จับตา'การเมืองลาว'เปลี่ยน หลังสิ้นผู้นำ 'บ้านใหญ่'จำปาสัก

การจากไปของสหาย คำไต สีพันดอน ได้ส่งผลสะเทือนต่อการเมืองฝั่งซ้าย เนื่องจากที่ผ่านมา “คำไต” คือสัญลักษณ์ของการเมือง “บ้านใหญ่” หรือกลุ่มอำนาจสายลาวใต้
KEY
POINTS
- การจากไปของสหาย คำไต สีพันดอน ได้ส่งผลสะเทือนต่อการเมืองฝั่งซ้าย เนื่องจากที่ผ่านมา “คำไต” คือสัญลักษณ์ของการเมือง “บ้านใหญ่” หรือกลุ่มอำนาจสายลาวใต้
- แวดวงการเมืองฝั่งซ้ายต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การประชุมสมัชชาใหญ่ พป ปล.ครั้งที่ 12 ในปี 2569 จะเป็น
สิ้นผู้นำบ้านใหญ่ลาวใต้ “คำไต สีพันดอน” แผ่นดินการเมืองฝั่งซ้ายสั่นไหว จับตาทายาท “สอนไซ สีพันดอน” เก้าอี้นายกฯ ยังแข็งแรงหรือไม่
กว่า 2 ทศวรรษ นับแต่ “คำไต สีพันดอน” ยึดกุมการเมืองลาว ก่อนสิ้นลมหายใจ ได้วางตัวทายาท 4 คนนั่งตำแหน่งสำคัญในพรรค-รัฐ
ค่ำวันที่ 2 เม.ย.2568 โฆษกคณะกรรมการกลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว (พปปล.) ได้แจ้งข่าวเศร้าโศกสลดว่า สหาย พล.อ.คำไต สีพันดอน อดีตประธานกรรมการบริหารพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และอดีตประธานประเทศ สปป.ลาว ถึงแก่อสัญกรรมในวัย 102 ปี ในตอนเช้าวันที่ 2 เม.ย.นี้
คณะกรรมการกลาง พปปล. ได้แจ้งให้ปวงชนลาวทั่วประเทศ จัดพิธีไว้ทุกข์ทั่วประเทศเป็นเวลา 5 วัน (3-7 เม.ย.68)
ส่วนพิธีฌาปนกิจศพระดับชาติ จะมีขึ้นในช่วงบ่ายวันที่ 7 เม.ย.2568 ณ ลานพระธาตุหลวง นครหลวงเวียงจันทน์
การจากไปของสหาย คำไต สีพันดอน ได้ส่งผลสะเทือนต่อการเมืองฝั่งซ้าย เนื่องจากที่ผ่านมา “คำไต” คือสัญลักษณ์ของการเมือง “บ้านใหญ่” หรือกลุ่มอำนาจสายลาวใต้
เป็นที่รู้กันในหมู่สหายนำลาว รัฐมนตรีป้องกันประเทศ รัฐมนตรีป้องกันความสงบ และเจ้าแขวงในภาคใต้ ล้วนเป็น “เด็กปั้น” ของสหายคำไต
หลังสหายคำไต ประกาศเกษียณอายุเมื่อปี 2549 ได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในบ้านพักส่วนตัวที่เมืองปากซอง แขวงจำปาสัก โดยรับบท “ผู้นำหลังม่าน” วางตัวสหาย จูมมะลี ไซยะสอน และสหาย บุนยัง วอละจิด สืบต่อนั่งเก้าอี้ประธานประเทศ สปป.ลาว
เหนืออื่นใด ก่อนที่ “คำไต” จะลงจากตำแหน่งประเทศประธานประเทศ ได้ดันลูกบุญธรรม บัวสอน บุปผาวัน เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2549 แต่นั่งบริหารประเทศได้ 4 ปี ก็ลาออกกระทันหัน เพราะมีปัญหาภายในครอบครัว
ปัจจุบัน มีทายาทของสหายคำไต สีพันดอน 4 คน ที่กุมอำนาจรัฐและตุลาการ ประกอบด้วย
1.สหาย สอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นความฝันสุดท้ายของสหายคำไต ที่อยากเห็นลูกชายคนโตเป็นนายกฯ
2.สหาย เวียงทอง สีพันดอน ประธานศาลประชาชนสูงสุด ได้ถูกวางตัวให้อยู่ในสายองค์กรตรวจสอบรัฐมาแต่แรก
3.สหาย อาดสะพังทอง สีพันดอน เจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์ ขยับจากรองรัฐมนตรี มานั่งบริหารเมืองหลวง
4.สหาย เวียงสะหวัด สีพันดอน เจ้าแขวงหลวงน้ำทา ทิ้งเก้าอี้รัฐมนตรีไปอยู่แขวงใหญ่ติดพรมแดนจีน ที่กำลังมั่งคั่งรุ่งเรืองด้วยรถไฟลาว-จีน
การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคประชาชนปฏิวัติลาว(พปปล.) สมัยที่ 11 เมื่อปี 2564 สหาย ทองลุน สีสุลิด ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ พปปล.สมัยที่ 2 และสืบต่อเป็นประธานประเทศอีกสมัยหนึ่ง
แวดวงการเมืองฝั่งซ้ายต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การประชุมสมัชชาใหญ่ พป ปล.ครั้งที่ 12 ในปี 2569 จะเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองลาวครั้งใหญ่
เมื่อบ้านใหญ่ลาวใต้ สหายคำไต เดินทางไกลไปอยู่ในภพใหม่ ร่วมกับสหายนำรุ่นแรกอย่าง สหายไกสอน พมวิหาน และสหายหนูฮัก พูมสะหวัน
สหาย ทองลุน สีสุลิด ผู้นำสายลาวเหนือ จะส่งไม้ต่อให้สหายคนใดขึ้นมาเป็นเลขาธิการใหญ่ และประธานประเทศ
สหาย สอนไซ สีพันดอน ยังจะรักษาเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ไว้ได้หรือไม่ เมื่อไร้เงาบิดา-คำไต ผู้นำหลังม่าน
สำหรับชีวิตและเส้นทางการเมืองของสหาย คำไต สีพันดอน จากลูกชาวนาเมืองโขง สู่ผู้นำการปฏิวัติลาว และกลายเป็นผู้มากบารมีเหนือพรรค มีดังนี้
สหาย พล.อ.คำไต สีพันดอน เกิดปี 2467 ที่บ้านหัวโขงพระใหญ่ เมืองโขง แขวงจำปาสัก และได้เดินทางมาอาศัยอยู่กับปู่และย่าที่กรุงเวียงจันทน์ จึงได้เรียนหนังสือที่วิทยาลัย ม.ปาวี สมัยฝรั่งเศสปกครองลาว
ปี 2484 คำไตออกจากโรงเรียน และสอบเข้าทำงานเป็นนายไปรษณีย์ และเดินทางไปเป็นนายไปรษณีย์เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก
ระหว่างนี้ คำไตได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกแนวลาวอิสระ ต่อต้านฝรั่งเศส ที่มีเจ้าสุพานุวง เป็นผู้นำ
ปี 2491 คำไตเป็นผู้นำกองกำลังติดอาวุธแนวลาวอิสระในภาคใต้ มีที่มั่นอยู่ที่บ้านอุดมไช (เจ็งเหาะ) เมืองสะหนามไช แขวงอัตตะปือ
ปี 2497 คำไตเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน ร่วมมือสหายเวียดนาม ได้จัดตั้งกองกำลังต่อสู้จักรพรรดินิยมฝรั่งเศส
ตั้งแต่ปี 2500 ถึงปี 2504 เขาเป็นคณะกรรมการกลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพปลดแอกประชาชนลาว
ปี 2518 หลังจากยึดอำนาจทั่วประเทศแล้ว ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีป้องกันประเทศ และผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพปลดแอกประชาชนลาว
ปี 2534 ที่ประชุมสมัชชาประชาชนสูงสุด ได้เลือกสหายคำไต ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว
ปี 2539 การประชุมใหญ่ พปปล.ครั้งที่ 6 สหายคำไต ได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมการกลางพรรคฯ(เลขาธิการใหญ่พรรค)
ปี 2541 ที่ประชุมสมัชชาประชาชนสูงสุด ได้เลือกสหายคำไต เป็นประธานาธิบดี สปป.ลาว
สหาย พล.อ.คำไต สีพันดอน เป็นนักปฏิวัติอาวุโส เป็นสหายที่ใกล้ชิดและสนิทสนมที่สุดของสหาย ไกสอน พมวิหาน
การเมืองแบบ “พรรคเดียว” กำลังเผชิญการท้าทายต่อภูมิทัศน์การเมืองที่เปลี่ยนไปในประเทศเพื่อนบ้าน คนลาวรุ่นใหม่รู้สึกอึดอัดคับข้องใจต่อระบอบบ้านใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้น การจากไปของสหายคำไต สีพันดอน ได้สะท้อนการเมืองครอบครัว ที่ไม่สอดคล้องกับบริบทการเมืองใหม่ สปป.ลาวจะยืนอยู่อย่างไร