สแกน 14 บริษัทเครือข่าย ‘ไชน่า เรลเวย์’ ดีเอสไอ-พณ.สางปม ‘นอมินี‘

เปิด 2 ตัวละครคนไทยใหม่ ใครเป็นใคร? ร่วม “โสภณ-ประจวบ-มานัส” เข้าไปร่วมถือหุ้นกิจการในเครือข่าย “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10”
KEY
POINTS
- เปิด 2 ตัวละครคนไทยใหม่ ใครเป็นใคร? ร่วม “โสภณ-ประจวบ-มานัส”
- เข้าไปร
เงื่อนปม “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10” ที่เป็นกิจการร่วมค้ากับ “อิตาเลียนไทยฯ” ในการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ มูลค่ากว่า 2.1 พันล้านบาท กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ 2 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยโฟกัสไปที่บริษัทแห่งนี้ ส่อเข้าข่ายพฤติการณ์ “นอมินี” ให้คนไทยถือหุ้นแทน “ทุนจีน” หรือไม่?
วานนี้ (1 เม.ย.) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ส่อเข้าข่ายเป็นนอมินี หรือมีคนไทยถือหุ้นแทน เพื่อให้ต่างด้าวเลี่ยงปฏิบัติตามกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทย เพราะพบความผิดปกติหลายประการ
เบื้องต้น กรุงเทพธุรกิจ นำเสนอข้อมูลไปแล้วที่ตั้งของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด คือ 493 ซอยพุทธบูชา 44 แยก 11 แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร พบว่า เป็นอาคารพาณิชย์ 2 คูหาติดกัน สูง 4 ชั้น ป้ายหน้าตึกระบุบ้านเลขที่ “493” ชัดเจน พร้อมกับติดป้ายที่ตั้ง บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด พร้อมกับอีก 3 บริษัทอยู่ในอาคารเดียวกัน
นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของบริษัทรวมกัน 9 แห่ง มีตัวละครที่เป็น “คนไทย” อย่างน้อย 3 คน คือ โสภณ มีชัย มานัส ศรีอนันท์ และประจวบ ศิริเขตร เข้าไปเป็นกรรมการ และถือหุ้น รวมกันหลายสิบบริษัท และถือหุ้นร่วมกับ “คนจีน” ที่ชื่อ “BINGLIN WU” หรือ “บิงลิน วู” อีกอย่างน้อย 4 บริษัท
ขณะเดียวกัน ประจวบ ศิริเขตร หนึ่งในกรรมการ และผู้ถือหุ้นเครือข่าย "ไชน่า เรลเวย์" หลายบริษัท ให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ อมรินทร์ ทีวี และไทยรัฐ ทีวี โดยเขาสวมแมสก์ ใส่เสื้อลายสก็อต กางเกงขายาว กล่าวกับทีมข่าวทั้ง 2 ช่องที่ต่างจังหวัด โดยอ้างว่า ไม่ได้หลบหนีภายหลังเหตุการณ์ตึก สตง.ถล่ม และยืนยันข้อเท็จจริงว่า ไม่ใช่นอมินี แต่เป็นผู้ถือหุ้นจริง ๆ
เขายอมรับว่า ไม่ใช่เศรษฐี และไม่ใช่นักธุรกิจมาจากไหน แต่ทำธุรกิจซื้อมาขายไป ทำขนส่งขายตรงโบ๊เบ๊ หลังจากนั้นมีเถ้าแก่มาชวนไปทำธุรกิจต่าง ๆ หลังจากนั้นจึงได้เป็นหุ้นส่วนบริษัทหนึ่ง ทำธุรกิจนำเข้ายางรถยนต์ และรู้จักกับจีน แต่ไม่รู้ว่าใครถือหุ้นหลักของ "ไชน่า เรลเวย์" โดยคนที่ชวนไปถือหุ้นคือคนรู้จักกัน แต่ไม่ใช่คนจีน โดยตอนนั้นที่เขาชวนไป เพราะว่ารายชื่อผู้ถือหุ้นไม่พอ
ถามย้ำว่าเป็นนอมินีหรือไม่ เขายืนยันว่า ไม่ใช่ แต่รายได้มาจากเงินปันผล และการดูแลเรื่องส่งสินค้ายานยนต์ของบริษัทเป็นหลัก
