ผลประโยชน์ 'กาสิโน' ความเสี่ยงที่ต้องเลือก?

ต้องยอมรับว่า กระแสร้อนทางการเมืองในเวลานี้ ไม่มีอะไรระอุเดือดเท่า กรณีรัฐบาลเลื่อนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
ซึ่งสาระสำคัญเปิดช่องให้มี “กาสิโนถูกกฎหมาย” เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 เมษายน แซงคิววาระอื่นๆ อันสะท้อนว่า รัฐบาลผลักดันอย่างเต็มที่ แม้จะมีกระแสต่อต้านคัดค้านอยู่ล้นหลามก็ตาม
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีมีเสียงวิจารณ์ว่ารัฐบาลรีบดันกฎหมายฉบับนี้ ว่า จริงๆแล้วกระบวนการตรากฎหมาย ไม่ใช่ทำแค่ 1-2 วัน เพราะโดยปกติ การออกกฎหมายต้องนำเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร 3 วาระ
และต้องมีการตั้ง กมธ. ซึ่งใช้เวลานาน อีกทั้งต้องผ่านวุฒิสภาอีก 3 วาระ เพราะฉะนั้น อย่าคิดว่ารัฐบาลเร่งรีบ กระบวนการตรากฎหมายโดยเฉลี่ยของประเทศเรา คำนวณดูแล้วไม่ต่ำกว่า 8 เดือน
ที่สำคัญกฎหมายนี้ เป็นนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา จึงต้องดำเนินการคัดกรองตามปกติ
ส่วนจะผ่านวาระแรกหรือไม่ “ชูศักดิ์” เห็นว่า เท่าที่ดูพรรคร่วมรัฐบาลก็เห็นพ้องต้องกัน เพื่อให้มีการตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) และใช้ช่วงปิดสมัยประชุมสภาฯพิจารณาแก้ไขได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจากการพูดคุยกัน ก็คิดว่าจะเรียบร้อยและผ่านได้
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงกรณีฝ่ายค้านตั้งคำถามว่า รัฐบาลมีกลุ่มทุนมารอ จึงเร่งผลักดัน “ชูศักดิ์” หัวเราะ ก่อนตอบว่า จะไปรอได้ยังไง นี่คือกระบวนการตามกฎหมาย กฎหมายจะบอกมายังไงยังไม่รู้เลย จะปรับเกณฑ์อะไรหรือไม่ ซึ่งกว่าจะสำเร็จก็ไม่ต่ำกว่า 6-8 เดือน ยืนยันว่าไม่มีใครรอหรือไม่รอ เป็นการเตรียมการปกติ เป้าหมายคือ ทำให้เสร็จภายในรัฐบาลนี้
ขณะที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเลื่อนพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวโดย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุตอนหนึ่งว่า
...เขาเลื่อนวาระ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หลายๆร่าง ให้มาต่อจากวาระร่าง พ.ร.บ. “เอนเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ พ่วง กาสิโน” ในวันที่ 9 เมษายน ทำไม?
1. บีบให้ ส.ส.พรรคประชาชนต้องยอมกับการเลื่อนวาระแบบ “ขายเหล้าพ่วงเบียร์” แบบนี้
2. หาก ส.ส.พรรคประชาชน ไม่ยอม (ซึ่งวันนี้ ก็ไม่ยอมจริงๆ และ รังสิมันต์ พยายามสู้ต่ออีกยกด้วยการขอเลื่อนวาระ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้มาก่อน ร่าง พ.ร.บ. “เอนเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ พ่วง กาสิโน” แต่ไม่สำเร็จ) ก็ไม่เป็นไร เขาก็ใช้เสียงข้างมากในสภา (ซึ่งจะขยันเฉพาะช่วงบ่ายๆ พอตกเย็น เลย 5-6 โมงเย็น จะไม่ได้แล้ว เพราะ ส.ส.จะกลับภูมิลำเนาตนเอง) ลงมติชนะอยู่ดี
3. วันที่ 9 เมษายน ส.ส.พรรคประชาชน อภิปรายมาก จนทำให้วันนั้น พิจารณาและลงมติวาระ 1 ได้เพียง ร่าง พ.ร.บ. “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ พ่วง กาสิโน” ไปไม่ทันถึง ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็เป็นความผิด ส.ส.พรรคประชาชนเอง
4. หากพรรคประชาชน อยากให้วาระร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ได้ลงมติวาระ 1 ในวันที่ 9 เมษายนนี้ ก็จงควบคุม ส.ส.ของตน พูดเรื่อง “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ พ่วง กาสิโน” ให้น้อยคน อย่าใช้เวลามาก
5. แต่ถ้าวันที่ 9 เมษายน เกิดจับพลัดจับผลู ไปถึงวาระร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็ไม่เป็นไร พวกเขาก็จะรับหลักการเฉพาะร่างที่ไม่รวมนิรโทษกรรมคดี 112
นี่คือการส่งสัญญาณหรือไม่ ว่า เป้าหมายสำคัญของฝ่ายค้าน แท้จริงแล้วอยู่ที่ต้องการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้ลงมติผ่านวาระแรก ในวันที่ 9 เมษายน เช่นกัน หาใช่ ตั้งเป้า คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ พ่วง กาสิโน” อย่างเต็มที่?
