ล็อบบีตีตกคดี ‘ฮั้วเลือก 138 สว.’ บิ๊กเนมไล่เคลียร์ 22 บอร์ดคดีพิเศษ

ล็อบบีตีตกคดี ‘ฮั้วเลือก 138 สว.’ บิ๊กเนมไล่เคลียร์ 22 บอร์ดคดีพิเศษ จับตาเลื่อนวาระร้อน สว.ประกาศตอบโต้ ดำเนินคดี ยื่นซักฟอก - ถอดถอน
KEY
POINTS
- คดีฮั้วเลือก สว.หรือสมาชิกวุฒิสภา ชี้ชะตายกแรกวันนี้ โดยคณะกรรมการคดีพิเศษ 22 คน จะประชุมร่วมกัน เพื่อพิจารณารับหรือไม่รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษหรือไม่
- ในช่วงเย็นวันที่ 24 ก.พ.68 มีความพยายามล็อบบีจาก "บิ๊กเนม" เพื่อไม่ให้คณะกรรมการคดีพิเศษ มีมติรับคดีฮั้วเลือก สว. ให้เป็นคดีพิเศษ ทำให้การประชุมในวันนี้อาจจะเจอกันครึ่งทาง มีความเป็นไปได้สูงที่อาจจะต้องเลื่อนวาระดังกล่าวออกไปก่อน
- เกมต่อรองอำน
คดีฮั้วเลือก สว.หรือสมาชิกวุฒิสภา ชี้ชะตายกแรกวันนี้ โดยคณะกรรมการคดีพิเศษ 22 คน จะประชุมร่วมกัน เพื่อพิจารณารับหรือไม่รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษหรือไม่
โดย “พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ” อธิบดีดีเอสไอ ในฐานะกรรมการและเลขานุการกรรมการคดีพิเศษ เตรียมเสนอวาระพิจารณาคดีฮั้วการเลือก สว. ซึ่งจะมีการกล่าวหา 140 สว. (เสียชีวิต 1 ราย และเป็น สว.สำรอง 1 ราย) ทำให้เหลือ 138 ราย ที่อาจจะเข้าข่ายกระทำผิด
ไทม์ไลน์ก่อนหน้านี้ มีผู้ร้องให้มีการสอบสวนฮั้วเลือก สว. 3 กรณี ประกอบด้วย
1.พล.ต.ต.อนุชา จารยะพันธุ์ ขอความเป็นธรรมเลือก สว.จังหวัดปทุมธานี ร้องเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2567
2.นายภัทรพงษ์ ศุภอักษร ขอให้ดีเอสไอ ตรวจสอบการเลือก สว. ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ร้องเมื่อวันที่ 9 ก.ค.2567
3.นายทินกร จิตต์ไพบูลย์ ขอให้ดีเอสไอ ตรวจสอบการเลือก สว. สาย ข กลุ่มที่ 1 เนื่องจากกระบวนการเลือกอาจมีกรณีความผิดต่อกฎหมาย ร้องเมื่อวันที่ 19 ก.ค.2567
จากนั้นเมื่อวันที่ 25 ก.ย.2567 ดีเอสไอ ได้ปรึกษาหารือกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อมาวันที่ 22 ม.ค.2568 กกต.แจ้งกลับดีเอสไอ ไม่มีความคืบหน้า จากนั้นวันที่ 3 ก.พ.2568 ดีเอสไอ เห็น กกต.ยังนิ่ง จึงแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมต่อ กกต.
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 18 ก.พ.2568 นายแสวง บุญมี เลขาฯ กกต. ทำหนังสือตอบกลับดีเอสไอ ยังไม่ได้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการ กกต.ชุดใหญ่พิจารณา ตาม ม.49 โดยในวันที่ 22 ก.พ.2568 นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ยอมรับว่า ได้รับหนังสือเกี่ยวกับคดีฮั้วเลือก สว.จากดีเอสไอแล้ว
โดยในวันที่ 25 ก.พ.2568 ประชุมคณะกรรมการพิเศษ 22 คน พิจารณา-มีมติรับเป็นคดี กระทำความผิดต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร หรือไม่ ตาม ม.116 และ ม.209
สำหรับหนังสือที่ “ดีเอสไอ” ส่งให้ “กกต.” พิจารณาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการฮั้วเลือก สว. มีเนื้อหาดังนี้
1.ดีเอสไอเชื่อได้ว่ามีขบวนการดังกล่าวจริง และเข้าข่ายความผิดอาญาฐานอั้งยี่ - ความผิดฐานฟอกเงิน 2.ดีเอสไอ จึงประสงค์ที่จะรับดำเนินการสอบสวน ในส่วนที่พบการกระทำผิดทางอาญาไว้ดำเนินการ
แอ็กชันของ “ดีเอสไอ” ขึงขังจริงจัง แต่ยังมีช่องว่างเรื่องอำนาจการดำเนินการอยู่ จึงต้องจับตาว่า จะมีการยื่นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวินิจฉัยขอบเขตอำนาจหรือไม่
ขณะเดียวกัน “สว.สีน้ำเงิน” ไม่ได้อยู่นิ่งรอถูกเชือด แต่ดาหน้าเปิดศึกอย่างต่อเนื่อง ไม่เกรงกลัว “ดีเอสไอ” เช่นกัน โดยแถลงยืนยัน
ล่าสุด ระบุว่า ต้องปกป้องศักดิ์ศรีของวุฒิสภา และ สว.ซึ่งตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ “กระทำความผิดต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร” และยืนยันหลักการ และกระบวนเลือก สว.ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่กระบวนการที่เป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร
พร้อมกับมีประเด็นโต้แย้ง และเตรียมดำเนินการตอบโต้ดังนี้
1. ดีเอสไอ ดำเนินการโดยไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่มีอำนาจหน้าที่สอบสวนคดีเลือกตั้ง เว้นแต่ กกต.จะมอบอำนาจให้ทำ แต่เมื่อทำแล้วก็ต้องส่งสำนวนให้ กกต.ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ กกต. มีหนังสือแจ้งแต่ กกต.ยังไม่มีมติมอบอำนาจให้