ส่วนการลงนามเพื่อประมูลสร้างอาคาร สตง.นั้น เขาบอกว่า ไม่รู้เรื่องเลย แต่ยอมรับว่ารู้จักกับ โสภณ มีชัย และมานัส ศรีอนันท์ ซึ่ง 2 คนนั้นน่าจะรู้เรื่องมากกว่า นอกจากนี้ในกลุ่มบริษัทยังมีคนไทยถือหุ้นอีก 4-5 คน ยืนยันไม่ใช่นอมินี แต่ทำงานจริง ๆ และมีส่วนในการตัดสินใจ ส่วนกลุ่มจีนที่ถือหุ้น ไม่รู้ว่าเป็นใคร
ขอบคุณข้อมูลจาก อมรินทร์ ทีวี
สำหรับบริษัท 9 แห่งที่ใช้ที่ตั้งแห่งเดียวกับ “ไชน่า เรลเวย์” กรุงเทพธุรกิจ เคยนำเสนอไปแล้ว ดังนี้
1. บริษัท ยูไนเต็ด สตาร์ กรุ๊ป จำกัด
บริษัทแห่งนี้มี โสภณ ถือหุ้น 25.5% และมานัส ถือหุ้น 25.5% มี ลี่ หยาง (สัญชาติจีน) เป็นกรรมการ จดทะเบียนเมื่อ 13 ส.ค. 2557 ทุนปัจจุบัน 4 ล้านบาท วัตถุประสงค์ นำเข้า ขายส่ง ขายปลีก เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ จดทะเบียนวันที่ 13 ส.ค. 2557 นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2566 รายได้รวม 181,834 บาท รายจ่ายรวม 919,369 บาท ขาดทุนสุทธิ 737,535 บาท
2. บริษัท วีล มาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัทแห่งนี้มี มานัส เป็นกรรมการ และถือหุ้น 45.03% บิงลิน วู บุคคลสัญชาติจีน ถือหุ้น 5.9% มีประจวบ ศิริเขตร ร่วมเป็นกรรมการด้วย จดทะเบียนเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2558 ทุนปัจจุบัน 67.8 ล้านบาท วัตถุประสงค์ประกอบกิจการขายปลีกชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมใหม่ของยานยนต์ จดทะเบียนวันที่ 18 พ.ค. 2558 นำส่งงบการเงินล่าสุดปี 2566 รายได้รวม 336,023,204 บาท รายจ่ายรวม 331,623,133 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 641,241 บาท เสียภาษีเงินได้ 1,301,110 บาท กำไรสุทธิ 2,457,719 บาท
3. บริษัท สันติภาพ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด
บริษัทแห่งนี้มี มานัส ถือหุ้น 30% มีนายประจวบ ศิริเขตร บิง ลินวู และอิทธิพัทธ์ วรธำรงเกียรติ เป็นกรรมการ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2558 ทุนปัจจุบัน 2 ล้านบาท วัตถุประสงค์ การเช่าและการดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองหรือเช่าจากผู้อื่นเพื่อเป็นที่พักอาศัยจดทะเบียนวันที่ 24 ส.ค. 2558 นำส่งงบการเงินล่าสุดปี 2566 ไม่มีรายได้ รายจ่ายรวม 11,500 บาท ขาดทุนสุทธิ 11,500 บาท
4. บริษัท เอสทีพี อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัทแห่งนี้มีชื่อเดิมว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัท เอสทีพี อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2561 จึงมีการจัดตั้ง บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด (อีกแห่ง) ในเวลาต่อมา
บริษัทแห่งนี้มี ประจวบ ถือหุ้น 37.48% มานัส เป็นกรรมการ และถือหุ้น 62.48% จดทะเบียนเมื่อ 24 ต.ค. 2560 ทุนปัจจุบัน 2 ล้านบาท วัตถุประสงค์ประกอบกิจการบริการพิธีการศุลกากรเพื่อนำเข้า ส่งออกสินค้า และจำหน่ายสินค้าประเภทต่างๆ จดทะเบียนวันที่ 24 ต.ค. 2560 นำส่งงบการเงินล่าสุดปี 2567 รายได้รวม 6,321,912 บาท รายจ่ายรวม 5,886,909 บาท เสียภาษีเงินได้ 28,789 บาท กำไรสุทธิ 406,213 บาท
