'รมช.คลัง' ยันโครงการแจกเงินหมื่น กระตุ้นเศรษฐกิจดี - ลดเหลื่อมล้ำ 0.01%

"รมช.คลัง" แจงกระทู้ถามสดของ "ปชน." ยันโครงการแจกหมื่นกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี มีแรงเหวี่ยงทางเศรษฐกิจถึงปี68 แถมลดเหลื่อมล้ำได้ 0.01%
ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประะานสภาฯ เป็นประธานการประชุม ช่วงกระทู้ถามสดด้วยวาจา โดยนายวรภพ วิริยโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ถามนายกฯ ถึงแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่พบว่า จีดีพีโตต่ำกว่าเป้าหมาย คือ 2.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่โตน้อยที่สุดในอาเซียน มองได้ว่ารัฐบาลสอบตกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
"อย่าลืมว่านี่คือสิ่งที่พรรคเพื่อไทยเคยอวดว่าเศรษฐกิจจะโตถึง 5 % ต่อปี แต่ครบปีแรกทำได้แค่ 2.5 % ซึ่งมีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายเรือธง คือ ดิจิทัลวอลเล็ต หรือแจกเงินหมื่น และจะดำเนินการมาตรการหลักต่อจากนี้ ในเฟส2และ3 ที่ต้องใช้เงินอีกประมาณเพิ่มอีก 2แสนกว่าล้านบาท จึงอยากทราบว่ามาตรการแจกเงินหมื่นที่ผ่านมาจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมายอย่างที่รัฐบาลคาดการไว้หรือไม่ ถึงยังคงเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจแบบเดิมในปี 2568" นายวรภพ ตั้งคำถาม
โดยนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ชี้แจงแทนนายกฯ ว่า โครงการแจกเงินหมื่นเฟส1 นั้น ยืนยันว่า เป็นการกระจายที่ถูกฝาถูกตัว ลงไปในจังหวัดที่มีสัดส่วนคนยากจนสูงเป็นจังหวัดแรกๆ และกระจายไปทุกพื้นที่ ส่วนข้อกังวลที่ว่า เงินจะกระจุกอยู่ที่รายใหญ่นั้น กว่า 68% ลงไปที่รายย่อย และการที่ประชาชนใช้เงินหมดอย่างรวดเร็วภายใน 3 เดือน ถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รวดเร็วรุนแรงทันท่วงที รวมถึงการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ในไตรมาสที่ 4 ก็เพิ่มขึ้นถึง 11% สูงสุดในรอบ 14 ไตรมาส
"ถ้าดูแค่ที่ตัวเลข ไม่ได้มีอคติ ผมคิดว่าคำตอบ เราคงเป็นคำตอบเดียวกัน โครงการนี้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี รัฐบาลสามารถปิดการบริหารเศรษฐกิจในปี 67 ได้ดี และมีแรงเหวี่ยงเชิงบวกส่งต่อไปถึงปี 68 ยืนยันว่าการกระจายเงินเฟส 1 ที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ 0.01% หากเปรียบเทียบกับระยะเวลา ถ้าไม่มีการทำอะไรเลย คือเวลาถึง 3 ปี ดังนั้นโครงการนี้ร่นระยะเวลาให้น้อยลง"นายเผ่าภูมิ กล่าว
นายเผ่าภูมิ ชี้แจงด้วยว่ากล่าวว่า รัฐบาลใช้กลไกที่มากกว่างบประมาณ ในการลดสัดส่วนการใช้กำไรในการประเมิน เพื่อให้ธนาคาร อย่างธนาคารออมสิน ตัดกำไรของตัวเอง ไปปล่อยสินเชื่อ โดยที่รัฐบาลไม่ต้องใช้เงินแม้แต่บาทเดียว
"รัฐบาลมีแผนจะขยายให้ครอบคลุมสินเชื่ออื่นๆ ด้วย ส่วนเรื่องโครงสร้าง เรามี พ.ร.บ.ศูนย์กลางทางการเงิน ซึ่งจะเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่สำคัญของประเทศ แต่เป็นเรื่องยากที่จะต้องเขียนกฎหมายฉบับใหม่ ยืนยันว่า รัฐบาลดูแลทั้งปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว" นายเผ่าภูมิ ชี้แจง