4 เงื่อนงำ ‘ไชน่า เรลเวย์’ บทเรียนรัฐ สางปม ‘นอมินี-จัดจ้าง’

ขมวด 4 เงื่อนงำ หลังฉาก “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10” คว้างานสร้างตึก สตง. 2.1 พันล้าน ก่อนถล่มเพราะเหตุแผ่นดินไหว
KEY
POINTS
- ขมวด 4 เงื่อนงำ หลังฉาก “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10” คว้างานสร้างตึก สตง. 2.1 พันล้าน ก่อนถล่มเพราะเหตุแผ่นดินไหว
เงื่อนงำโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ มูลค่ากว่า 2.1 พันล้านบาท เกิดถล่มภายหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว เมื่อ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ถูกก่อสร้างโดย “กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี” ที่มี “อิตาเลียนไทยฯ” และ “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10” ดำเนินการ ยังคงเป็นเรื่องที่สาธารณชนให้ความสนใจอย่างมาก
ปัจจุบันเรื่องนี้ถูกคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ทั้งชุดที่ “นายกฯแพทองธาร ชินวัตร” แต่งตั้ง และชุดที่ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย แต่งตั้งสอบอยู่ ขีดเส้นภายใน 7 วัน รวมถึงยังถูกหน่วยงานรัฐ ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ กำลังสืบสวนเรื่อง “นอมินีต่างชาติ” และ “วัสดุ” ที่ใช้ในการก่อสร้างอีกด้วย
กรุงเทพธุรกิจ สืบค้นข้อมูลเรื่องนี้มาราว 1 สัปดาห์นับจากเกิดเหตุแผ่นดินไหว จนพบว่า “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10” และบริษัทในเครือ เป็นผู้ชนะการประมูลงานรัฐ อย่างน้อย 28 สัญญา รวมวงเงินไม่น้อยกว่า “หมื่นล้านบาท”
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ถูก “พิชัย นริพทะพันธุ์” รมว.พาณิชย์ นำไปขยายผลตรวจสอบต่อ จนพบว่า มีกลุ่มเครือข่าย “ทุนจีน” 2 บริษัทคือ “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10” และ “ซิน เคอ หยวน สตีล” (บริษัทผลิตเหล็ก ที่ถูกนำไปใช้ในการก่อสร้างตึก สตง.) มีเครือข่ายบริษัทรวมกันอย่างน้อย 37 แห่ง และได้งานรัฐไปอย่างน้อย 26 โครงการ
ตรงกันกับข้อมูลที่ “กรุงเทพธุรกิจ” นำเสนอไปก่อนหน้า นอกจากนี้ “ไชน่า เรลเวย์” ยังมีธุรกิจเครือข่ายในไทยที่ใช้ชื่อ และมีโมเดลธุรกิจลักษณะเดียวกันคือ “รับเหมาก่อสร้าง” อีกรวมกันอย่างน้อย 23 แห่ง
อ่านข่าว:
ผ่า 23 บริษัทลูก ‘ไชน่า เรลเวย์’ ตั้งในไทย ทุน 5.7 พันล้าน
ข้อมูล ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ตรง รมต.! ชำแหละ 21 บ.เครือ ‘ซิน เคอ หยวน’
แต่ล่าสุด เมื่อ 4 เม.ย. 2568 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงผลการตรวจสอบ “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10” โดยพบว่า ได้ร่วมกับกิจการร่วมค้าอย่างน้อย 11 แห่ง และเข้าไปรับงานรัฐอย่างน้อย 29 โครงการ รวมวงเงินกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท
อ่านข่าว: ดีเอสไอเปิด 'ไชน่า เรลเวย์' กวาดงาน 2.2 หมื่นล. สอบ 11 กิจการร่วมค้า
