนี้เมื่อวันที่ 23-24 ม.ค.ที่ผ่านมา มีรถบรรทุกเข้ามาในเขตควบคุมฝุ่น 3,726 คัน แต่มีรถที่ลงทะเบียน Green List 353 คัน หรือคิดเป็นเพียง 9.5% เท่านั้น
นอกจากนี้ หลายตัวเลขที่ กทม.นำมาแสดงผลก็มีความคลาดเคลื่อนทางสถิติ เช่น ระบุว่าตลอดทั้ง 2 วันมีรถที่ลงทะเบียน Green List เข้ามาในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน 17% จากรถบรรทุกทั้งหมด แต่แท้จริงแล้วคือการนำตัวเลขของวันที่ 23 ม.ค. (10%) มาบวกกับตัวเลขของวันที่ 24 ม.ค. (7%) ซึ่งในทางสถิติทำไม่ได้ แต่ต้องคำนวณจากค่าเฉลี่ยของทั้งสองวัน จึงเป็นเรื่องน่าสงสัยว่านี่คือความพยายามตบแต่งตัวเลขของ กทม. เพื่อให้มาตรการนี้ได้รับผลตอบรับที่ดีเกินจริงหรือไม่
น.ส.ภัทราภรณ์ กล่าวด้วยว่า ผู้ว่า กทม. มักชอบอ้างบ่อยครั้งว่าตนเองมีอำนาจน้อย อยากทำหลายเรื่องแต่ก็ทำไม่ได้ แต่ตนยืนยันว่าในเรื่องเขตควบคุมฝุ่น ท่านมีอำนาจเต็ม และควรทำได้ดีกว่านี้ เช่น ทำไมจึงไม่ประกาศเขตควบคุมฝุ่นให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งกรุงเทพฯ แต่กลับประกาศแค่กรุงเทพฯ ชั้นใน เพราะทุกเขตก็เผชิญปัญหาฝุ่นหนักหน่วงไม่แพ้กัน โดย พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 29 ระบุไว้ชัดเจนว่า เมื่อเกิดหรือใกล้จะเกิดสาธารณภัยขึ้นในพื้นที่ใด ผู้อำนวยการท้องถิ่น ซึ่งในที่นี้ก็คือผู้ว่า กทม. สามารถประกาศห้ามไม่ให้บุคคลใดๆ เข้าไปดำเนินกิจการใดในเขตพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนดได้ หมายความว่าสามารถกำหนดให้พื้นที่ทั้งกรุงเทพฯ เป็นเขตควบคุมฝุ่นได้หากสถานการณ์ร้ายแรงทั้งเมือง เหลือเพียงความกล้าเท่านั้นว่าท่านจะกล้าประกาศหรือไม่
ขณะที่ นายเอกกวิน โชคประสพรวย ส.ก.เขตราชเทวี กล่าวว่า การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 บางเรื่องผู้ว่า กทม. อาจมีอำนาจจำกัด แต่ก็มีหลายเรื่องที่ท่านมีอำนาจเต็มและสามารถจัดการได้เลย โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่ในความดูแลของ กทม. โดยตรง เช่น การตรวจสอบโรงงานผสมคอนกรีต (แพลนต์ปูน) ที่ปัจจุบันทุกสำนักงานเขตลงพื้นที่ตรวจ แต่กลับไม่ได้ตรวจจริงจัง แค่ไปกางป้ายไวนิล ถ่ายรูป แล้วกลับ หลายโรงงานไม่มีการติดตั้งสปริงเกอร์เพื่อดักจับฝุ่นด้วยซ้ำ ส่วนการตรวจจับควันดำรถยนต์ดีเซล ปัจจุบัน กทม. ยังกำหนดค่าความทึบแสงของควันดำไว้ที่ร้อยละ 30 ซึ่งสูงเกินไป ผู้ว่าฯ ควรสั่งปรับลดเกณฑ์มาอยู่ที่ร้อยละ 10 จึงจะสามารถลดฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ กทม. ยังควรเปลี่ยนรถราชการในสังกัดให้เป็นรถไฟฟ้า เพื่อลดมลพิษระยะยาวยั่งยืน
