เงื่อนงำ ‘ไชน่า เรลเวย์’ อ้างคว้างานฝังเคเบิล 1.2 พันล้านของ กทม.

เงื่อนงำ ‘ไชน่า เรลเวย์’ อ้างคว้างานฝังเคเบิล 1.2 พันล้านของ กทม.

ขมวดเงื่อนงำ ‘ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10’ ถูกสื่อจีนตีข่าวอ้างเป็นพันธมิตร บ.ไทย คว้างานฝังสายเคเบิลใต้ดิน 1.2 พันล้านของ กทม. ส่วนหนึ่งของบิ๊กโปรเจกต์ 1.9 หมื่นล้าน

เงื่อนงำ “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10” บริษัทเครือข่าย “รัฐวิสาหกิจจีน” ที่เข้ามาเป็นหนึ่งใน “กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี” ร่วมกับ “อิตาเลียนไทยฯ” กำลังถูกตรวจสอบอย่างหนักจากภาครัฐ และถูกตั้งคำถามจากภาคประชาชน ภายหลังเป็นผู้ชนะการประมูลก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ มูลค่ากว่า 2.1 พันล้านบาท แต่ยังไม่ทันสร้างเสร็จ อาคารแห่งนี้กลับถล่มลงยับเยิน หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อ 28 มี.ค.2568 ที่ผ่านมา ส่งผลให้คนงานนับร้อยต้องติดภายใต้ซากปรักหักพัง มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ รวมถึงผู้สูญหายจำนวนมาก

ปัจจุบันเรื่องนี้กำลังถูกตรวจสอบจาก คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งขึ้น รวมถึงคณะกรรมการตรวจสอบฯ ของกระทรวงมหาดไทยที่ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย แต่งตั้ง โดยขีดเส้นดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน ซึ่งหมายความว่า จะทราบผลไม่เกินสัปดาห์หน้า

โดยช่วงเช้าวันนี้ (2 เม.ย.68) เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ตม.1 ร่วมกับสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 10 ตรวจสอบ บ้านเลขที่ 582/300 ถ.รัชดาภิเษก ซ.รัชดาภิเษก 3 แยก 3 (ซ.อยู่เจริญ) แขวงดินแดง เขตดินแดง กทม. เนื่องจากปรากฏข้อมูลจากการสืบสวน น่าเชื่อว่าเป็นที่ตั้งอีกแห่งของ “ไชน่า เรลเวย์” โดยบ้านดังกล่าว มีลักษณะที่พักกึ่งออฟฟิศ ไม่มีการจดทะเบียนเป็นบริษัทกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 

เบื้องต้น จากการตรวจสอบพบ คนไทย 8 ราย หญิงชาวจีน 1 ราย และบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนเพศชาย 1 ราย ขออนุญาตเดินทางออกนอกพื้นที่ถูกต้อง ในส่วนของหญิงชาวจีนที่พักอาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าว โดยพบว่ามีการเช่าบ้านหลังดังกล่าวเดือนละ 85,000 บาท เช่าแบบปีต่อปี และเช่ามาแล้วถึง 3 ปี ตรวจสอบแล้ว ไม่พบการแจ้งที่พักคนต่างด้าวตามมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง จึงได้ทำการเปรียบเทียบปรับ เจ้าบ้านหรือผู้ครอบครองเคหสถานดังกล่าว

ล่าสุด กรุงเทพธุรกิจ ตรวจสอบขยายผลเพิ่มเติม พบว่า ที่ตั้งเลขที่ 582/300-301 ถ.รัชดาภิเษก ซ.รัชดาภิเษก 3 แยก 3 (ซ.อยู่เจริญ) แขวงดินแดง เขตดินแดง กทม.ดังกล่าว มีการลงข้อมูลในเว็บไซต์รับสมัครงานหลายแห่ง โดยเปิดรับสมัครตำแหน่ง “วิศวกรไฟฟ้า ระดับภาคี” ของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมกับแนบลิงก์ข้อมูลเป็นเว็บไซต์ข่าวภาษาจีน https://www.seetao.com/details/48271.html

จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า เว็บไซต์ข่าว Seetao ข้างต้น เขียนโดย Sang Xiaomei บรรณาธิการคอลัมน์ Belt and Road อ้างอิงข้อมูลเมื่อปี 2562 สรุปข้อเท็จจริงได้ว่า กลุ่มบริษัท China Railway 10th Bureau Group Co., Ltd. Asia Pacific กล่าวอ้างว่า ได้จัดตั้งพันธมิตรกับ “บริษัท รวมนที จำกัด” ที่ประกอบธุรกิจก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน (งานประปา, งานระบบระบายน้ำ, ระบบไฟฟ้าใต้ดิน เป็นต้น) ได้เข้าประมูลโครงการฝังสายเคเบิลใต้ดินใน กทม. และเป็นผู้ชนะการเสนอราคาด้วยวงเงินกว่า 1,258 ล้านบาท (คิดเป็น 293 ล้านหยวน) โดยเสนอราคาโดดเด่นกว่าคู่แข่งอีก 12 ราย

เงื่อนงำ ‘ไชน่า เรลเวย์’ อ้างคว้างานฝังเคเบิล 1.2 พันล้านของ กทม.

