บทเรียน เลือกตั้ง อบจ. ‘ชทพ.-ปช.’ เปลี่ยนก่อนสูญพันธุ์

บทเรียน เลือกตั้ง อบจ. ‘ชทพ.-ปช.’ เปลี่ยนก่อนสูญพันธุ์

ศึกเลือกตั้งท้องถิ่น ถูกถอดรหัส จังหวัดที่มี "พรรคเก่าแก่" ครองพื้นที่ ทั้ง "ชาติไทยพัฒนา-ประชาชาติ" แม้ผลเลือกตั้ง นายก อบจ. จะต่างกัน แต่มีเค้าลาง "ปรับเกม" หากไม่อยากถูกเปลี่ยนให้สูญพันธุ์

KEY

POINTS

Ket Point :

  • พรรคชาติไทยพัฒนา และ พรรคประชาชาติ ในศึกเลือกตั้ง "อบจ." ได้เก้าอี้นายก อบจ. มา พรรคละ2จังหวัด
  • แม้จะเป็นผลงานที่เข้าเป้า แต่ "ศึกท้องถิ่น" ให้บทเรียนครั้งสำคัญ
  • หากไม่ปรับ เพื่อเปลี่ยน โอกาสเสี่ยงสูญพันธุ์ในสนามเลือกตั้งใหญ่มีแน่
  • เพราะจากแต้มในศึกเลือกตั้ง นายก อบจ. รวมถึง ส.อบจ. สะท้อนว่ามี "พรรคท้องถิ่น" ยังมีจุดอ่อน จากกระแส  และ กระสุนที่ถาโถม

แม้ศึกเลือกตั้ง “ท้องถิ่น” จะเสร็จสิ้นลง เมื่อ 1 ก.พ. แต่ยังต้องจับตาควันหลง ที่หลายฝ่ายประเมินว่าจะส่งผลยาวไปถึงการเลือกตั้งระดับชาติในปี 2570

แน่นอนว่า พรรคการเมืองขนาดใหญ่ทั้ง “เพื่อไทย-ภูมิใจไทย” มีความได้เปรียบ เพราะได้ “ฐานท้องถิ่น” หลายจังหวัดสนับสนุน และมีตำแหน่งที่สร้างผลงาน ส่วน “พรรคประชาชน” ที่แม้จะผิดหวังต่อผลเลือกตั้งนายก อบจ.

แต่ด้วยความเป็นพรรคที่มีเอกลักษณ์ จึงเชื่อว่า หาก “พรรคส้ม” ยังเลี้ยงกระแส ไม่ให้ตกในอีก 2 ปีข้างหน้า โอกาสที่ประชาชนจะเทเสียงสนับสนุนยังมีสูง

ขณะที่พรรคการเมืองที่ถูกนิยามให้เป็น “พรรคท้องถิ่น-พรรคจังหวัด” คือ “พรรคชาติไทยพัฒนา” มีฐานที่มั่น จ.สุพรรณบุรี และ “พรรคประชาชาติ” มีฐานที่มั่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส นาทีนี้ต้องสู้เหนื่อย เพราะมีถึง 2 แนวรบ ทั้ง “กระแส” และ “กระสุน”

“พรรคชาติไทยพัฒนา” ของตระกูล “ศิลปอาชา” ที่มีพันธมิตร อย่าง “โพธสุธน-เที่ยงธรรม” ซึ่งในศึกเลือกตั้งนายก อบจ. เมื่อ 1 ก.พ. พบการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ คือ คนสุพรรณบุรี กว่า 204,108 คน เทคะแนนเลือก “อุดม โปร่งฟ้า” สมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา แทนที่ “บุญชู จันทร์สุวรรณ” อดีตนายก อบจ. ที่ทำหน้าที่มากว่า 20 ปี และเป็นคนเก่า-คนแก่ของ “บ้านศิลปอาชา” แบบทิ้งห่างกว่าแสนคะแนน

