ฉากทัศน์หลังล้ม ‘25 สส.ก๊กส้ม’ จับตา ‘ก๊กแดง’ แตกหัก‘ ก๊กน้ำเงิน’

สมการพรรคร่วมรัฐบาลอาจขยับสับเปลี่ยนได้ ภายใต้บริบท 25 สส. "พรรคประชาชน" ถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากประเด็นจริยธรรมร้ายแรง
KEY
POINTS
- กรณีเลวร้ายที่สุด หาก 25 สส.พรรคประชาชน ถูกตัดสิทธิทางการเมื
ศึกประลองกำลังระหว่างคนการเมืองในปีก 3 ก๊ก คน 3 สี ศึก 3 สำนัก จบลงด้วยภาพแห่งเดือนกุมภาฯ ร้อน กับฉากทัศน์งัดข้อกระบวนท่าต่อสู้กันภายในรัฐสภา และจบลงด้วยการ “พักยก” ศึกแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเดินหน้าตั้ง ส.ส.ร.ไว้ก่อน
สัญญาณคีย์แมนปีก “พรรคเพื่อไทย” ในตอนแรกยอมรับในสมัยประชุมรัฐสภาครั้งนี้เกมแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ทันแล้ว เพราะรัฐสภาจะปิดสมัยในช่วงก่อนสงกรานต์ 2568
ทว่า มีการหารือกันในหมู่วิป 3 ฝ่ายแล้วก็ตกลงเคาะนัดประชุมร่วมกันของรัฐสภาอีกครั้งในวันที่ 17 มี.ค.2568 เพื่อขอมติจากที่ประชุมรัฐสภาในการส่งญัตติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องความชัดเจนของอำนาจหน้าที่สมาชิกรัฐสภาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ปีกพรรคภูมิใจไทย และ สว.ส่วนใหญ่สายสีน้ำเงิน ให้คำยืนยันจะพร้อมโหวตตามพรรคเพื่อไทยส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดก่อน
เกมนี้ “พรรคเพื่อไทย” ต้องการคำตอบออกจากศาลรัฐธรรมนูญว่า จำเป็นต้องทำประชามติกันอีกกี่ครั้ง ซึ่งมีการมองว่า ประชามติอาจมีทั้ง 3 ยก หรือ 2 ยก
อย่างไรก็ตาม ปลายทางเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เซียนการเมืองในพรรคเพื่อไทย ออกปากยอมรับบทสุดท้าย ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นสารตั้งต้น ส.ส.ร.ก่อนเลือกตั้งใหญ่ปี 2570 อาจจะสิ้นสุดทางแก้ หรือถึงทางแท้งก็เป็นได้
ความพยายามทั้งหมดของ “พรรคเพื่อไทย” เลือกเล่นบทแสดงให้ประชาชนเห็นว่า พยายามเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว เพียงแต่ยังติดหล่มเกมการเมืองขั้วฝั่งพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ปี 2560
ปัจจัยสำคัญอยู่ที่การกุมอำนาจเด็ดขาดของ กลุ่มการเมืองปีกสีน้ำเงิน พรรคภูมิใจไทย ที่มีขุมกำลัง สส.ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในมือ ขณะนี้ 69 เสียง
ผนวกกับคนในซีกวุฒิสภาอีก ไม่ต่ำกว่า 130-170 เสียง ที่สามารถแสดงพลังต่อรองทางการเมืองไปทาง “ก๊กสีน้ำเงิน” ได้อยู่ตลอดเวลา
โดยมี สว.สีน้ำเงินยืนพื้นไม่ต่ำกว่า 150 เสียง พร้อมเล่นบทไม่ให้ “พรรคครูใหญ่” เปลืองตัวทางการเมือง
ตัดฉากมาขั้วฝ่ายค้าน ก๊กสีส้ม “พรรคประชาชน” เมื่อดันแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จในเดือนก.พ. ก็ต้องมาสูญเสียสมาธิจากกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำลังเดินหน้าไต่สวนเรียกบรรดา กลุ่ม 44 สส.อดีตพรรคก้าวไกล เข้าชี้แจง และแก้ข้อกล่าวหาจากการร่วมเสนอเชื่อแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ผลจากร่วมแก้ไขมาตรา 112 ดาบแรกทำให้ “พรรคก้าวไกล” ถูกยุบพรรคจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ดาบสองในชั้น ป.ป.ช. 25 สส.พรรคประชาชน แบ่งเป็น สส.บัญชีรายชื่อ 17 คน และ สส.เขต 8 คน อยู่ในข่ายสุ่มเสี่ยงที่จะถูกพักงาน และถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีพแบบ “ช่อ พรรณิการ์ วานิช” อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่
ตาต่อตาฟันต่อฟัน ก๊กค่ายส้ม ขยับเดินเกมต่อรองทางการเมืองสเต็ปต่อไป ด้วยการยื่นถอดถอน “สุชาติ ตระกูลเกษมสุข” ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธาน ป.ป.ช.คนใหม่ ด้วยการเข้าชื่อเพื่อเสนอเรื่องให้ประธานรัฐสภาพร้อมหลักฐานเพื่อเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระมาไต่สวน “สุชาติ” กรณีใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
หมากต่อไปของปีกสีส้มคือ ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 เกมนี้พุ่งเป้าไปที่ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว เพราะต้องการใช้สมาธิเปิดแผล นายกฯ ตัวจริงที่อยู่หลังฉาก
ไล่ไทม์ไลน์กว่า กลุ่ม 25 สส.พรรคประชาชน จะรู้ผลในชั้น ป.ป.ช.หรือผลของคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถึงที่สุด อาจใช้เวลาร่วม 1 ปีอย่างไวที่สุด
ขณะที่กระบวนการล้ม สว.ผ่านการเดินเรื่องร้องผ่านกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็ถูกมองว่าเป็นเกมต่อรองอย่างหนึ่งของปีกรัฐบาลพรรคเพื่อไทยกับขั้วสีน้ำเงิน ยิ่งปลายทางก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะล้ม สว.สีน้ำเงินไปได้ เพราะว่ากันว่า มีแบ็กอัพมือที่มองไม่เห็นลงมาเดินเกมยับยั้งกระบวนการล้ม สว.
