'พริษฐ์' ชู 3 ข้อสวน 'วันนอร์' ลั่นไม่ตัดชื่อ 'ทักษิณ' จากซักฟอก

'พริษฐ์' ชู 3 ข้อสวน 'วันนอร์' ลั่นไม่ตัดชื่อ 'ทักษิณ' จากซักฟอก

'พริษฐ์' ชู 3 ข้อสวนกลับ 'วันนอร์' แจ้งให้ตัดชื่อ 'ทักษิณ' ออกจากญัตติซักฟอก ลั่นไร้กฎหมายห้าม ปชช.จะตัดสินเอง มีความเหมาะสมหรือไม่

เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2568 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวถึงกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหนังสือด่วนถึงผู้นำฝ่ายค้าน เพื่อขอให้นำชื่อ “บุคคลภายนอก” (นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บิดา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ) ออกจากเนื้อหาญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก่อนที่ประธานสภาฯ จะบรรจุญัตติดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม โดยอ้างถึงข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรข้อ 176 นั้น

นายพริษฐ์ กล่าวว่า ไม่เห็นถึงเหตุผลว่าทำไมพรรคประชาชนจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการดังกล่าว ใน 3 ประเด็น คือ

1. ในเชิงอำนาจหน้าที่ ตนเห็นว่าข้อบังคับไม่ได้ให้อำนาจประธานสภาฯ ในการใช้ดุลพินิจมาตัดสินว่าเนื้อหาสาระของญัตติควรจะเป็นเช่นไร หรือมีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ระบุชัดเจนถึงสิทธิของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ โดยไม่มีส่วนไหนที่พูดถึงดุลพินิจของประธานสภาฯ ในการประเมินเนื้อหาของญัตติเพื่อตัดสินใจว่าจะบรรจุญัตติหรือไม่

นอกจากนี้ ข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 176 ก็ระบุเพียงแค่ให้ประธานสภาฯ ตรวจสอบว่าญัตติมี “ข้อบกพร่อง” หรือไม่ เมื่อพิจารณาจากข้อกฎหมายดังกล่าว “ข้อบกพร่อง” ในที่นี้ ย่อมถูกเข้าใจได้ว่าหมายถึงในกรณีที่มีข้อผิดพลาดในเชิงรูปแบบ เช่น มีรายชื่อผู้เสนอที่ไม่ครบตามเกณฑ์ที่ต้องการ ลายเซ็นของผู้เสนอไม่ตรงกับลายเซ็นในระบบ หรือมีการอ้างถึงมาตราหรือข้อกฎหมายที่คลาดเคลื่อน

2. ในเชิงขั้นตอน แม้จะอ้างข้อบังคับข้อ 176 ในการแจ้งให้พรรคแก้ไขข้อความในญัตติ แต่การแจ้งของประธานสภาฯ นั้นไม่ชอบด้วยข้อบังคับ เพราะไม่เป็นไปตามกรอบเวลาที่ระบุไว้ในข้อบังคับข้อ 176 ซึ่งระบุว่า “หาก[ญัตติ]มีข้อบกพร่อง ให้ประธานสภาแจ้งผู้เสนอทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับญัตติ” แต่สำหรับกรณี้ ทางประธานสภาฯ ได้รับญัตติวันที่ 27 ก.พ.(ตามที่สำนักงานฯ ลงวันรับ และตามหลักฐานการยื่นหนังสือที่ถูกรายงานตามสื่อต่อสาธารณะ) ในขณะที่ได้มีการแจ้งมาที่ผู้เสนอในวันที่ 7 มีนาคม ซึ่งเกินกรอบ “ภายในเจ็ดวัน” อย่างชัดเจน

3. ในเชิงเนื้อหาสาระ ไม่ว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาสาระของญัตติ แต่ปัจจุบันไม่มีข้อกฎหมายหรือข้อบังคับข้อไหนที่ระบุห้ามไม่ให้พูดถึงชื่อบุคคลภายนอกในเนื้อหาของญัตติ และญัตติในอดีตก็มีหลายครั้งที่มีการกล่าวถึงบุคคลภายนอก เช่น เนื้อหาของญัตติที่เสนอโดย สส.พรรคเพื่อไทยในปี 2562 เกี่ยวกับการติดตามการทำงานของหน่วยงานภาครัฐต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็มีการกล่าวถึงบุคคลภายนอกอย่างชัดเจน

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ข้อบังคับมีการพูดถึงบุคคลภายนอกในข้อ 69 ในบริบทของการอภิปราย ซึ่งก็ไม่ได้เป็นการห้ามการอภิปรายบุคคลภายนอกโดยสิ้นเชิง แต่เป็นเพียงการห้ามไม่ให้กล่าวถึงบุคคลใด “โดยไม่จำเป็น” ท้ายสุดแล้วหากเนื้อหาของญัตติและการอภิปรายมีการกล่าวถึงบุคคลภายนอกจนเกิดความเสียหาย ผู้เสนอญัตติและผู้อภิปรายจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าวเอง 

นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า ดังนั้นในมุมกฎหมายไม่เห็นถึงเหตุผลว่าทำไมพรรคประชาชนจำเป็นต้องนำชื่อ “บุคคลภายนอก” ออกจากเนื้อหาญัตติ และในมุมการเมือง เห็นว่าเป็นดุลพินิจของพี่น้องประชาชนที่จะเป็นผู้ตัดสินได้เองว่า การระบุถึง “บุคคลภายนอก” มีความเหมาะสมและจำเป็นต่อการวิเคราะห์และวิจารณ์การบริหารราชการแผ่นดินของนายกฯ แพทองธาร ชินวัตรหรือไม่ ยิ่งในเมื่อบุคคลดังกล่าวก็ประกาศเองว่าต้องการ “สทร.” เกี่ยวกับการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้