จับตา ภาคต่อซักฟอก ‘ฝ่ายค้าน’ สอย ‘แพทองธาร’ ปม‘จริยธรรม’

"แพทองธาร" ชนะในเกมซักฟอกครั้งแรก เพราะคุมเสียงในสภาได้ แต่ศึกนี้ยังไม่จบ เพราะมีภาคต่อ ในยุทธการโรยเกลือ ยื่นสอยพ้นตำแหน่งนายกฯ ข้อหา ไร้จริยธรรม-ความซื่อสัตย์
KEY
POINTS
- ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจยกนี้ แม้นายกฯ “แพทองธาร ชินวัตร” ชนะคะแนน 319 ต่อ 162 เสียง เพราะเป็นต่อในเรื่องการคุมเสียงข้างมากในสภาฯได้ แต่อีกนัยสังคมนอกสภาฯ มองว่า “ฝ่ายค้าน” ไม่ออกหมัดน็อก แบบจังๆ ใส่ “นายน้อยตระกูลชินวัตร”
บางเรื่องที่แม้ จะเป็นเรื่องที่เคยรับรู้รายวัน แต่ด้วยบทบาทฝ่ายค้านที่มีกลไก และอำนาจตรวจสอบในเวที “กรรมาธิการ” กลับไม่ล้วงข้อมูลลึก ในชั้นความลับออกมาเปิดเผย เพื่อให้สังคมเห็นด้วยว่า ไม่อาจไว้วางใจ “นายกฯ-รัฐบาลพรรคเพื่อไทย” ได้อีกต่อไปได้
เช่น กรณีเอื้อ “ทักษิณ ชินวัตร” ได้สิทธิเป็นนักโทษ “วีวีไอพี” ที่พบว่ามีการออกหมัดฮุกใส่ “รัฐบาลก่อนหน้านั้น” เป็นส่วนใหญ่
กรณีการถือตั๋วสัญญาใช้เงิน (พีเอ็น) ที่แม้จะสาวหมัดตรง เจตนาส่อหลบเลี่ยงภาษี แต่กลับเปิดช่องให้ “แพทองธาร” ฟุตเวิร์ก หลบจากการต้อนเข้ามุม และเอาตัวรอดไปได้
การเปิดประเด็นต่อสังคม ที่หลายเรื่องได้เปิดแผลเอาไว้ ผู้คนในสังคมได้จับตาวาระต่อไป คือ การยื่นเรื่องต่อองค์กรตรวจสอบอย่าง ป.ป.ช. รวมถึง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ให้วินิจฉัย ในประเด็นที่มีส่อว่าจะเป็นปัญหา โดยเฉพาะประเด็น “ภาวะผู้นำ” ที่ไม่มีความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นที่ประจักษ์ ตามคุณสมบัติที่รัฐธรรมนูญ กำหนดไว้เป็นมาตรฐานขั้นสูง บังคับใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตรา 160 (4) และ (5)
โดยพรรคประชาชน ระบุว่าจะดำเนินการ “โรยเกลือ” ยื่นต่อองค์กรที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่จบศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว รวมถึงใช้กลไกของ “กรรมาธิการ” ขับเคลื่อนการตรวจสอบ
ต้องจับตาว่าพรรคประชาชนจะเอาจริงแค่ไหน จะกล้าสลัด “ดีลฮ่องกง” และตัดสัมพันธ์ ทำเรื่องขั้นสุดหรือไม่
ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านคาดหวังว่า “หัวเรือฝ่ายค้าน” จะกำหนดทิศทางยุทธการโรยเกลือในสัปดาห์หน้า อยากเห็นการกำหนดแนวเบื้องต้น การยื่นถอดถอน “แพทองธาร” ออกจากตำแหน่งนายกฯ เพราะมีประเด็นที่โยงไปถึง หากเทียบเคียงกับกรณี “เศรษฐา ทวีสิน” ที่ถูกสอยจากเก้าอี้นายกฯ เมื่อสิงหาคม 2567 ด้วยข้อหาเป็น นายกฯที่ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และผิดจริยธรรมร้ายแรง
ทว่า การนำประเด็นกล่าวหา ไปสู่การสอย “นายกฯอิ๊งค์” จำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เคยวางแนววินิจฉัย เหตุที่นำไปสู่การสอย “เศรษฐา” ตกเก้าอี้ คือ “มีข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัด”
