ปชน.ชี้ Cell Broadcast เร็วกว่า SMS มาก มีภัยพิบัติ ปชช.รู้ทันที

พรรค ปชน.เทียบความแตกต่างระบบ SMS กับ Cell Broadcast ตอนแจ้งเตือนภัยพิบัติ ไม่เหมือนกัน ระบบหลังช่วยประชาชนรู้เข้ามูลทันท่วงที มีประโยชน์อย่างมหาศาล
เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2568 พรรคประชาชน (ปชน.) โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีวานนี้ 28 มี.ค. 2568 หน่วยงานภาครัฐมีการสั่งการให้ส่ง SMS แจ้งเตือนประชาชนและแจ้งวิธีปฏิบัติตนเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว ปรากฏว่ามีหลายคนกว่าจะได้รับข้อความก็เข้าสู่ช่วงเย็นหรือหัวค่ำไปแล้ว หลายคนได้รับตอนเกือบเที่ยงคืน หรือประมาณ 10 ชั่วโมงหลังจากเกิดเหตุ และยังพบว่ามีข้อความอย่างน้อยสองรูปแบบส่งมาแยกกัน
ต้องอธิบายว่าระบบ SMS นั้นเป็นระบบเก่าและมีข้อจำกัดอยู่บางประการ
1.จำนวนตัวอักษรนั้น ส่งได้จำกัด ในแต่ละครั้งที่ส่ง หากใครเคยอยู่ในยุคที่เราสื่อสารกันผ่านการส่ง SMS หากัน ครั้งละ 3 บาท คงจะพอจำได้ว่าหากเราพิมพ์จำนวนตัวอักษรมากเกินไป ระบบจะคิดค่าบริการเรา 6-9 บาท หรือมากกว่านั้นตามจำนวนตัวอักษรที่เราส่ง
2.ซึ่งสำคัญอย่างมาก คือขั้นตอนทางเทคนิคของการส่ง SMS ไปสู่ประชาชนจำนวนมากคือ หากระบบต้องการส่งหาประชาชนทุกคนที่กำลังใช้โทรศัพท์มือถืออยู่ในเขต กรุงเทพมหานคร เสาสัญญาณทั้งหมดที่กระจายสัญญาณอยู่ในกรุงเทพจะกวาดเบอร์โทรศัพท์ทุกเบอร์ที่อยู่ในบริเวณนั้นมากองรวมกันแล้วจึงส่งข้อความที่ต้องการออกไป
ข้อจำกัดที่สำคัญตรงนี้คือ ระบบไม่สามารถส่ง SMS จำนวนหลายล้านครั้งได้ภายในคราวเดียว ต้องทยอยส่งเป็นล็อตๆ ออกไปเรื่อยๆ ทำให้เราพบว่า กว่าที่บางคนจะได้รับข้อความก็เป็นช่วงดึกๆ หลายชั่วโมงหลังเกิดเหตุไปแล้ว หรืออาจได้ข้อความที่ 2 ก่อนจะได้รับข้อความแรก และตอนที่ได้รับข้อความผู้ที่ได้รับอาจจะไม่ได้อยู่ในกรุงเทพมหานครแล้ว ส่วนคนที่เพิ่งเข้ามาในเขตกรุงเทพมหานครหลังจากที่ระบบเริ่มส่ง SMS ก็อาจจะไม่ได้รับข้อความนี้เลย
ระบบ Cell Broadcast หากใครเคยดูภาพยนตร์ต่างประเทศ ที่เมื่อเกิดภัยพิบัติ อาจเคยเห็นฉากที่ โทรศัพท์มือถือของทุกคนดังขึ้นมาพร้อมกันหมด นั่นคือ การทำงานของระบบ Cell Broadcast ซึ่ง ขั้นตอนทางเทคนิคคือ เมื่อทางภาครัฐต้องการ Broadcast ข้อความ สามารถเลือกพื้นที่ ที่ต้องการแจ้งเตือนได้ เช่น ส่งให้ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อยืนยันส่งข้อความทุกเสาร์สัญญาณในเขตกรุงเทพมหานครจะยิงข้อความให้กับโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องที่อยู่ในเขตเสาสัญญาณ และประชาชนจะได้รับข้อความ “ทันที” ซึ่งคุณสมบัติที่สำคัญของเทคโนโลยีนี้คือ
1.สามารถส่งข้อความให้กับ ประชาชนจำนวนหลักหลายล้าน ได้พร้อมกัน “ทันที” และจะมีการยิงซ้ำ (อาจจะทุกนาที) ป้องกันกรณีบางเครื่องสัญญาณมีปัญหาในครั้งแรกมั่นใจว่าทุกคนจะได้รับข้อความจริงๆ
2.สามารถส่งข้อความได้ยาวกว่า SMS ซึ่งจะสามารถสื่อสารได้ครบถ้วนกว่า
3.สามารถส่งข้อความได้หลายภาษาขึ้นอยู่กับภาษาที่เครื่องของผู้รับใช้อยู่ เพื่อให้ชาวต่างชาติเข้าใจข้อความที่ทางภาครัฐส่งข้อมูลไป
