เปิดหนังสือ ‘ณัฐพงษ์’ ยก 3 ข้อแย้ง ‘วันนอร์’ ยันซักฟอก ‘คนนอก’ ได้

เปิดหนังสือ ‘ณัฐพงษ์’ ยก 3 ข้อแย้ง ‘วันนอร์’ ยันซักฟอก ‘คนนอก’ ได้

เปิดหนังสือ ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ ยก 3 ข้อโต้แย้ง ‘ประธานสภา’ ยันมีอำนาจซักฟอก ‘คนนอก’ ได้ เหตุที่ผ่านมามีหลายญัตติทำมาก่อน ชี้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย - รธน.

เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2568 พรรคประชาชน (ปชน.) เผยแพร่หนังสือของผู้นำฝ่ายค้าน ลงนามโดยนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร โต้แย้งหนังสือให้แก้ไขข้อบกพร่องญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ โดย ปชน.ขอให้บรรจุญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็วที่สุดต่อไป

หนังสือดังกล่าว ระบุว่า ตามที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ขอให้ข้าพเจ้า นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคณะ พิจารณาแก้ไขข้อบกพร่องญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยอ้างว่าญัตติดังกล่าวมีเนื้อหาระบุรายชื่อบุคคลภายนอก อันอาจทำให้บุคคลภายนอกได้รับความเสียหาย เนื่องจากไม่สามารถชี้แจงในที่ประชุมสภาได้ ซึ่งประธานสภาผู้แทนราษฎรอ้างว่ามีข้อบกพร่องตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 176 นั้น 

ข้าพเจ้า นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคณะ ขอยืนยันว่าญัตติของข้าพเจ้า และคณะไม่มีข้อบกพร่องตามที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรอ้างแต่ประการใด ดังนี้

เปิดหนังสือ ‘ณัฐพงษ์’ ยก 3 ข้อแย้ง ‘วันนอร์’ ยันซักฟอก ‘คนนอก’ ได้

ข้อ 1.ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาวินิจฉัยว่าเนื้อหาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะตามมาตรา 151 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยว่าสมควรมีเนื้อหาอย่างใดมิได้ เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้อำนาจแก่ประธานสภาผู้แทนราษฎรในการใช้ดุลยพินิจวินิจฉัยว่า เนื้อหาของญัตติสมควรจะเป็นประการใด สมควรจะได้รับการบรรจุไว้ในระเบียบวาระการประชุมเพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะหรือไม่ 
    
หากแต่บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดอำนาจผูกพันในการใช้อำนาจของประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ต้องเปิดให้มีการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะเท่านั้น โดยหากรัฐธรรมนูญประสงค์กำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยถึงเนื้อหาของญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ หรือมีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยว่าจะบรรจุไว้ในระเบียบวาระการประชุมเพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ

เปิดหนังสือ ‘ณัฐพงษ์’ ยก 3 ข้อแย้ง ‘วันนอร์’ ยันซักฟอก ‘คนนอก’ ได้

รัฐธรรมนูญจะต้องบัญญัติถ้อยคำที่แสดงถึงอำนาจในการใช้ดุลพินิจของประธานสภาผู้แทนราษฎรอย่างชัดแจ้ง เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 236 ที่บัญญัติให้อำนาจดุลพินิจแก่ประธานรัฐสภาในการพิจารณาเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระเพื่อไต่สวนหาข้อเท็จจริงกรณีมีการเข้าชื่อกล่าวหาว่ากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติผู้ใดกระทำการตามมาตรา 234 (1) แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเมื่อมีการยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาพร้อมด้วยหลักฐานตามสมควรแล้วหากประธานรัฐสภา "เห็นว่า" มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา จึงให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาได้ 

อีกทั้ง ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 176 มิได้ให้อำนาจแก่ประธานสภาผู้แทนราษฎรในการใช้ดุลพินิจว่าเนื้อหาของญัตติควรจะเป็นอย่างไร หรือมีความเหมาะสมหรือไม่ กล่าวคือ ข้อ 176 กำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบว่าญัตติมี "ข้อบกพร่อง" หรือไม่ ทั้งนี้ ข้าพเจ้าและคณะเห็นว่า คำว่า "ข้อบกพร่อง" ในข้อดังกล่าวมีเจตนารมณ์หมายถึงข้อบกพร่องที่เป็นข้อผิดพลาดในเชิงข้อเท็จจริงหรือรูปแบบ เช่น มีรายชื่อผู้เสนอที่ไม่ครบตามเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด ลายมือชื่อของผู้เสนอไม่ถูกต้องตรงกันกับลายมือชื่อจริง ระบุชื่อรัฐมนตรีที่ระบุในญัตติผิดพลาด ไม่ถูกต้อง หรือมีการอ้างถึงมาตราหรือข้อกฎหมายที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน

ดังนั้น การที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรใช้อำนาจโดยอ้างข้อบังคับการประชุมสภาฯ พ.ศ. 25662 โดยตีความในทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นการใช้ และตีความกฎหมายที่ลุแก่อำนาจที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ได้กำหนดไว้ ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรง และทำลายอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติในการควบคุมตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร

ข้อ 2 ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 25662 มิได้มีข้อห้ามมิให้ระบุชื่อบุคคลภายนอกในเนื้อหาญัตติ ดังนั้น การระบุชื่อบุคคลภายนอกในเนื้อหาของญัตติของข้าพเจ้า และคณะ จึงไม่ได้มีลักษณะเป็นการกระทำผิดหรือฝ่าฝืนข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด อีกทั้ง ในอดีตที่ผ่านมา ญัตติที่เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรหลายญัตติก็มีการระบุชื่อของบุคคลภายนอก เช่น ญัตติด่วนของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ฉบับลงวันที่ 26 มิถุนายน 2562 เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา ตรวจสอบการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) และการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยในเนื้อหาของญัตติได้ระบุชื่อบุคคลอื่นซึ่งมิใช่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใด ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (CPH) 

เปิดหนังสือ ‘ณัฐพงษ์’ ยก 3 ข้อแย้ง ‘วันนอร์’ ยันซักฟอก ‘คนนอก’ ได้

อีกทั้ง ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 1778 กำหนดให้การอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใดที่อาจเป็นเหตุให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับความเสียหาย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้นั้นต้องรับผิดชอบผลแห่งการกระทำนั้นเอง เห็นได้ว่า ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 จึงไม่ได้มีบทบัญญัติมิให้ระบุชื่อบุคคลภายนอกในเนื้อหาญัตติแต่อย่างได 

ยิ่งไปกว่านั้น หากบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับความเสียหายจากการอภิปรายหรือการกล่าวถ้อยคำในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร บุคคลนั้นมีสิทธิร้องขอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่มีการประชุมครั้งนั้นเพื่อให้มีการโฆษณาคำชี้แจงได้ ตามข้อ 39 แห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 และมาตรา 124 วรรคสาม แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 

เมื่อพิเคราะห์ตามเจตนารมณ์แห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว เห็นได้ว่า ข้อ 39 แห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 และมาตรา 124 วรรคสาม แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่ได้ห้ามการอภิปรายที่มีเนื้อหาพาดพิงถึงบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือบุคคลภายนอก 

ในทางตรงกันข้าม ข้อ 39 แห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 และมาตรา 124 วรรคสาม แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สามารถถูกตีความเจตนารมณ์ได้ว่า การอภิปรายถึงบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือบุคคลภายนอกนั้น สามารถกระทำได้ เพียงแต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้อภิปรายนั้นจะต้องรับผิดชอบผลแห่งการกระทำเอง และประธานสภาผู้แทนราษฎรจัดให้มีการโฆษณาคำชี้แจงตามที่บุคคลนั้นร้องขอตามวิธีการและภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562

ข้อ 3 ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 176 กำหนดให้เมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรได้รับญัตติตามข้อ 175 แล้ว ให้ทำการตรวจสอบ หากมีข้อบกพร่องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรแจ้งผู้เสนอทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับญัตติ 

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สผ 0014/2559 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2568 แจ้งถึงผลการพิจารณาญัตติของประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นได้ว่า การแจ้งข้อบกพร่องตามข้อ 176 ในหนังสือฉบับดังกล่าวนั้นไม่เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่ข้อ 196 กำหนด จึงเป็นการแจ้งข้อบกพร่องที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ด้วยประธานสภาผู้แทนราษฎรได้รับญัตติของข้าพเจ้า และคณะเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2568 แต่กลับมีหนังสือแจ้งข้อบกพร่องเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2568 อันเป็นวันที่พ้นระยะเวลาเจ็ดวันตามที่ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 กำหนด

จากที่กล่าวมาข้างต้น ข้าพเจ้าและคณะขอยืนยันว่า ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลของข้าพเจ้า และคณะนั้น ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ ดังนั้น จึงขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาบรรจุญัตติดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็วที่สุดต่อไป

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์