บทเรียน เลือกตั้ง อบจ. ‘ชทพ.-ปช.’ เปลี่ยนก่อนสูญพันธุ์

นัยหนึ่งของผลที่ออกมา คือการย้ายขั้วของ “อดีตนายก-บุญชู” จากเดิมที่สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา แต่ก่อนลงเลือกตั้งเพื่อรักษาเก้าอี้ กลับเข้าซบ “พรรคเพื่อไทย” และมีตัวแทนพรรค คือ “พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์” เป็นผู้ช่วยหาเสียง

บทเรียน เลือกตั้ง อบจ. ‘ชทพ.-ปช.’ เปลี่ยนก่อนสูญพันธุ์

ขณะที่ “อุดม” แม้จะเป็นคนใหม่ ไม่เคยผ่านสนามการเมือง ทว่าอยู่ร่วมงานการเมืองกับ “พรรคชาติไทยพัฒนา” มาสักระยะ และใกล้ชิดกับแกนนำคนสำคัญ  “คนสุพรรณบุรี” รับรู้ได้ว่า นี่คือตัวแทนของพรรค เพราะมีสัญลักษณ์ของพรรคชาติไทยพัฒนาประดับอกเสื้อไว้

ทำให้ “อุดม โปร่งฟ้า” ได้รับชัยชนะ ทุกอำเภอของ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งรวมถึง “อ.ด่านช้าง-อ.สามชุก” ที่เป็นถิ่นบ้านเกิดของ “บุญชู”

อีกนัยหนึ่งที่ถูกวิเคราะห์ คือ “กระแสไม่เอาของเก่า และ เรียกร้องความเปลี่ยนแปลงให้บ้านเกิด” ซึ่งกระแสนี้ทำให้ ผู้สมัครเบอร์หนึ่ง คือ “ภิญโญ สุนทรวิภาต” ที่ใช้ “สีส้ม” เดินเกมหาเสียง ได้อานิสงส์ ถูกเลือก จากผู้มีสิทธิ์ กว่า 5 หมื่นคน

จากกระแส “ไม่เอา” และ ต้องการเปลี่ยน ทำให้ “ชาติไทยพัฒนา” ที่ส่ง “หน้าใหม่” ลงชิงตำแหน่ง จึงคว้าชัย

ทว่า สิ่งที่คนสุพรรณบุรีโหวตผ่านการเลือกตั้งท้องถิ่น ทำให้แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนาต้องถอดรหัสการเมือง เพื่อปูทางไปสู่ชัยชนะอีกครั้งในสนามเลือกตั้งระดับประเทศ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า สส.สุพรรณบุรี ทั้ง 5 เขตนั้น ล้วนเป็น “คนเก่า” ทั้งสิ้น คือ การใช้พลังของท้องถิ่นเป็นแรงหนุน สร้างผลงานเพื่อตรึงกระแสนิยม

สำหรับผลเลือกตั้ง ส.อบจ. ในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี กว่า 95% เป็นคนที่สนับสนุน “อุดม โปร่งฟ้า” และพรรคชาติไทยพัฒนา จึงเป็นโอกาสเหมาะที่จะวางเครือข่าย “สีชมพู” เดินงานคู่กับ สส. 

นอกจากนั้นแล้ว ชาติไทยพัฒนาที่มี “ตระกูลสะสมทรัพย์” ดูแลใน จ.นครปฐม ผลเลือกตั้ง คือ เสี่ยหนึ่ง จิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ ที่ลงเลือกตั้งในนาม “กลุ่มชาวบ้าน” ได้รับคะแนนสูงสุด แต่เมื่อดูผลเลือกตั้งรายอำเภอ ผ่านการเลือกตั้ง “ส.อบจ.” พบว่า มีบางพื้นที่ “กลุ่มชาวบ้าน” ยังไม่ชนะเครื่องจักรสีส้ม เช่น เขตเมืองนครปฐม เขต 1-3 เขต อ.สามพราน เขต 5 เขต อ.กำแพงแสน เขต 1 และพุทธมณฑล

บทเรียน เลือกตั้ง อบจ. ‘ชทพ.-ปช.’ เปลี่ยนก่อนสูญพันธุ์

ในผลลัพธ์ของการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ “นครปฐม” ที่กระแสส้มยังมา เป็นข้อมูลที่ “บ้านใหญ่สะสมทรัพย์” จะใช้เป็นบทวิเคราะห์ เพื่อปูทางไปสู่การยึดพื้นที่ในการเลือกตั้งใหญ่รอบหน้า