5. บริษัท เอวาน่า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
บริษัทแห่งนี้มี ประจวบ ถือหุ้น 27.9% มานัสเป็นกรรมการ และถือหุ้น 52.1% จดทะเบียนเมื่อ 16 พ.ย. 2560 ทุนปัจจุบัน 30 ล้านบาท วัตถุประสงค์ ร้านขายปลีกวัสดุก่อสร้างหลายชนิด รวมถึงวัสดก่อสร้าง จดทะเบียนวันที่ 16 พ.ย. 2560 นำส่งงบการเงินล่าสุดปี 2566 รายได้รวม 302,937,666 บาท รายจ่ายรวม 300,173,772 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 249,415 บาท เสียภาษีเงินได้ 561,437 บาท กำไรสุทธิ 1,953,041 บาท
จากการตรวจสอบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พบว่าบริษัทแห่งนี้ เป็นคู่สัญญากับภาครัฐกับ กฟน.อย่างน้อย 3 สัญญา วงเงินรวม 69,259,388 บาท
6. บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด
ทุนปัจจุบัน 100 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 493 ซอยพุทธบูชา 44 แยก 11 แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ เกี่ยวกับการบริการด้านการทรัพยากรมนุษย์และรับเหมาก่อสร้างอาคาร อาคารพาณิชย์ อาคารที่พักอาศัย สถานที่ทำการ ทางรถไฟ ทางรถสาธารณะ ทางรถไฟฟ้าใต้ดิน กรรมการ 2 คน ได้แก่ นายชวนหลิง จาง นายโสภณ มีชัย
นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อเดือน ธ.ค. 2567 ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป คัมปะนี (สัญชาติจีน) ถือหุ้นใหญ่สุด 49% โสภณ มีชัย ถือ 40.8% ประจวบ ศิริเขตร ถือ 10.2% มานัส ศรีอนันท์ ถือ 3 หุ้น
นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2566 สินทรัพย์รวม 2,804,535,819 บาท หนี้สินรวม 2,952,877,175 บาท รายได้รวม 206,253,951 บาท รายจ่ายรวม 354,955,976 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 50,967,848 บาท ขาดทุนสุทธิ 199,669,872 บาท
จากการตรวจสอบสัญญาจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พบว่า “ไชน่า เรลเวย์” ใช้โมเดลธุรกิจโดยการเข้าไปเป็น “กิจการร่วมค้า” กับเอกชนทุนหนาหลายแห่ง เพื่อเข้าประมูลงานภาครัฐ โดยพบว่า เป็นคู่สัญญาอย่างน้อย 14 แห่ง (นับรวมตึก สตง.) รวมวงเงินไม่ต่ำกว่า 7.2 พันล้านบาท
7. บริษัท สแตร์ ลาเบล อินเตอร์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด
มีมานัส เป็นกรรมการ และถือหุ้น 31% จดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2565 ทุนปัจจุบัน 1 ล้านบาท วัตถุประสงค์ ขายส่งเคมีภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม จดทะเบียน วันที่ 25 ก.ค. 2565 นำส่งงบการเงินล่าสุดปี 2566 มีรายได้รวม 3,424,445 บาท รายจ่ายรวม 3,008,900 บาท เสียภาษีเงินได้ 19,835 บาท กำไรสุทธิ 395,709 บาท
8. บริษัท โมเยนเน่ (ประเทศไทย) จำกัด