วันเดียวกันเมื่อ 18.50 น. "อนุทิน ชาญวีรกูล" พร้อมคณะ แถลงผลสอบสวน 7 วันเหตุการณ์ตึก สตง.ถล่ม สรุปว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ได้มาประชุมหลังจากครบ 1 สัปดาห์ตามกรอบที่เราได้วางไว้ว่า เราจะพยายามหาสาเหตุ แต่ด้วยสภาพหน้างานที่เจ้าหน้าที่ยังต้องทำงานกอบกู้ชีวิตยังดำเนินอยู่ การที่ไปเก็บตัวอย่างวัสดุเพื่อไปทดสอบอะไรต่าง ๆ ยังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น 7 วันที่ผ่านมา การจะหาสาเหตุที่สรุปได้เลยว่า ทำไมตึกนี้ถล่มยังไม่สามารถสรุปได้ เพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่าย
ทั้งนี้ สาเหตุเบื้องต้นที่เป็นสารตั้งต้นนำไปสู่การตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป ในทางวิศวกรรมก็ไปดูที่เรื่องแบบ ซึ่งต้องใช้เวลา แล้วต้องไปทำโมเดลขึ้นมา ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อความมั่นใจ แต่อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ ขอให้มั่นใจว่ามาตรฐานทางวิศวกรรมที่มีการกำหนดแบบตามกฎหมายที่จะต้องมีค่าแผ่นดินไหว ค่าสั่นสะเทือนต่าง ๆ กฎหมายตั้งเกณฑ์ไว้สูงมาก และการออกแบบอาคารในประเทศไทยตอนนี้มีความทนพอต่อแผ่นดินไหว โดยคาดว่าจะใช้เวลาอีกนับเดือน
เงื่อนปมที่น่าสนใจ หลังจากขยายผลตรวจสอบ “กรุงเทพธุรกิจ” ขมวดได้ 4 เงื่อนปมพบข้อเท็จจริง ดังนี้
1.ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 บริษัทลูกเครือข่ายรัฐวิสาหกิจจีนในไทย ใช้ที่ตั้งร่วมกันกับ 8 บริษัท (รวมทั้งหมด 9 บริษัท) คือเลขที่ 493 ซอยพุทธบูชา 44 แยก 11 แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กทม. พบว่า เป็นอาคารพาณิชย์ 2 คูหาติดกัน สูง 4 ชั้น ป้ายหน้าตึกระบุบ้านเลขที่ “493” ชัดเจน พร้อมกับติดป้ายที่ตั้ง บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด ซึ่งใน 9 บริษัทดังกล่าวพบ “คนไทย” อย่างน้อย 3 คนคือ โสภณ มีชัย มานัส ศรีอนันท์ และประจวบ ศิริเขตร เข้าไปเป็นกรรมการ-ถือหุ้น ร่วมกับ “บิงลิน วู” สัญชาติจีน
โดย “คนไทย” ทั้ง 3 คนดังกล่าว ทั้งจากการลงพื้นที่ของสื่อหลายสำนัก รวมถึงสื่อใน “เครือเนชั่น” พบว่า บางคน พักอาศัยอยู่บ้านเช่า บ้านคนอยู่แฟลต ขับรถคันเก่า ทั้งที่ถือหุ้นในเครือข่าย “ไชน่า เรลเวย์” หลายสิบ ถึงหลายร้อยล้านบาท บางคนหลบหน้าหายตาไปหลังเกิดเหตุตึก สตง.ถล่ม และยังไม่มีการเข้าชี้แจงข้อเท็จจริง หรือถูกหน่วยงานของรัฐเรียกไปสอบสวนแต่อย่างใด บุคคลเหล่านี้เข้าข่ายเป็น “นอมินี” ให้กับ “ทุนจีนต่างชาติ” หรือไม่
เบื้องต้น ดีเอสไอ แถลงเมื่อ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ระบุตอนหนึ่งว่า รายของ "ประจวบ" ดีเอสไอเดินทางไปที่บ้านพักใน จ.ร้อยเอ็ด ไม่พบตัว แต่สอบปากคำภรรยาของเขา มีสิ่งบ่งชี้ที่น่าเชื่อได้ว่าเป็นการถือหุ้นอำพราง หรือนอมินี ส่วนกรณีกรรมการผู้ถือหุ้นชาวไทยอีก 2 รายที่เหลือ คือ "โสภณ" และ "มานัส" เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างติดตามตัวเช่นเดียวกัน
หลังจากนี้รัฐบาลจะดำเนินการสางปัญหาเหล่านี้ หรือมีมาตรการอย่างไร เพราะมีแนวโน้มสูงว่า บริษัทต่าง ๆ ในไทย ที่มี “ทุนต่างชาติ” เข้าไปถือครองหุ้น ทั้งการถือหุ้นแบบปกติ และการถือหุ้นผ่านเส้นทางที่สลับซับซ้อนหลายชั้น อาจอาศัยช่องทาง “นอมินี” เพื่อเข้าไปหาผลประโยชน์ในไทยก็เป็นไปได้?
