เจาะประมูล ‘เว็บแอป’ 848 ล. คู่เทียบ 2 ราย เสนอต่ำราคากลาง 4.25 แสน

เจาะขั้นตอนการประมูลจัดซื้อจัดจ้างโครงการ ‘เว็บแอป’ ของ สปส. 848 ล้านบาท คู่เทียบ 2 ราย ‘IRCP’ เสนอต่ำกว่าราคากลาง 425,000 บาท ‘ยิบอินซอย’ แห้ว
เงื่อนปมการใช้งบประมาณในหลายโครงการของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) หน่วยงานภายใต้กระทรวงแรงงาน ที่มี “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็น “รัฐมนตรีว่าการ” โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง “เว็บแอป” วงเงินกว่า 848 ล้านบาท กำลังได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างมาก
หลังจาก “ไอซ์” รักชนก ศรีนอก สส.กทม. พรรคประชาชน (ปชน.) ดำเนินการตรวจสอบการใช้งบประมาณว่าเสี่ยงไม่คุ้มค่า ดำเนินการล่าช้า และล่าสุดอาจพบพิรุธหลายประการ เนื่องจากมีการเปิดเผย “หนังสือเวียน” ภายใน สปส. มิให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รายใดเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าว
เบื้องต้น กรุงเทพธุรกิจนำเสนอไปแล้วว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ดำเนินประกวดราคาจ้างโครงการปรับเปลี่ยนระบบงานประกันสังคมบนเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมเป็นระบบ Web Application ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ในปีงบประมาณ 2565 มีวงเงินงบประมาณ 850 ล้านบาท กำหนดราคากลาง 848,925,000 บาท พบว่ามีผู้ชนะการประมูลคือ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสริช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “IRCP” ด้วยวงเงิน 848 ล้านบาท
อ่านข่าว:
เปิดตัว IRCP ผู้ชนะประมูล สปส.ทำ ‘เว็บแอป’ 848 ล.ก่อน ‘รักชนก’ กังขา
'รักชนก' ซัด สปส.หลังตัวแทนบอร์ดค้านไม่เปิดข้อมูลเว็บแอป 850 ล.
ล่าสุด กรุงเทพธุรกิจ ตรวจสอบในฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พบขั้นตอนการประมูลดังนี้
โครงการปรับเปลี่ยนระบบงานประกันสังคมบนเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมเป็นระบบ Web Application มีสำนักบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ สปส. เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ ระบุวงเงินงบประมาณ 850 ล้านบาท โดยเป็นการใช้วงเงินงบประมาณเมื่อปี 2561 กำหนดราคากลางเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564 เป็นเงิน 848,925,000 บาท แบ่งเป็น ค่า Hardware 213,129,000 บาท ค่า Software 467,796,000 บาท ค่าพัฒนาระบบ 147,000,000 บาท และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 21 ล้านบาท โดยมีที่มาของราคากลาง (อ้างอิง) จากบริษัท 3 แห่ง ได้แก่ 1.NTT Solutions (Thailand) Limited 2.Thai Transmission Industry Co., Ltd. 3.Prior Solution co., Ltd.