4.ภัยพิบัติในระดับใหญ่ อย่างเช่นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวาน ในทางสากล อาจเรียกว่าเป็นการแจ้งเตือนในระดับ “National Alert” คือ การแจ้งเตือนในระดับภัยพิบัติร้ายแรง ที่ต่อให้โทรศัพท์มือถือนั้นปิดเสียงอยู่ หรือแม้กระทั่งปิดเครื่องอยู่ เครื่องจะถูกเปิดและส่งเสียงดังโดยอัตโนมัติเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ว่าเป็นภัยพิบัติร้ายแรงเร่งด่วน และได้อ่านข้อความทันที และ Cell Broadcast ก็ยังสามารถแจ้งเตือนประชาชน ในภัยธรรมชาติอื่นๆ ล่วงหน้า เช่น อุทกภัย วาตภัย หรือการแจ้งเตือนภัยเมื่อเกิดเหตุวินาศกรรม ไปจนถึงประกาศตามหาคนหาย (AMBER Alert) นี่ไม่ใช่เทคโนโลยีที่ใหม่แต่อย่างใด ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ได้ออก กฏหมาย W.A.R.N Act สำหรับระบบนี้ ตั้งแต่ปี 2006 และประเทศอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือเพื่อนบ้านของเรา อย่างมาเลเซีย ก็ใช้ระบบนี้มากว่า 15 ปีแล้ว
ดังนั้น SMS กับ Cell Broadcast จึงมีความแตกต่างกันอย่างมาก และในขณะที่เรายังไม่มีเทคโนโลยี Cell Broadcast ที่ใช้งานได้ ต่อให้หน่วยงานภาครัฐทำงานได้เร็วขนาดไหน หรือมีการสั่งการให้ “ส่ง SMS เตือนภัยทันที” แต่ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยี SMS ก็ยังไม่สามารถทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลได้อย่างทันท่วงที อยู่ดี
สำหรับระบบ Cell Broadcast ในประเทศไทยได้มีพูดคุยเรียกร้องกันมาอย่างยาวนานหลายปี อย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี 2562 แต่กว่าจะมีการเริ่มจริงจังก็เมื่อปี 2566 รัฐมนตรี DE ให้ข่าวว่าจะเดินหน้าทำระบบ และมีการของบประมาณไปตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 จากการติดตามความคืบหน้าเมื่อปลายปีที่ผ่านมาในฝั่งผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือนั้นมีความพร้อมสามารถทดลองส่งในวงแคบเช่นภายในตึกหนึ่งตึก และมีการทดสอบร่วมกับ กสทช. ที่จังหวัดภูเก็ตไปแล้ว ส่วนในด้านของหน่วยงานภาครัฐ ได้ทราบข้อมูลว่า เพิ่งมีการประกาศจัดซื้อจัดจ้างไปเมื่อ 3 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา แต่หน่วยงานก็ยืนยันว่าระบบจะพร้อมใช้ในช่วงกลางปี 2568 นี้
ถึงแม้แผ่นดินไหวจะเป็นภัยพิบัติที่อาจไม่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ แต่โดยค่าเฉลี่ย หลายประเทศสามารถเตือนภัยได้ 15 วินาที ก่อนเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ซึ่งเวลาดังกล่าวมากเพียงพอ ให้ประชาชนได้รับรู้ว่าเกิดเหตุขึ้นจริง และอพยพหลบภัยได้ทันการ ก็สามารถช่วยชีวิตคนได้ไม่มากก็น้อย
สิ่งที่สำคัญอย่างมาก คือเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว ประชาชนจำเป็นต้องได้รับข้อมูล ถึงระดับความรุนแรง และการปฎิบัติตนว่าควรต้องทำอย่างไร ต้องไปที่ไหน ต้องดูแลตัวเองอย่างไร ขนส่งมวลชนไหนใช้ได้ไม่ได้ พื้นที่ไหนต้องหลีกเลี่ยง ฯลฯ เพื่อลดเหตุโกลาหลที่อาจเกิดขึ้นและลดความสับสนของประชาชนให้ได้มากที่สุด