2.ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ใช้โมเดลทางธุรกิจ ลักษณะเป็น “กิจการร่วมค้า” กับเอกชนรายอื่น ๆ โดยเริ่มจากเข้าไป “ซื้อซอง” เอกสารการประมูลงานรัฐ และไม่เข้าร่วม“ยื่นซอง” หรือ“ยื่นเสนอราคา” แต่กลับไปดีลกับเอกชนไทยที่ “ทุนหนา” เพื่อเข้าร่วมเป็น “กิจการร่วมค้า” ดำเนินการ “ยื่นซอง” ประมูลแทน โดยนับตั้งแต่ปี 2561 ที่ก่อตั้งบริษัทจนถึงปัจจุบัน “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10” เป็นผู้ชนะการประมูลของรัฐ ในการเป็น “กิจการร่วมค้า” อย่างน้อย 18 รายการ นอกจากนี้ยังมีบริษัทในเครือข่าย “3 คนไทย” ถือหุ้น ได้งานรัฐอีก 9 รายการ รวมอย่างน้อย 27 สัญญา วงเงินทั้งหมดไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท
โมเดลธุรกิจดังกล่าว ถูกตั้งคำถามว่า เปิดช่องเอื้อประโยชน์ให้ “ทุนต่างชาติ” เข้าประมูลงานรัฐในไทยได้อย่างสะดวกโยธินมากขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะการเข้าเป็น “กิจการร่วมค้า” ซึ่งมีการเปิดเผยข้อมูลน้อยมากว่า “บริษัทไหน” ร่วมกับ “บริษัทไหน” นอกจากนี้อาจเข้าข่ายผิดวัตถุประสงค์ของการเป็น “กิจการร่วมค้า” หรือไม่ เดิมมีเป้าหมายช่วยให้คู่ค้าแต่ละฝ่ายลด และกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งยังช่วยประหยัดภาษีจากส่วนกำไร แต่กลับเข้ามาเพื่อหวังผลประโยชน์ในการประมูลงานภาครัฐ?
นอกจาก "ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10" แล้ว บรรดา "ไชน่า เรลเวย์" อีกอย่างน้อย 22 แห่ง ซึ่งเกือบทุกแห่งมี "ทุนจีน-ฮ่องกง" เข้าไปถือหุ้นใหญ่ ใช้โมเดลธุรกิจแบบเดียวหรือไม่ และหน่วยงานภาครัฐจะขยายผลไปตรวจสอบด้วยหรือไม่?
นอกจากนี้แล้ว "กรมบัญชีกลาง" ที่มีหน้าที่เปิดเผยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จำเป็นต้อง "สังคายนา" ระบบฐานข้อมูลใหม่หรือไม่ เพราะที่ผ่านมา นับเฉพาะกรณี "ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10" ปรากฎว่า ชื่อคู่สัญญาที่ชนะการประมูลโครงการรัฐ ที่กรุงเทพธุรกิจขยายผลตรวจสอบนั้น "หาย" ไปหลายโครงการ แต่ชื่อเอกชนอื่น ๆ ที่ยื่นเสนอราคายังคงปรากฎเหมือนเดิม ไม่ทราบว่าเป็นเหตุขัดข้องของระบบ หรือมีใครจงใจ "ลบชื่อ" หรือไม่?