ขณะเดียวกัน กลุ่มที่คัดค้านต่อต้านอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ถ้าดูจากสื่อบางสำนักรวบรวมมานำเสนอ เห็นชัดว่า ล้วนแต่เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภาฯ
นั่นคือ เครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) ถือเป็นกลุ่มแรกที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้น โดยมีการออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายนี้
“คปท.” ชี้ว่า จะมีผลกระทบเรื่องการพนันในสังคมไทย ที่สามารถทำลายเยาวชนและครอบครัว และทำให้สังคมต้องแบกรับภาระทางเศรษฐกิจจากปัญหาการพนันในที่สุด
กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อมา คือ กลุ่มกองทัพธรรม ซึ่งมุ่งเน้นการปกป้องจริยธรรมและคุณธรรม ก็ได้เข้าร่วมการต่อต้านกาสิโน โดยยืนยันว่าการเปิดกาสิโน จะทำให้เกิดการเสื่อมทรามในคุณธรรม ของสังคมไทย กลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับการรักษาค่านิยมทางศีลธรรมที่อาจถูกทำลายจากธุรกิจการพนัน
ไม่เพียงเท่านั้น ทั้งสองกลุ่มยังออกมาปักหลักชุมนุม อยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อแสดงจุดยืนและสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลหันมาฟังเสียงของประชาชนที่ไม่พอใจต่อการผลักดันกฎหมายนี้
อีกกลุ่ม คือพรรคไทยภักดี แม้ไม่มีส.ส.ในสภาฯ และไม่มีอำนาจทางการเมือง แต่จุดยืนต่อต้านการเปิดกาสิโน ก็ยังชัดเจน โดยเฉพาะการรักษาคุณธรรม และอุดมการณ์ของชาติ
กลุ่มอดีตสมาชิก วุฒิสภา(ส.ว.)กว่า 191 คน ก็เช่นกัน ได้ร่วมลงนามคัดค้านการตั้งกาสิโน อย่างเป็นทางการ โดยยืนยันว่า แม้จะมีการจัดสรรพื้นที่แค่ 10% ก็เพียงพอที่จะ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างศีลธรรมของชาติ และ กองทุนที่คาดว่าจะได้จากกาสิโน อาจไม่คุ้มกับการเสียศีลธรรมในระยะยาว
กลุ่มเพื่อนมหิดลเพื่อสังคม ประกอบด้วยแพทย์, พยาบาล, และบุคลากรทางการแพทย์ ก็ได้เคลื่อนไหว แสดงความห่วงใยผลกระทบทางสุขภาพ โดยเฉพาะเยาวชนที่เสี่ยงต่อการถูกนำไปเป็นเป้าหมายการตลาดของ กาสิโน ซึ่งจะส่งผลให้การเข้าถึงการพนันผ่านเทคโนโลยี ง่ายดายยิ่งขึ้น และทำให้ ผลกระทบทางจิตใจ รุนแรงขึ้น
ชมรมแพทย์อาวุโส, องค์การจิตแพทย์ และนักวิชาการด้านพฤติกรรมและสาธารณสุข ต่างร่วมกันยืนยันจากหลักฐานวิจัยว่า การพนัน เกี่ยวข้องกับการเกิด ภาวะซึมเศร้า, การฆ่าตัวตาย, และความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งต้นทุนของการรักษาปัญหาเหล่านี้อาจสูงกว่าภาษีที่ กาสิโน จะนำมา
ราชบัณฑิตยสภา ก็ออกมาคัดค้านร่างกฎหมายกาสิโน ด้วย เกรงว่าจะนำไปสู่ปัญหาทางสังคม เช่น ความเสื่อมทางศีลธรรม, อาชญากรรม, และการเสริมสร้างค่านิยมที่สนับสนุนการพนัน อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการฟอกเงินและการทุจริตที่ยากจะควบคุมในประเทศไทย
สภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย ออกมาแสดงจุดยืนว่า “กาสิโน คือภัยเงียบ” ที่จะกัดกร่อนจริยธรรมของชาติ โดยเฉพาะในช่วงที่เยาวชนขาดภูมิคุ้มกันทางจิตใจ และเตือนว่า “ไม่มีพระคัมภีร์เล่มใดสนับสนุนการพนัน” (ไทยโพสต์/4 เม.ย.68)
อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ มีข้อมูลระบุว่า Entertainment Complex หรือสถานบันเทิงครบวงจร ในบริบทของประเทศไทย จะประกอบด้วยบริการต่างๆ เช่น
กาสิโน (สถานที่เล่นเกม), ห้างสรรพสินค้าครบวงจร โรงแรมหรู 5 ดาว, ร้านอาหาร และบาร์, ศูนย์การประชุม สนามกีฬา, สวนสนุก, สถานที่แสดงโชว์, สวนน้ำ, พื้นที่ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย และจำหน่ายสินค้า OTOP โดยจะเกิดขึ้น 5 แห่งทั่วประเทศ
เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ผลกระทบที่ตามมา ทั้ง “ข้อดี-ข้อเสีย” ของร่างกฎหมายฉบับนี้
โดยเฉพาะข้อมูลของ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่วิเคราะห์ไว้(11 มิ.ย. 67)ระบุว่า
ผลกระทบทางบวกของ “กาสิโนถูกกฎหมาย” ที่อาจมีต่อเศรษฐกิจไทย แบ่งออกเป็น 5 มิติ
มิติแรก การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ คาดมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท/แห่ง
มิติที่สอง เพิ่มรายได้ท่องเที่ยว ผ่านการเพิ่มจำนวน + ระยะพำนักนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเพิ่มค่าใช้จ่ายเฉลี่ย/คน
มิติที่สาม เพิ่มรายได้ของธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ซึ่งจะมาจากรายได้จากการเล่นกาสิโน (GGR) และรายได้จากบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
มิติที่สี่ ประโยชน์ในแง่สร้างงาน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในอุตสาหกรรมบริการ/กระจายรายได้ เพิ่มเงินหมุนเวียนของปริมาณเงินในระบบ
มิติที่ห้า เพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลจากภาษีกาสิโน (Casino Tax), ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT), ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมในการเข้าใช้บริการ
“ศูนย์พยากรณ์ฯ คาดรายได้ผู้ประกอบการฯ อยู่ระหว่าง 5.63-8.29 หมื่นล้านบาท รายได้ของรัฐบาลอยู่ระหว่าง 3.24-3.80 หมื่นล้านบาท ทำให้รายได้รวมอยู่ระหว่าง 0.89-1.21 แสนล้านบาท ขึ้นอยู่กับสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ใช้บริการ (10-30%) และอัตราภาษีกาสิโน (15-20%)”
ส่วนข้อเสีย ที่อาจมีผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม ที่รัฐบาลต้องเฝ้าระวัง และวางแนวทางป้องกันดูแลอย่างจริงจังด้วย
นับแต่ เพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจใต้ดิน เพราะอาจมีการหลีกเลี่ยงภาษี/ฟอกเงินผ่านกาสิโนและการพนัน และอาจเป็นการเร่งการเติบโตของธุรกิจผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพนันด้วย
ประการต่อมา กระทบต่อภาระหนี้สินครัวเรือน อันเนื่องจากการติดการพนันเพิ่มขึ้น
หนี้สินจากพนันเพิ่มขึ้น ซึ่งสุดท้ายอาจกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของครัวเรือนตามมา
นอกจากนั้น ยังมีเรื่องความเหลื่อมล้ำรายได้อาจเพิ่มขึ้น จากการที่รายได้กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มกาสิโน
กลุ่มนายทุน แบ่งแยกกลุ่มได้ประโยชน์-เสียประโยชน์อย่างเหลื่อมล้ำชัดเจนมากขึ้น
การสูญเสียต้นทุนสังคมจากปัญหาติดพนัน เช่น ค่ารักษา/บำบัด/ฟื้นฟูผู้ติดการพนัน ไม่นับรวมผลกระทบทางอ้อมต่อครอบครัวและสังคมไทยอีกด้วย
นี่คือ ข้อเปรียบเทียบที่น่าสนใจ และมีการวิเคราะห์ในทางวิชาการมาแล้ว
แน่นอน, เมื่อดูจากคาดการณ์รายได้ ไม่แปลกที่รัฐบาล จะให้ความสำคัญกับกฎหมาย “สถานบันเทิงครบวงจร” โดยมี “กาสิโน” เป็นแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ แม้ว่าจะมีเสียงต่อต้านคัดค้านจากหลายฝ่ายก็ตาม
เหนืออื่นใด รัฐบาลรู้ดีว่า การผลักดันให้ “กาสิโน” ถูกกฎหมาย สำหรับสังคมไทย ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งยังเสี่ยงที่จะถูกโจมตีในเรื่องส่งเสริมการพนันถูกกฎหมายตามไปด้วย
สำคัญอยู่ที่ต้องเลือก ว่าจะเอาอย่างไรกับผลประโยชน์ที่ต้องแลกกับผลกระทบ และจะจัดการผลกระทบได้หรือไม่เท่านั้นเอง