2.กระบวนการสืบสวนของดีเอสไอมีความผิดปกติ ระบุว่าเป็นการกระทำในลักษณะองค์กรอาชญากรรม แต่ไม่มีการระบุถึงผู้กระทำความผิด และพยานหลักฐาน
3. เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.ในฐานะองค์กรอิสระ ตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ม.41 - 49
4. สว.จะเข้าชื่อยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไป พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม โดยไม่ลงมติ ตาม ม.153 รวมถึงยื่นถอดถอน
5. หากทำให้วุฒิสภา และ สว.ได้รับความเสื่อมเสีย จะดำเนินคดีถึงที่สุด จะพิจารณาแจ้งความดำเนินคดี รมว.ยุติธรรม อธิบดีดีเอสไอ กรรมการคดีพิเศษ และเครือข่าย
6.จะพิจารณายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการคดีพิเศษ
เมื่อเป็นเกมเดิมพันอำนาจ “สว.สีน้ำเงิน” ซึ่งอยู่ในตำแหน่งยังไม่ครบขวบปี จำเป็นต้องเดินเกมดับเครื่องชน ไม่เช่นนั้นอาจจะสูญเสียเก้าอี้อำนาจ
อย่างไรก็ตาม ต้องวัดใจ “คณะกรรมการคดีพิเศษ” หรือบอร์ดคดีพิเศษ ซึ่งมีทั้งหมด 22 คน ตามโครงสร้างประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ปัจจุบันมอบหมาย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ ด้านความมั่นคง และรมว.กลาโหม เป็นประธานแทน ส่วนรองประธาน รมว.ยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง และกรรมการอีก 20 คน
กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ อัยการสูงสุด พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา พล.อ.พิสิษฐ์ นพเมือง เจ้ากรมพระธรรมนูญ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ
และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง 9 คน โดยในจำนวนนี้ ต้องมีบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐศาสตร์ การเงินการธนาคาร เทคโนโลยี สารสนเทศ หรือกฎหมาย อย่างน้อยด้านละหนึ่งคนเป็นกรรมการ และมีอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่งตั้งข้าราชการในกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไม่เกิน 2 คนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ได้แก่ นายเพ็ชร ชินบุตร ด้านเศรษฐศาสตร์ นายณปกรณ์ ธนสุวรรณเกษม ด้านการเงินการธนาคาร นางดวงตา ตันโช ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ นายชาติพงษ์ จีระพันธุ ด้านกฎหมาย นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ด้านกฎหมาย นางทัชมัย ฤกษะสุต ด้านกฎหมาย พล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง ด้านการสอบสวนคดีอาญา พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก ด้านการปราบปรามผู้มีอิทธิพล
หากมีมติรับเป็นคดีฮั้วเลือก สว. เป็นคดีพิเศษ จะได้เสียงเกิน 2 ใน 3 หรือเกิน 14 เสียง หากมีมติไม่รับเป็นคดีพิเศษ จะได้เสียงไม่เกิน 2 ใน 3 หรือไม่เกิน 14 เสียง ขณะเดียวกันก็มีโอกาสเลื่อนการพิจารณาเช่นกัน เนื่องจากคณะกรรมการคดีพิเศษบางคนยังไม่ทันตั้งตัว และอาจจะไม่กล้าเสี่ยง เนื่องจาก “สว.สีน้ำเงิน” ตั้งแท่นรอฟ้องร้องดำเนินคดี
โดยเฉพาะคณะกรรมการคดีพิเศษ ฝ่ายข้าราชการประจำที่มีเกือบ 10 เสียง ยังมีข้อกังขาอำนาจของ “ดีเอสไอ” ในการสอบสวนคดีดังกล่าวทำได้หรือไม่ เพราะตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ จะอยู่ในความรับผิดชอบของ กกต.
ในช่วงเย็นวันที่ 24 ก.พ.68 มีความพยายามล็อบบีจาก "บิ๊กเนม" เพื่อไม่ให้คณะกรรมการคดีพิเศษ มีมติรับคดีฮั้วเลือก สว. ให้เป็นคดีพิเศษ ทำให้การประชุมในวันนี้อาจจะเจอกันครึ่งทาง มีความเป็นไปได้สูงที่อาจจะต้องเลื่อนวาระดังกล่าวออกไปก่อน
ทั้งนี้เพื่อเปิดให้ "บิ๊กเนม" ทั้งจาก "ค่ายสีแดง" และ "ค่ายสีน้ำเงิน" ได้พบปะพูดคุยเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาล ระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย ให้แล้วเสร็จเสียก่อน
เรื่องร้อนนี้ แม้ “บิ๊กอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ จะส่งสัญญาณเตรียมรับเป็นคดีพิเศษ แต่ที่สุดแล้ว ก็ต้องวัดใจคณะกรรมการคดีพิเศษที่มีที่มาจากหลากหลายสาย จึงมีโอกาสออกได้ทั้ง 3 หน้า รับ ไม่รับ หรือเสียงแตก เอาตัวออกจากความเสี่ยงในศึกการเมืองครั้งนี้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์