นายเอกกวิน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตนทราบล่าสุดว่าโรงกำจัดขยะของ กทม. ไม่มีการติดตั้งเครื่องตรวจจับวัดค่าฝุ่นพิษเพื่อตรวจสอบคุณภาพการปล่อยควันจากการกำจัดขยะ ตนไม่กล้าวิจารณ์ว่าโรงกำจัดขยะจะสร้างฝุ่น PM2.5 หรือไม่ แต่หากขาดการตรวจสอบที่โปร่งใส ก็ไม่สามารถไว้วางใจได้ว่าโรงขยะของ กทม. จะปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5 จริง จึงขอเรียกร้องให้เปิดค่าฝุ่นจากปล่องปล่อยควันของโรงงานกำจัดขยะของ กทม. ทุกแห่งให้ประชาชนรับทราบแบบ real-time เพื่้อสามารถติดตามคุณภาพของอากาศได้ ซึ่งการตรวจโรงขยะเป็นอำนาจหน้าที่ของ กทม. โดยตรง จะใช้คำว่าไม่มีอำนาจไม่ได้
“สามเรื่องนี้จะใช้คำว่าไม่มีอำนาจไม่ได้ ผมอยากให้ท่านผู้ว่าฯ เอากรุงเทพมหานครเป็นตัวตั้งก่อน ถ้าบ้านเราไม่สะอาด เราจะไปตรวจจับใครได้” นายเอกกวิน กล่าว
ส่วน นายอำนาจ ปานเผือก ส.ก.เขตบางแค พรรคประชาชน กล่าวว่า ตนเข้าใจว่าอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. มีจำกัด ซึ่งเป็นปัญหาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศที่เรายังไม่มีการกระจายอำนาจอย่างมีประสิทธิภาพ หลายเรื่องเกินขอบเขตอำนาจของ กทม. เช่น การเผาไร่เกษตรจากจังหวัดอื่น หรือการเดินรถเมล์ในเขตกรุงเทพฯ ดังนั้น การแก้ปัญหาฝุ่นในกรุงเทพฯ จะทำได้ไม่เต็มที่หากไม่แสวงหาความร่วมมือกับรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาในยุครัฐบาลเศรษฐาเคยมีการตั้งคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างรัฐบาลและ กทม. โดยมีหนึ่งในวาระเร่งด่วนคือการบริหารจัดการฝุ่น แต่ผ่านมาเป็นปีแล้ว เปลี่ยนนายกฯ มาแล้วก็ยังไม่เห็นการทำงานร่วมกันที่เป็นรูปธรรม ต่อจากนี้ตนจึงอยากเห็นการทำงานร่วมกันมากขึ้น เช่น การเสนอ ครม.ให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษในกรุงเทพฯ รวมถึงการผลักดันรถเมล์ไฟฟ้าทั่วกรุงเทพฯ ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
ในส่วนของ นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา พรรคประชาชน กล่าวถึง แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 61% มาจากการจราจรขนส่งทางถนน อดีตพรรคก้าวไกลจึงยื่นร่างข้อบัญญัติรถเมล์อนาคต คือการเปลี่ยนรถเมล์ที่วิ่งใน กทม. ต้องเป็นรถไฟฟ้า (EV) ทั้งหมดภายใน 7 ปี แต่ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอแนะว่ากรุงเทพฯ ไม่มีอำนาจ ตนจำได้ว่าผู้ว่า กทม. รับปากว่าจะลองยื่นไปที่ศาลปกครอง แต่ยังไม่ทราบว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น
นายพุทธิพัชร์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ งบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์วิกฤตฝุ่น PM2.5 ของ กทม. โดยตั้งคำถามว่า กทม. มีงบประชาสัมพันธ์รวมกันทุกสำนักปีละหลายร้อยล้านบาท แต่ขอให้ประชาชนช่วยกันพิจารณาว่าทุกวันนี้เน้นประชาสัมพันธ์เพื่อให้พี่น้องประชาชนตื่นตัว ตื่นรู้ และป้องกันภัยพิบัติ หรือเป็นการประชาสัมพันธ์นโยบายและผลงานของผู้ว่าฯ ทุกวันนี้ตื่นเช้าขึ้นมาประชาชนต้องเปิดเช็คค่าฝุ่นผ่านแอปพลิเคชันด้วยตัวเอง งบประมาณหลายร้อยล้านควรนำมาใช้แจ้งเตือนประชาชนได้ดีและทันสถานการณ์กว่านี้หรือไม่