โดยมีผู้ขอรับซื้อเอกสาร (ซื้อซอง) ระหว่างเดือน ก.ย.-ต.ค. 2564 จำนวน 16 ราย ได้แก่
- บริษัท เดสพาซีโต บูล จำกัด
- บริษัท ทีซีเอ็ม เทคโนโลยี จำกัด
- บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ริโก้ (ประเทศไทย) จำกัด
- บริษัท พีเอ็มสแควร์ (ประเทศไทย) จำกัด
- บริษัท บีทามส์ โซลูชั่น จำกัด
- บริษัท จีเนียส-ทรี จำกัด
- บริษัท แอตแลนเท็กซ์ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด
- บริษัท มิลเลนเนียม บิสซิเนส โซลูชั่น จำกัด
- บริษัท สมาร์ท แคนน่อน จำกัด
- บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสริช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “IRCP”
- บริษัท ยิบอินซอย จำกัด
- บริษัท โอเพ่น เทคโนโลยี่ จำกัด (มหาชน)
- สายัณห์ ที่ปรึกษากฎหมาย การบัญชี และการพัสดุ
- บริษัท เจพี เอเชีย โกลบอล จำกัด
- บริษัท เบสท์เทคแอนด์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2564 มีการยื่นเอกสาร (ยื่นซอง) 2 บริษัท ได้แก่
- บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสริช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “IRCP” เสนอราคา 848,500,000 บาท (ต่ำกว่าราคากลาง 425,000 บาท)
- บริษัท ยิบอินซอย จำกัด เสนอราคา 848,888,000 บาท (ต่ำกว่าราคากลาง 37,000 บาท)
หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2564 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (ปัจจุบันเป็นปลัดกระทรวงแรงงาน) ลงนามในประกาศสำนักงานประกันสังคมเรื่อง ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา ประกวดราคาจ้างโครงการปรับเปลี่ยนระบบงานประกันสังคมบนเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมเป็นระบบ Web Application ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ซึ่งปรากฏชื่อ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสริช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “IRCP” เป็นผู้ชนะการประกวดราคา ด้วยวงเงิน 848,000,000 บาท (ต่ำกว่าราคาที่เสนอ 500,000 บาท ต่ำกว่าราคากลาง 925,000 บาท) และทำสัญญาดำเนินการเมื่อ 20 ธ.ค. 2564
ทั้งหมดคือข้อมูลโดยสังเขปเกี่ยวกับขั้นตอนการประมูลโครงการ “เว็บแอป” ของ สปส.วงเงินกว่า 848 ล้านบาท ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในตอนนี้
อย่างไรก็ดีเมื่อ 20 ก.พ. 2568 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการใช้งบประมาณของ สปส. หลายประเด็น หนึ่งในนั้นชี้แจงเรื่องการทำเว็บแอป(Web App) ว่า ดำเนินการเพื่อบริหารจัดการหลังบ้านของสปส. อยู่ภายใต้ระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐที่กำหนดไว้ แต่ไม่สามารถทราบได้ว่ามีการฮั้วหรือไม่ ซึ่งขณะนี้การทำ Wep App กำลังให้ทาง สปส. ดำเนินการและจะแจ้งออกมาให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง ส่วนการส่งงานล่าช้านั้น โดยข้อระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ กรณีที่ส่งงานช้าต้องมีค่าปรับอยู่แล้วในสัดส่วนเงินที่ต่างกัน
สปส. ก็ได้ดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด หากกระทำโดยมิชอบ ตนและเจ้าหน้าที่จะต้องถูกตรวจสอบโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ จึงยืนยันได้ว่าดำเนินการตามระเบียบแน่นอน แต่ทั้งนี้อาจจะมีเงื่อนไขในช่วงโควิด-19
“ในการจัดซื้อจัดจ้าง หรืองบประมาณรายจ่ายของสำนักงานฯ ทุกกระบวนการดำเนินตามระเบียบกฎหมายที่กำหนดงบประมาณที่จ่ายออกไปได้ผ่านการอนุมัติจากคณะทำงานฯ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ รวมถึงบอร์ดประกันสังคม ในการพิจารณาอนุมัติ และยืนยันพร้อมที่จะให้ตรวจสอบได้ ที่สำคัญ ทุกอย่าง ทุกเม็ดเงิน ทุกงบประมาณทุกบาททุกสตางค์ใช้จ่ายตามระเบียบ” นายบุญสงค์ กล่าว
นายบุญสงค์ กล่าวด้วยว่า งบประมาณที่เพิ่มขึ้น 66% ในช่วงเวลา 4 ปี อาจเพิ่มในช่วงเปลี่ยนผ่านเว็บแอป 850 ล้านบาท จากเดิมที่เราใช้ระบบทำด้วยมือ (Manual system) ต้องใช้การวอล์คอินเข้ามา ก็ต้องเปลี่ยนให้ผู้ประกันตนสะดวกขึ้น จ่าย/โอนเงินผ่านธนาคารได้เลย และเปลี่ยนจากระบบ Sapiens เป็นระบบคอมพิวเตอร์ ที่ใช้มานานและต้องเช่าทุกปี มาเป็นระบบที่ สปส. จัดทำเอง รวมถึงส่วนหนึ่งที่มียอดผู้ป่วยโรค ICD เพิ่มขึ้น และอีกส่วนช่วงโควิด-19 ทำให้ค่ารักษา พยาบาลเพิ่มขึ้น