กกต.แจงคดีฮั้วเลือก สว.ตั้ง กก. 3 ชุดสอบ กม.ปิดช่ององค์กรอื่นทำ

กกต.แจงคดีฮั้วเลือก สว.ตั้ง กก. 3 ชุดสอบ กม.ปิดช่ององค์กรอื่นทำ

เลขา กกต.แจงคดีฮั้วเลือก สว. ตั้ง กก. 3 ชุดดำเนินการ 'ดีเอสไอ' ร่วมด้วย เผยชงศาลฎีกาฟันแล้ว 3 คดีจากคำร้อง 220 เรื่อง ยันกฎหมาย กกต.รับโอนคดีมาได้ ปิดช่องหน่วยงานอื่นทำ

เมื่อวันที่ 28ก.พ. 2568 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงการดำเนินคดีฮั้วเลือก สว.ว่า คณะกรรมการ กกต. และสำนักงาน กกต.ได้ให้ความสำคัญโดยได้ดำเนินการพิจารณาคำร้องการเลือก สว. นับแต่มีการเลือก สว. ได้แยกกลุ่มเฉพาะที่เป็นการซื้อเสียง และฮั้วการเลือก สว. คือ เสนอให้ ว่าจ้าง เรียกรับ ฮั้ว จัดตั้ง โพยเลขชุด บล็อคโหวต คะแนนสูงผิดปกติ คะแนน 0 เพราะเห็นว่า เป็นคำร้องที่มีลักษณะพิเศษ มีความสลับซับซ้อน และมีการกระทำเป็นกระบวนการ

โดยมีคำร้องที่อยู่ในกลุ่มนี้ 220 คำร้อง และรับเป็นสำนวนเพื่อสืบสวนและไต่สวน โดยได้มีการดำเนินการ คือ

1. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาและประสานการปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสืบสวนและไต่สวนและการดำเนินคดีเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 มีผู้แทนจาก 3 หน่วยงาน ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

2.แต่งตั้งเจ้าพนักงานจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน จาก 3 หน่วยงาน จำนวน 10 คน จากข้าราชการระดับสูง คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

3.แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและไต่สวนเพิ่มเติมขึ้นอีก 1 คณะ ซึ่งเป็นคณะพิเศษที่ประกอบด้วยรองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง 4 คน และจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) 3 นายให้มีหน้าที่และอำนาจสืบสวนและไต่สวนเรื่องคัดค้านการเลือกสมาชิกวุฒิสภาในทุกพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย

โดยขณะนี้คณะกรรมการสอบสวนและไต่สวนอยู่ระหว่างสอบสวนและไต่สวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสอบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2567 และทุกสำนวนต้องเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าว และพ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 ต้องให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสชี้แจงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

นายแสวง กล่าวอีกว่า ในการเลือก สว.ปี 2567 มีคำร้อง และที่รวมถึงรวมความปรากฏ จำนวนทั้งสิ้น 577 เรื่อง กกต. พิจารณาแล้วเสร็จ จำนวน 297 เรื่อง ในส่วนของกลุ่มทุจริต เสนอให้ ว่าจ้าง เรียกรับ ฮั้ว จัดตั้ง โพย เลขชุด บล๊อคโหวต คะแนนสูงผิดปกติ หรือคะแนน 0 กลุ่มนี้ที่มีจำนวน 220 เรื่อง กกต. พิจารณาแล้วเสร็จ 109 เรื่อง และส่งศาลฎีกา จำนวน 3 เรื่อง

นายแสวง กล่าวด้วยว่า ส่วนการดำเนินการเมื่อมีความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองนั้น พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. 2560 ได้กำหนดให้ กกต.มีหน้าที่และอำนาจเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏต่อ กกต.ไม่ว่าโดยทางใด ไม่ว่าจะมีผู้แจ้งหรือผู้กล่าวหาหรือไม่ ถ้ามีหลักฐานพอสมควรหรือมีข้อมูลเพียงพอที่จะสืบสวนต่อไปว่ามีการกระทำใดอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง คือ ให้มีหน้าที่ต้องดำเนินการให้มีการสอบสวนหรือไต่สวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานตามมาตรา 41 ให้มี อำนาจสอบสวน ไต่สวนหรือดำเนินคดีตามมาตรา 41 และแต่งตั้งพนักงานของสำนักงาน กกต. เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจในการสืบสวน สอบสวน ไต่สวน หรือดำเนินคดีตามระเบียบที่กำหนด และหากมีกรณีมีความจำเป็น กกต. จะแต่งตั้งตั้งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่นของรัฐให้เป็นเจ้าพนักงาน เพื่อปฏิบัติหน้าที่เฉพาะกาลหรือเฉพาะเรื่องตามที่ กกต. กำหนดก็ได้ ตามมาตรา 42 ให้มีอำนาจในการโอนเรื่องหรือส่งสำนวนโดยให้หน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวน ที่รับเรื่องการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองไว้พิจารณาเมื่อ กกต. เห็นว่า เป็นการสมควรที่ กกต. จะดำเนินการเองตามมาตรา 49

เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า เมื่อพิจารณาข้อกฎหมายแล้ว กกต. มีอำนาจในการแต่งตั้งเจ้าพนักงานจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่นของรัฐ แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดให้มอบหมายให้หน่วยงานอื่นของรัฐทำหน้าที่แทนไว้ กรณีที่เป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดหลายบท หน่วยงานอื่นของรัฐหรือพนักงานสอบสวนจะรับเรื่องไว้พิจารณาก็ต้องพิจารณาว่ากฎหมายได้ให้อำนาจไว้หรือไม่ หากกฎหมายให้อำนาจไว้ก็มีอำนาจในการรับเรื่องไว้ดำเนินการเองได้เลย ดังนั้นที่สำนักงาน กกต. มีหนังสือถึง กรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าได้รับเรื่องการเลือก สว.ที่เป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรมเป็นคดีพิเศษไว้ดำเนินการแล้วหรือไม่ คดีอะไร ก็เพื่อจะได้เสนอ กกต. พิจารณาตามมาตรา 49 ต่อไป