ยังไม่จบ! เจอสัญญาที่ 19 'ไชน่า เรลเวย์' สร้างหอ ม.แม่ฟ้าหลวง 468 ล.

ยังไม่จบ! เจอสัญญาที่ 19 'ไชน่า เรลเวย์' สร้างหอ ม.แม่ฟ้าหลวง 468 ล.

คุ้ยต่อยังเจออีก พบสัญญาที่ 19 ‘ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10’ ใช้ชื่อ ‘กิจการร่วมค้า ทีพีซี’ คว้างานสร้างหอพักบุคลากรแพทย์ ม.แม่ฟ้าหลวง ปีงบ 65 วงเงิน 468 ล้านบาท

กรณีกรุงเทพธุรกิจ ตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พบว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ใช้โมเดลธุรกิจเป็น “กิจการร่วมค้า” กับเอกชนรายอื่น ๆ อย่างน้อย 8 แห่ง (เท่าที่ตรวจสอบพบ) เพื่อเข้าประมูลงานภาครัฐ โดยตอนแรกทำด้านรับเหมาก่อสร้าง ก่อนจะแตกไลน์ออกมาทำทั้งการวางระบบนำสายไฟฟ้าลงดิน ระบบท่อประปา เป็นต้น ข้อมูลระหว่างปีงบประมาณ 2562-2568 พบว่า เป็นคู่สัญญารัฐอย่างน้อย 18 สัญญา รวมวงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ล่าสุด ตรวจสอบพบอีกว่า ในปีงบประมาณ 2565 “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10” คว้างานรัฐในฐานะ “กิจการร่วมค้า” อีก 1 แห่ง คือ ประกวดราคาจ้างก่อสร้างค่าก่อสร้างอาคารหอพักบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมระบบสาธารณูปการ ตำบลท่าสุด อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงิน 468 ล้านบาท โดยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีกิจการร่วมค้า ทีพีซี เป็นผู้ชนะการประกวดราคา

สำหรับขั้นตอนการประมูล ใช้โมเดลเดียวกันกับ 18 สัญญาที่เคยรายงานไปแล้ว กล่าวคือ “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10” เข้าไปซื้อเอกสาร (ซื้อซอง) ร่วมกับบริษัทเอกชนที่จะเข้ามาเป็นกิจการร่วมค้า รวมถึงซื้อซองในนามกิจการร่วมค้า ทีพีซี ด้วย ต่อมาในการประมูล ใช้กิจการร่วมค้า ทีพีซี เป็นผู้ยื่นเสนอราคา (ยื่นซอง) และชนะการประมูลไป ด้วยการเสนอราคาต่ำสุด

กิจการร่วมค้า ทีพีซี ประกอบด้วยเอกชนเท่าที่ตรวจสอบพบ 2 รายคือ บริษัท ไทยพารากอน คอนสตรัคชั่น จำกัด และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด

ข้อมูลบริษัท ไทยพารากอน คอนสตรัคชั่น จำกัด จดทะเบียนเมื่อ 10 ส.ค .2532 ทุนปัจจุบัน 110 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 777/7 ถนนประชาอุทิศ แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง กรรมการ 2 คนคือ ศศิวิมล มานะกิจ เจียง กั่ว ซู (สัญชาติจีน)

นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อ 18 เม.ย. 2567 ศศิวิมล มานะกิจ ถือหุ้นใหญ่สุด 60% เจียง กั่ว ซู (จีน) ถือ 20% ภรณรัฐชนก ศิริสัมพันธ์ ถือ 20% นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2565 สินทรัพย์รวม 274,163,110 บาท หนี้สินรวม 196,633,365 บาท รายได้รวม 9,570,869 บาท รายจ่ายรวม 30,497,696 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 3,867,638 บาท ขาดทุนสุทธิ 24,794,465 บาท

รวม "ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10" เข้าเป็น "กิจการร่วมค้า" อย่างน้อย 9 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 4 เม.ย. 2568) กวาดงานรัฐไปแล้วอย่างน้อย 19 สัญญา รวมวงเงิน ไม่ต่ำกว่า 10,630,379,777 บาท หรือราว 1 หมื่นล้านบาท

หากนับรวม “บริษัทเครือข่าย” ที่ปรากฏชื่อ “3 คนไทย” เข้าไปถือหุ้นด้วย คือ บริษัท เอวาน่า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นคู่สัญญากับภาครัฐกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) อย่างน้อย 3 สัญญา วงเงินรวม 69,259,388 บาท และบริษัท สันติภาพ อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต จำกัด เป็นคู่สัญญารัฐกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในการจ้างเหมาซ่อมรถยนต์ของทางราชการ อย่างน้อย 6 สัญญา รวมวงเงิน 341,489 บาท เท่ากับว่า “ไชน่า เรลเวย์-เครือข่าย” คว้างานประมูลรัฐไปแล้วอย่างน้อย 28 สัญญา รวมวงเงิน 10,699,980,654 บาท

อย่างไรก็ดีในมุมจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ นอกเหนือจากโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ วงเงิน 2.1 พันล้านบาท และโครงการก่อสร้างจ้างก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) วงเงิน วงเงิน 639 ล้านบาทเศษ ที่เกิดปัญหาขึ้น และอยู่ระหว่างการตรวจสอบนั้น อีก 17 โครงการ ยังไม่พบปัญหา หรือการร้องเรียนเกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแต่อย่างใด