เกมทู่ซี้ ‘ค่ายน้ำเงิน’ ‘ชินวัตร’ ขึง อยากเดินยังไงต่อ !

ปัจจัยเรื่องผลประโยชน์ จึงมีส่วนช่วยให้คลื่นลมในรัฐบาลราบเรียบ หรือโหมกระหน่ำรุนแรง ทั้งหมดก็อยู่ที่การบริหารจัดการให้ทุกฝ่ายพอใจ ทุกอย่างก็เดินหน้าได้
KEY
POINTS
- การเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้าครั้งล่าสุดของ เนวิน-อนุทิน พบ ทักษิณ-แพทองธาร น่าจะบอกอะไรได้ชัดเจนว่าเกมแตกหักไม่น่าจะเกิดขึ้นซ้ำอีก
- สถานการณ์การเมืองวันนี้ สัญญาณจากฝ่ายอนุรักษนิยมและกองทัพ แตกต่างจากตอนพลิกขั้วไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหารสิ้นเชิง
- พรรคร่วมรัฐบาลต่างแฮปปี้กับอำนาจในมือตัวเอง อยากจะอยู่ในนานที่สุด
ควันหลงหลังจากเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้า ของอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่หอบหิ้วเนวิน ชิดชอบ ครูใหญ่แห่งภูมิใจไทย ไปพูดคุยเคลียร์ปมคาใจกับทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อช่วงต้น มี.ค.ที่ผ่านมา
หลังเสร็จภารกิจเดินทางเยือนเยอรมนี แพทองธาร ไขข้อสงสัยถึงเหตุผลของการพบกันของ 4 ผู้มากบารมีทางการเมืองจาก 2 พรรค คือเพื่อไทย และภูมิใจไทย โดยเฉพาะเวลามีชื่อเนวินมาแจมเมื่อไหร่ เมื่อนั้นย่อมต้องมีเรื่องสำคัญ
ท่ามกลางการจับตาถึงความไม่ลงรอยหลายเรื่องในทางการเมือง ขบเหลี่ยมเฉือนคมมาเป็นระยะ จนหลายนโยบายของเพื่อไทยชะงัก เดินๆ หยุดๆ
คำตอบจากปากลูกสาวทักษิณ มีนัยค่อนข้างมาก โดยยอมรับว่ามีการคุยทุกเรื่องที่จำเป็นเกี่ยวกับเรื่องนโยบาย และคุยกันว่าคิดเห็นอย่างไร อยากเดินอย่างไรต่อ และควรเดินอย่างไรกันดี เป็นสิ่งที่ปรึกษากัน พร้อมกับยอมรับว่าเห็นไม่ตรงกัน ก็เลยมาตกลงกันว่า เราจะเดินอย่างไรกันต่อ
ประโยคจากปากแพทองธารที่ว่า “อยากเดินอย่างไรต่อ” อาจจะสะท้อนทางเลือกที่ทักษิณ หยิบยื่นทางเลือกให้ค่ายน้ำเงิน ต้องตัดสินใจอะไรหรือไม่
เพราะมีกระแสข่าวระบุว่า ทักษิณ ส่งสัญญาณครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ขอให้พูดคุยกันตรงๆ อย่าตุกติกโดยที่ยังไม่มีใครปฏิเสธเรื่องนี้แต่อย่างใด
ประเมินท่าทีหลังจากนี้ของค่ายน้ำเงิน น่าจะเดินตรงคีย์กับรัฐบาลมากขึ้น แม้จะเผชิญเกมวัดพลังในการเดินหน้าตรวจสอบการฮั้วเลือก สว. ตามที่คณะกรรมการคดีพิเศษ รับกรณีฟอกเงินเป็นสารตั้งต้นไว้แล้ว และยังไม่แน่ว่าจะขยายผลปมอื่นๆ เป็นคดีพิเศษอีกหรือไม่ ทั้งอั้งยี่ซ่องโจร ปมฮั้ว และอื่นๆ แน่นอนว่าหลายคนกำลังหนาวๆ ร้อนๆ ไม่เว้นแม้แต่นักการเมืองมีชื่ออีกหลายคน
สถานการณ์ที่เป็นอยู่ เหมือนบังคับให้สีน้ำเงินต้องเลยตามเลยไปกับรัฐบาลที่นำโดยเพื่อไทย การจะเล่นเกมพลิกขั้วเหมือนสมัยที่แตกหักนายใหญ่ไปจับมือฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์ ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ดันอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ น่าจะยากที่จะเกิดซ้ำรอยให้เห็น
เงื่อนไขวันนี้ดูจะแตกต่างโดยสิ้นเชิง การที่ค่ายน้ำเงินจะควงแขนพรรคร่วมที่เหลือไปจับมือตั้งรัฐบาลกับค่ายส้ม พรรคประชาชน ดันเท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ขึ้นแทนแพทองธาร แทบเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยอุดมการณ์ หรือจุดยืนเรื่องต่างๆ
ประเด็นสำคัญสัญญาณจากฝ่ายอนุรักษนิยม รวมถึงท่าทีของกองทัพวันนี้ ไม่เหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว ค่ายน้ำเงินก็น่าจะรู้ดีว่าต้องยืนอยู่ตรงไหน แม้ท่วงท่าลีลาการต่อรองในยุคนี้จะมีช่องให้สำแดงเดชอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ง่ายเหมือนสมัยร่วมรัฐบาล 3 ป. ที่ได้รับการโอ๋ค่อนข้างมาก เพราะเสียงปริมน้ำ
หันกลับมาดูเสียงของรัฐบาลวันนี้ ถึงไร้เสียงของค่ายน้ำเงิน ก็อาจจะไม่ได้ทำให้รัฐนาวาชินวัตรล่มไม่เป็นท่า เรื่องนี้แกนนำเพื่อไทยและแนวร่วมเตรียมทางหนีทีไล่ไว้ตั้งแต่ฟอร์มรัฐบาลแล้ว เพราะรู้ดีว่าพรรคอันดับ 2 ซึ่งมีอำนาจต่อรองสูง จนอาจจะต้องเจอเกมยึกยัก ชักปลั๊กจนไปกันต่อลำบาก
ทว่า ในท้ายที่สุด เกมแตกหักระหว่างภูมิใจไทยและเพื่อไทย อาจจะไม่ได้เห็นในเร็ววันนี้ หรือในเทอมรัฐบาลนี้ เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่ยังแฮปปี้กับอำนาจในมือ
ไม่ต่างกับเพื่อไทยและภูมิใจไทย ที่ต่างต้องการเก็บเกี่ยววันเวลาที่เหลืออยู่ในอำนาจอย่างเต็มที่
โจทย์ใหญ่ค่ายแดงต้องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ การเข็นเมกะโปรเจกต์ดันร่างพ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ร่างกฎหมายพนันออนไลน์ ที่จ่อชงเข้าครม. ตามความต้องการเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่ง 2 เรื่องหลัง ค่ายน้ำเงินก็ดูจะแฮปปี้ ได้ร่วมวงแชร์อำนาจกับเขาไปด้วย
ไหนจะยังได้ลุ้นให้รัฐบาลทุ่มงบฯ ต่อสัญญาการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน MotoGP ที่เมืองหลวงค่ายน้ำเงินอีกดอก
ปัจจัยเรื่องผลประโยชน์ จึงมีส่วนช่วยให้คลื่นลมในรัฐบาลราบเรียบ หรือโหมกระหน่ำรุนแรง ทั้งหมดก็อยู่ที่การบริหารจัดการให้ทุกฝ่ายพอใจ ทุกอย่างก็เดินหน้าได้