เมื่อ 4 เม.ย. "มานะ นิมิตรมงคล" ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ได้ตั้งคำถามถึงหน่วยงานรัฐเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นเดียวกัน
อ่านข่าว: ACT จี้รัฐแจง ไม่เปิดชื่อ 'ไชน่า เรลเวย์' ชนะประมูลงานรัฐผ่านเว็บ
3.ใน 18 โครงการที่ “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10” เข้าไป เกิดปัญหาขึ้นอย่างน้อย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการสร้างตึก สตง. วงเงิน 2,136 ล้านบาท และโครงการจ้างก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ จ.นราธิวาส วงเงิน 639.89 ล้านบาท ที่เกิดปัญหานั้น อีก 16 โครงการที่เหลือ ยังไม่มีการร้องเรียนถึงปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐแต่อย่างใด
แต่หน่วยงานรัฐบางแห่งที่ประกาศจัดซื้อจัดจ้างกับ “กิจการร่วมค้า” ที่มี “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10” แทบไม่เคยชี้แจงยืนยันว่า การจัดซื้อจัดจ้างทำตามขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมาย และตรวจสอบอาคารหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวแล้ว ไม่พบความผิดปกติ หรือรอยร้าวในอาคาร
มีเพียงไม่กี่หน่วยงานที่ออกมาชี้แจงผ่านสื่อ เช่น สำนักงานศาลยุติธรรม (ไชน่า เรลเวย์ฯ ชนะสร้างศาลมีนบุรี 782 ล้านบาท) การกีฬาแห่งประเทศไทย (ไชน่า เรลเวย์ฯ ชนะสร้างอาคาร 606.4 ล้านบาท) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. (ไชน่า เรลเวย์ฯ ชนะสร้างอาคาร 716.4 ล้านบาท) ยืนยันว่า การจ้างงานก่อสร้างอาคารทำตามกฎหมาย และไม่พบรอยร้าวในอาคาร เป็นต้น
4.ประเด็นการก่อสร้างอาคาร สตง.นั้น ถูกกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปตรวจสอบ พบว่า การใช้ “เหล็กข้ออ้อย” ส่อไม่ได้มาตรฐาน ต่อมา “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” รมว.อุตสาหกรรม คอนเฟิร์มว่า เหล็กที่ใช้ก่อสร้างอาคารแห่งนี้มาจาก “ซินเคอหยวน สตีล” ธุรกิจที่ เจี้ยนฉี เฉิน หรือ เฉิน เจี้ยนฉี (สัญชาติจีน) ถือหุ้นใหญ่ มี “คนลาว” ชื่อ “สมพัน ปันแก้ว” เป็นกรรมการ ถือหุ้น โดยข้อมูลล่าสุดพบว่ามีเครือข่ายธุรกิจรวมอย่างน้อย 21 แห่ง มี 2 ตัวละครใหม่เป็นคนไทยร่วมถือหุ้นกับ “คนจีน” ปัจจุบันข้อมูลบริษัทนี้ อยู่ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ ตรวจสอบ
ล่าสุด “ซิน เคอ หยวน” ถูก “ปิ่นสาย สุรัสวดี” อธิบดีกรมสรรพากร ร้องต่อดีเอสไอ ให้ดำเนินคดีอาญากับ บริษัท ซิน เคอหยวน จำกัด และคณะกรรมการบริษัทฯ กรณีเข้าตรวจสอบทางภาษีพบหลักฐานการใช้ใบกำกับภาษีที่มิชอบด้วยกฎหมาย (ใบกำกับภาษีปลอม) ตั้งแต่เดือน ก.ค.2558 – มี.ค.2560 หรือราว 2 ปี จำนวน 7,426 ฉบับ มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท มาใช้ในการเครดิตภาษี อันเป็นความผิดอาญาตามประมวลรัษฎากร
เรื่องนี้ล้อไปกับการต่อสู้ระหว่าง “ทุนใหญ่ต่างชาติ” และ “บิ๊กเนมนักการเมือง” หลังมีการปล่อยข่าว “ตั้งค่าหัวรัฐมนตรี” กว่า 300 ล้านบาท ดังนั้นนักการเมือง และหน่วยงานรัฐที่เข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ ต้องดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเรื่อง “คุณภาพเหล็ก” หากพบว่าไม่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดจริง ต้องดำเนินการเอาผิดอย่างเร่งด่วน เพราะสร้างความเสียหายอย่างมาก
ล่าสุด เมื่อ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา "เอกนัฏ" ได้สั่งการให้เพิกถอน BOI ของ "ซินเคอหยวน สตีล" แล้ว เนื่องจากไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรงงาน และ พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
ทั้งหมดคือ 4 เงื่อนงำในการขยายผลตรวจสอบของ “กรุงเทพธุรกิจ” ภายหลังอาคาร สตง.แห่งใหม่ถล่มลงมา หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว สุดท้ายหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะมีบทสรุปออกมาเป็นอย่างไร เอาผิดใครได้หรือไม่ และจะแก้ไขปัญหา “นอมินี” ทุนต่างชาติอย่างไร ต้องติดตามกันอีกยาว