มีสิริกัลยา เหว่าสำเนียง เป็นกรรมการถือหุ้นใหญ่สุด 70% อธิพันธ์ มีชัย ถือ 10% และ “คนจีน” 2 ราย ถือหุ้นคือ จือเหมย หวง ถือ 15% ชุนฮวา โหลว ถือ 10% จดทะเบียนเมื่อ 22 ส.ค. 2565 ทุนปัจจุบัน 1 ล้านบาท วัตถุประสงค์ ประกอบกิจการซื้อ ขายสินค้าอุปโภคบริโภคทุกชนิด เช่นเครื่องแต่งกาย เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ในครัวเรือน จดทะเบียน วันที่ 22 ส.ค. 2565 นำส่งงบการเงินล่าสุดปี 2567 รายได้รวม 12,894,731 บาท รายจ่ายรวม 10,735,002 บาท เสียภาษีเงินได้ 279,486 บาท กำไรสุทธิ 1,880,242 บาท
9. บริษัท สยาม ไบโอเมดิคอล ไซเอนซ์ จำกัด
มีโสภณ ถือหุ้น 10% มานัส เป็นกรรมการ และถือหุ้น 70% จดทะเบียนเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2565 ทุนปัจจุบัน 2 ล้านบาท วัตถุประสงค์ ประกอบกิจการผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออกวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่างๆและเครื่องสำอางค์ทุกชนิด จดทะเบียน วันที่ 29 ก.ย. 2565 นำส่งงบการเงินล่าสุดปี 2567 รายได้รวม 38,047 บาท รายจ่ายรวม 13,825 บาท กำไรสุทธิ 24,222 บาท
ขณะที่บริษัทอีก 5 แห่ง ที่ถูกกระทรวงพาณิชย์ เข้าไปตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่ามี “ตัวละครใหม่” เป็น “คนไทย” เพิ่มมาอีก 2 คน คือ “สิริกัลยา เหว่าสำเนียง” และ “อิทธิพัทธ์ วรธำรงเกียรติ” เข้าไปอยู่ในเครือข่าย “3 คนไทย” ข้างต้นเข้าเป็นกรรมการ และถือหุ้น ได้แก่
1.บริษัท ไซเบอร์ เทเลคอม จำกัด
จดทะเบียนเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2567 ทุนปัจจุบัน 2 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 143 ถนนพระรามที่ 2 แขวงจอมทอง เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน ซื้อขายปลีก-ส่งและตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ สื่อสาร เทเลคอม เส้นใยแก้วนำแสง กรรมการ 2 คนคือ นายโสภณ มีชัย นางสาวสิริกัลยา เหว่าสำเนียง นำส่งผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อ 6 ก.พ. 2567 โสภณ มีชัย ถือหุ้นใหญ่สุด 60% สิริกัลยา เหว่าสำเนียง ถือ 40% ยังไม่มีข้อมูลงบการเงิน
2.บริษัท ไฮห่าน จำกัด
จดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2559 ทุนปัจจุบัน 4 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 1 ซอยเพชรเกษม 68 แยก 13 แขวงบางแคเหนือ เขตบางแค กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ ประกอบกิจการค้าสินค้าอิเล็กนิกส์ และสิ่งอำนวยความสะดวกในครัวเรือน กรรมการ 2 คนคือ นายจาง ย่ง ห้าง (สัญชาติจีน) นายโสภณ มีชัย
นำส่งผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อ 30 เม.ย. 2567 โสภณ มีชัย ถือหุ้นใหญ่สุด 51% จาง ย่ง ห้าง (สัญชาติจีน) ถือ 47.5% จาง เชี่ยคุน (สัญชาติจีน) ถือ 1.5% นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2566 สินทรัพย์รวม 3,567,821 บาท หนี้สินรวม 109,945 บาท รายได้รวม 1,865,615 บาท รายจ่ายรวม 3,614,391 บาท
3.บริษัท โชคนิมิต บิสซิเนส แอนด์ เซอร์วิส จำกัด
ชื่อเดิม บริษัท ไทซัน ฟูเบา อีเพย์ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2560 ทุนปัจจุบัน 2 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 481/1 ซอยพุทธบูชา 44 แยก 11 แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ ประกอบกิจการมีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจ อี-คอมเมิร์ช และให้คำปรึกษาทางธุรกิจการพัฒนาตลาด กรรมการคนเดียวคือ มานัส ศรีอนันท์