ขณะที่อีกพรรค คือ “ประชาชาติ”ที่ยังปักธงนายก อบจ.ได้ที่นราธิวาส และยะลา แต่จากสมรภูมิเลือกตั้งท้องถิ่นทำให้เห็นว่า เลือกตั้งระดับชาติ อาจต้องเหนื่อย สู้กับพรรคใหญ่คือ “ภูมิใจไทย”

ที่รอบนี้ “ภูมิใจไทย” โดย “ชาดา ไทยเศรษฐ์” จับมือ “พรรคกล้าธรรม” โดย “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” มาลองหยั่งกระแส ส่ง “อัลดุลลักษณ์ สะอิ” ปะทะกับ “กูเซ็ง ยาวอหะซัน” แชมป์เก่า ซึ่งผลคะแนนที่ได้นั้น “กูเซ็ง” ได้ 1.87 แสนคะแนน ส่วนผู้ท้าชิงได้ 1.77แสนคะแนน

ผลที่ออกมา “ดร.วรวิทย์ บารู” สส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ วิเคราะห์ว่า

“2-3 ปีมานี้มีคนต้องการเอากูเซ็งออกจากตำแหน่งหลายครั้ง รอบนี้ ภูมิใจไทยจับมือกับพรรคกล้าธรรม ทำให้กูเซ็งมองออก ว่าต้องรักษาฐานเสียงไว้ จึงประกาศชัดว่าอยู่กับพรรคประชาชาติ ก่อนหน้านี้ แม้ว่าไม่เป็นศัตรู แต่เขาไม่เคยมาช่วย การชนะรอบนี้ แค่หมื่นเดียว คนอย่างเสือเฒ่าก็ถือว่าแพ้”

ส่วนที่ จ.ยะลา “แบตาร์-มุขตาร์ มะทา” รักษาเก้าอี้ไว้ได้ ด้วยคะแนน 1.44 แสน ทิ้งห่าง “อับดุลลาเตะ ยากัด” คู่แข่งไปได้แบบขาดตัว ทั้งนี้พบว่า บัตรไม่เลือกผู้ใดสูง 2.9 หมื่นใบ ต่อเรื่องนี้ “ดร.วรวิทย์” บอกว่าเป็นธรรมดาที่บัตรโหวตโนจะสูง เพราะหลายพื้นที่ไม่มีคนที่เขาอยากเลือก ไม่ใช่ปรากฏการณ์ “เบื่อคนเก่า”

อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งท้องถิ่น ที่จะต่อยอดถึงการเมืองระดับชาติ “ดร.วรวิทย์” วิเคราะห์ว่า ต้องทำงานหนัก เพื่อสู้กับพรรคทุนหนา อย่างภูมิใจไทย รอบหน้าเขาเอาแน่ โดยขณะนี้มีกระแสโจมตีพรรคประชาชาติในหลายพื้นที่ ดังนั้นการดึงศรัทธาของประชาชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้อยู่ คือ การทำงานเพื่อประชาชนให้หนัก ตามที่ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ย้ำว่า ต้องทำงานให้ประชาชนมองเห็น ประมาทไม่ได้ เพราะเลือกตั้งหน้าต้องสู้กับ “ทุน”

บทเรียน เลือกตั้ง อบจ. ‘ชทพ.-ปช.’ เปลี่ยนก่อนสูญพันธุ์

ปรากฎการณ์ “แพ้ในชนะ” ของศึกเลือกตั้งท้องถิ่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงผลที่ จ.สุพรรณบุรี จ.นครปฐม ถือเป็นบทสะท้อนภาพการเมืองใหญ่ที่ปี 2570 ที่ไม่ว่า “พรรคประชาชาติ-พรรคชาติไทยพัฒนา” ต้อง “เปลี่ยน” ทั้งในเชิงยุทธศาสตร์ และการเดินเกมที่ต้องวางแผนระยะยาว หากคิดช้า หรือเปลี่ยนไม่ทัน อาจเสี่ยงสูญพันธุ์.