การเมืองไทยเข้าสู่การงัดข้อล่อเต็มแข้งของคน 3 ก๊ก ฉวยจังหวะทุกย่างก้าว ผ่านการต่อรองทั้งแง่มุมข้อกฎหมายผ่านองค์กรอิสระ และดิสเครดิตทางการเมือง
หากมีการเลือกตั้งซ่อม สส.ครบ 8 เขต จะมี สส.ในสภาฯ เหลือ 476 คน เสียงกึ่งหนึ่งในสภา คือ 238 เสียง
เมื่อก๊กสีส้มอ่อนกำลัง ก๊กรัฐบาลผสมเข้มแข็ง อำนาจต่อรองจะตกอยู่ในมือของ “พรรคเพื่อไทย” ในฐานะแกนนำรัฐบาล มีการมองสมการการเมืองที่อาจเปลี่ยนไปในเวลานั้น
สมการพรรคร่วมรัฐบาล 321 เสียง พรรคเพื่อไทย 142 เสียง พรรคภูมิใจไทย 69 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง ประชาธิปัตย์ 25 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง พรรคไทรวมพลัง 2 เสียง พรรคกล้าธรรม 24 และพรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง
เกมฝ่ายค้านอ่อนกำลัง สมการนี้ “นายใหญ่” และผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐบาลคงต้องคิดถึงจังหวะในเวลานั้น ว่า “พรรคภูมิใจไทย” ยังจำเป็นอยู่ในการร่วมรัฐบาลหรือไม่
โดยเฉพาะกระทรวงสำคัญ “กระทรวงมหาดไทย” ที่หมายมั่นว่าควรเป็นของพรรคเพื่อไทยมาตั้งแต่ต้น
คนการเมืองในปีกรัฐบาลก๊กสีแดง วิเคราะห์ว่า “นายใหญ่” จะเลือกใช้บริการใครในกระดานการเมืองหลัง สส.สีส้มอ่อนพลัง
ระหว่าง “ครูใหญ่” ที่เคยเปล่งวลี “จบแล้วครับนาย” หรือ “คนกล้าทำ” แห่ง “พะเยา” อย่าง “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” สส.พะเยา พรรคกล้าธรรม
หากดีด “พรรคภูมิใจไทย” 69 เสียงออก พรรคร่วมรัฐบาลก็ยังมีเสียงเหลือพอเกินกึ่งหนึ่งของสภา ที่ 252 เสียง ไม่มีปัญหาในการโหวตกฎหมายสำคัญหรือแม้แต่การลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี
สมการในเวลานั้นจะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องรอฝ่ายค้าน สส.ลดลงก่อน คนการเมืองยังเห็นว่าเลือกใช้ “ผู้กองธรรมนัส” ไม่เขี้ยวเท่าอยู่ร่วมรัฐบาลกับพรรคครูใหญ่ ที่เป็นศัตรูสำคัญทางการเมืองอันดับ 1ในการเลือกตั้งแชร์แต้ม สส.ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคอีสาน เห็นได้ชัดจากศึกเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมา
แน่นอนว่าปฏิบัติการดูดเสียง สส.จากทั้งพรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่นับรวม “ลุงบ้านป่า” จำนวน 19 เสียงจะเกิดขึ้นในเวลาที่ก๊กสีส้มอ่อนกำลัง ถึงเวลานั้น “พรรคพลังประชารัฐ” อาจแตกเป็นเสี่ยงได้
พรรคขั้ว “ผู้กองธรรมนัส” อาจมีพลังเพิ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยยังสามารถเดินหน้าทางการเมืองต่อไปได้โดยไม่ต้องมีสมการ “คนสีน้ำเงิน” อยู่ร่วมชายคาเดียวกันก่อนนับถอยหลังเลือกตั้งใหญ่ปี 2570
สัจจะวาจาทางการเมืองมักไม่มีในหมู่คนการเมือง แต่เมื่อจำเป็นต้องเล่นเกมแตกหัก “สีน้ำเงิน” โอกาสที่ “คนกล้าทำ” จะเล่นบทสร้างพลังอำนาจให้นายย่อมเกิดขึ้นได้เสมอภายใต้ฉากทัศน์ ก๊กสีส้ม อ่อนกำลัง สส.ลง
ฉากทัศน์ปลายทางก่อนเลือกตั้งใหญ่ปี 2570 “พรรคครูใหญ่” คงไม่อยากอดอยากปากแห้งไปนั่งซีกฝ่ายค้าน ถึงเวลานั้นคงทำทุกวิถีทางไม่ให้ตัวเองถูกบิ๊กการเมืองก๊กสีแดง ดีดออกจากสมการพรรคร่วมรัฐบาล
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์