นำส่งผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อ 30 ก.ย. 2567 มานัส ศรีอนันท์ ถือหุ้นใหญ่สุด 40% ประจวบ ศิริเขตร ถือ 30% วาสิตา เกียรติเรืองสุข ถือ 30% นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2567 สินทรัพย์รวม 3,555,951 บาท หนี้สินรวม 11,890 บาท รายได้รวม 62,736 บาท รายจ่ายรวม 17,267 บาท กำไรสุทธิ 45,469 บาท
4.บริษัท สันติภาพ อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต จำกัด
จดทะเบียนเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2552 ทุนปัจจุบัน 35 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 174 หมู่ที่ 6 ต.บางพึ่ง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ วัตถุประสงค์ นำเข้าเครื่องอุปโภค เครื่องแต่งกาย เครื่องใช้ในครัวเรือน กรรมการ 4 คนคือ นายบิงลิน วู นายประจวบ ศิริเขตร นายมานัส ศรีอนันท์ นายอิทธิพัทธ์ วรธำรงเกียรติ
นำส่งผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อ 29 ส.ค. 2567 มานัส ศรีอนันท์ ถือหุ้นใหญ่สุด 48% บิงลิน วู (สัญชาติจีน) ถือรองลงมา 41.3% อิทธิพัทธ์ วรธำรงเกียรติ ถือ 10.7% นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2566 สินทรัพย์รวม 276,810,517 บาท หนี้สินรวม 245,228,354 บาท รายได้รวม 46,275,105 บาท รายจ่ายรวม 41,511,680 บาท
บริษัทแห่งนี้เป็นคู่สัญญารัฐกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในการจ้างเหมาซ่อมรถยนต์ของทางราชการ อย่างน้อย 6 สัญญา รวมวงเงิน 341,489 บาท
5.บริษัท เลนเยส อี-พาวเวอร์ จำกัด
จดทะเบียนเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2561 ทุนปัจจุบัน 4 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 88/183 ถนนกัลปพฤกษ์ แขวงบางแค เขตบางแค กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ ประกอบธุรกิจขายปลีกอุปกรณ์การสื่อสารโทรคมนาคม มีกรรมการ 3 คน เป็นสัญชาติจีนทั้งหมด ได้แก่ นายเซี่ย ชวน นายยิลิน ปัน นายต่ง เจาเฉียง
นำส่งผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อ 1 พ.ย. 2567 มนัส ศรีอนันท์ ถือหุ้นใหญ่สุด 51% เซี่ย ชวน (สัญชาติจีน) ถือ 16.3335% ต่ง เจาเฉียง (สัญชาติจีน) ถือ 16.3332% ปัน ยิลิน (สัญชาติจีน) ถือ 16.3332% ที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย (ไม่ระบุชื่อ) ถือ 0.0001% นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2566 สินทรัพย์รวม 30,579,160 บาท หนี้สินรวม 34,378,874 บาท รายได้รวม 117,387,202 บาท รายจ่ายรวม 119,971,414 บาท ขาดทุนสุทธิ 2,584,211 บาท
อย่างไรก็ดี 13 บริษัทข้างต้น (ยกเว้น "ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10") ยังมิได้ถูกร้องเรียนถึงปัญหาในการจัดซื้อจัดจ้าง หรือกรณีส่อเข้าข่ายใช้ "นอมินี" แต่อย่างใด