ผู้นำฝ่ายค้านห่วงไทย หลังสหรัฐฯจำกัดวีซ่า ปมส่งอุยกูร์กลับจีน

ผู้นำฝ่ายค้านห่วงไทย หลังสหรัฐฯจำกัดวีซ่า ปมส่งอุยกูร์กลับจีน

'ผู้นำฝ่ายค้าน' ห่วงภาพลักษณ์ไทย หลังสหรัฐฯจำกัดวีซ่า 'จนท.รัฐบาล' พันปมส่งกลับ 40 อุยกูร์ มองพาสื่อไปจีน ต้องทำโปร่งใส ระวังฟอกขาว

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2568 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกาประกาศจำกัดวีซ่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยที่เกี่ยวข้องกับการส่ง 40 ชาวอุยกูร์ไปจีน ว่า ก่อนหน้านี้ได้เรียกร้องมาตลอดให้รัฐบาลพิจารณาการดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วยความรอบคอบ ยึดหลักสิทธิมนุษยชน ก่อนตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ภายใต้ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ 2 มหาอำนาจแข่งขันกันอยู่

เมื่อถามว่า การจำกัดวีซ่าในระดับเจ้าหน้าที่รัฐบาล อาจหมายถึงนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รวมถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะทำให้ประเทศไทยมีความเสียหายอย่างไรบ้าง นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า อยู่ที่การดำเนินงานของสหรัฐอเมริกา แต่ไม่อยากเห็นภาพรวมของประเทศได้รับความเสียหาย ขณะเดียวกันหากถึงจุดนั้นจริงก็เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ต้องใช้ความพยายามในการแก้ไข

ส่วนกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ แนะนำให้เชิญทูต EU มาพูดคุยโดยตรง เพื่อทำความเข้าใจนั้น นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า สหภาพยุโรปมีความชัดเจนเรื่องหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ทางยุโรปคงไม่ยอมเสียหลักการ เรื่องนี้อย่าเพิ่งใช้วิธีการเจรจาหลังบ้าน สิ่งที่ไทยควรทำคือการแสดงออกหน้าบ้านอย่างชัดเจนว่าเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชนสากล

ซักอีกว่า ในอดีตสหรัฐอเมริกาเคยใช้มาตรการจำกัดวีซ่านี้กับรัฐบาลเผด็จการ และผู้ก่อการร้าย จะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไทยหรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะไม่ต้องการให้ประเทศไทยเสียหายไปมากกว่านี้ ก่อนที่จะพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนในต่างประเทศ ก็หนีไม่พ้นเรื่องดัชนีตัวชี้วัดเรื่องความเป็นประชาธิปไตย และภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของชาวโลก

นายณัฐพงษ์ กล่าวด้วยว่า กรณีรัฐบาลไทยเตรียมพาคณะไปเยือนจีน เพื่อดูสภาพความเป็นอยู่ของคนอุยกูร์ สิ่งสำคัญ คือ ต้องไม่ตกเป็นกระบวนการฟอกขาว ทำให้นานาชาติเชื่อมั่นว่าการไปจีนมีความอิสระอย่างแท้จริง ตัวแทนที่ไปไม่ได้มาจากฝั่งรัฐบาลไทยอย่างเดียว แต่สามารถเชิญตัวแทนจากนานาชาติไปด้วย รวมทั้งผู้ที่เข้าไปดูกระบวนการภายในจีนต้องมีอิสระ ไปดูส่วนใดก็ได้ หรือพบใครก็ได้ โดยไม่ได้ถูกจำกัดโดยรัฐบาลจีน เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับ แต่หากปิดกั้นตัวแทนที่ไปร่วม ไม่ได้เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติก็อาจจะถูกตั้งข้อสงสัยอยู่ดี