จากการตั้งบุคคลที่ขาดคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี ซึ่งรายละเอียดนั้นมีการอ้างถึงคำพิพากษา และคำตัดสินที่เกิดขึ้นมา แล้วเชื่อมโยงเป็นฐานนำไปสู่การพิจารณาคดี
ในส่วนของ “แพทองธาร” แม้จะไม่ใช่เรื่องการตั้งบุคคล ยังอาจตั้งคำถามได้ถึง “ความประจักษ์ชัดในลักษณะภาวะวิสัย” ซึ่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อ 24-25 มี.ค. ที่ผ่านมา ฝ่ายค้านยังไม่สามารถชี้ให้เห็นได้ว่า มีพฤติกรรมอย่างไร ที่ชี้ชัดว่า “ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม” และ “ไม่มีความสุจริตเป็นที่ประจักษ์” เพราะตามข้อกล่าวหาหลายเรื่อง ยังไม่มีคำพิพากษา หรือคำตัดสินว่า “ไม่ถูกต้อง” และโยงไปถึงตัวนายกฯ “แพทองธาร” ได้อย่างชัดเจน
ประเด็นนี้ ในมุมมองของ “สมชาย แสวงการ” อดีตสว. ที่เป็นหนึ่งในผู้ยื่นสอย “เศรษฐา” ออกจากตำแหน่งนายกฯ มองว่า แม้ว่าไม่มีคำตัดสินหรือคำพิพากษาในข้อกล่าวหาตามการอภิปรายของพรรคฝ่ายค้าน แต่สามารถชี้ให้เห็นถึงพฤติการณ์ "ไม่ซื่อตรง” ของนายกฯ ได้ โดยยกมาตรฐานขั้นสูงคือ “มาตรฐานจริยธรรม” เป็นธงนำ
เช่น ในกรณีของที่ดินอัลไพน์ ที่มีคำพิพากษาว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์และต้องคืนที่ดิน หรือ กรณีการถือตั๋วพีเอ็น มูลค่า 4,400 ล้านบาท ซึ่งมีภาระต้องเสียภาษีให้รัฐ 200 ล้านบาท มีรายละเอียดที่เชื่อได้ว่า “แพทองธาร” รู้ หรือควรรู้ ว่าต้องทำอย่างไร เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ตามมาตรฐานขั้นสูงที่ “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ต้องดำเนินการให้ถูกต้องภายใต้กฎหมายและรัฐธรรมนูญ
ไม่ใช่ใช้ช่องว่างทำนิติกรรมอำพราง เพื่อหลบเลี่ยงภาษี หรือต้องมีความรับผิดรับชอบต่อกรณีการถือครองที่ธรณีสงฆ์
พร้อมยกตัวอย่าง กรณีที่มีคำพิพากษา ตัดสิทธิ์ทางการเมืองของ 2 นักการเมือง คือ “ปารีณา ไกรคุปต์” กรณีรุกป่าสงวนแห่งชาติ ที่ จ.ราชบุรี และ “กนกวรรณ วิลาวัลย์” รุกที่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ด้วยประเด็น “ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง” ซึ่งกรณีดังกล่าว ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าต้อง “คืนที่ให้หลวง”
ในกรณีของ “แพทองธาร” กับปัญหาที่ดินอัลไพน์ พบว่าศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้เป็นที่ธรณีสงฆ์ จึงถือว่ามีความชัดเจนมากกว่า อีกทั้งที่ผ่านมา "แพทองธาร" ในฐานะอดีตกรรมการบริหารบริษัทอัลไพน์ กลับเพิกเฉย ไม่ยอมส่งคืน ทั้งที่รู้ในสิ่งที่ควรรู้ว่า ต้องทำอย่างไร
ดังนั้นในยุทธการโรยเกลือ ของ “พรรคส้ม” อดีต สว.จึงจับตาว่า ท้ายสุดแล้วจะนำไปสู่การเข็น “แพทองธาร” ขึ้นสู่การตรวจสอบ ต่อจากนี้ได้หรือไม่ แม้ในการอภิปรายของฝ่ายค้านเหมือนตั้งใจยั้งหมัดน็อกใส่ “แพทองธาร” ก็ตาม