เว็บไซต์แห่งนี้อ้างอีกว่า การชนะการประมูลดังกล่าว ถือเป็นโครงการแรกของ China Railway ในไทย โดยตั้งแต่ ค.ศ.2019 China Railway 10th Bureau ประสบความสำเร็จในการเปิดตลาดในไทย และชนะการประมูลโครงการก่อสร้างบ้านพักอาศัยมากกว่า 10 โครงการ มีมูลค่าสัญญาเกือบ 2,000 ล้านหยวน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 9,392,350,0001 บาท

เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่หลากหลายในพื้นที่ธุรกิจ บริษัท China Railway Asia Pacific จึงหันมาให้ความสนใจโครงการฝังสายเคเบิลใต้ดิน กทม. ซึ่งมีแนวโน้มทางการตลาดที่กว้างขวาง และคล้ายคลึงกับ “โครงการท่อส่งแบบบูรณาการในเขตเมือง ในเวอร์ชั่นที่เรียบง่าย”

เว็บไซต์แห่งนี้อ้างอีกว่า แผนการฝังสายเคเบิลใต้ดินของไทย รัฐบาลไทยได้เสนอในปี ค.ศ. 2016 ที่จะลงทุนเกือบ 5 หมื่นล้านบาท เพื่อติดตั้งสายไฟใต้ดินใน กทม. โดยวางแผนว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 10 ปี ต่อมามีรายงานระบุว่าเฉพาะในปี ค.ศ. 2019 ตามแผนงานโครงการวางท่อสายเคเบิลของการไฟฟ้ากรุงเทพมหานคร ความยาวรวมของท่อสายเคเบิลใต้ดินใน กทม.มีมูลค่าการลงทุนรวม 2 หมื่นล้านบาท และมีศักยภาพทางการตลาดอีกมาก 

เงื่อนงำ ‘ไชน่า เรลเวย์’ อ้างคว้างานฝังเคเบิล 1.2 พันล้านของ กทม.

อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบพบว่า ในปี 2562 มีโครงการของ กทม.ในการปรับปรุงทัศนียภาพของเมืองให้สะอาด ไม่มีสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์รกรุงรังจริง โดย กทม.ใช้เงินงบประมาณลงทุนในระบบราว 1.9 หมื่นล้านบาท เพื่อนำสายสื่อสารลงใต้ดินทั้งหมดใน กทม. ซึ่ง กทม.มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ “เคที” ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ กทม.ถือหุ้นใหญ่ เป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2561 

อย่างไรก็ดีในปี 2565 มีการประชุมผู้บริหาร กทม. หลังจากนั้น “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน ได้สั่งทบทวนแผนธุรกิจของ “เคที” ในโครงการนำสายสื่อสารลงดินวงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท เนื่องจากค่าเช่าท่อสูง และส่อซ้ำซ้อนกับงานของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ “เอ็นที”

ทั้งนี้ข้อมูลเมื่อ ส.ค. 2565 ในการดำเนินการของ “เคที” เพื่อนำสายสื่อสารลงดิน วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาทนั้น  ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินนำร่องเสร็จแล้ว เป็นระยะทาง 7.2 กิโลเมตร วงเงิน 140 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ถนนวิทยุ (ถนนเพชรบุรี-แยกเพลินจิต-หน้าซอยร่วมฤดี) 2.ถนนรัชดาภิเษก (MRT ศูนย์วัฒนธรรมประตู 2-หน้าซอยรัชดาภิเษก 7) 3.ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (ถนนสาทรเหนือ/ใต้-ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 10) ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารในแนวถนนพระรามที่ 1 จากแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ ระยะทางประมาณ 1 กม. พร้อมกับการปรับปรุงทางเท้า หลังจากนั้นไม่มีรายละเอียดความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการนี้อีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการนำสายสื่อสารลงดิน ในส่วนของ กทม. วงเงินกว่า 1.9 หมื่นล้านบาทนั้น ในฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ไม่ปรากฏชื่อบริษัท รวมนที จำกัด และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ รวมถึงเครือข่าย เข้าไปเกี่ยวข้องในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ตามที่สื่อจีนกล่าวอ้างแต่อย่างใด

 

 

ภาพและข้อมูลจาก: https://www.seetao.com/details/48271.html

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์