จุดแตกหัก ฉากจบ 'คดีฮั้ว สว.' ‘สหายใหญ่’หางเลข เกมอำนาจ

จุดแตกหักระหว่างคน 2 ก๊ก ในคดีฮั้ว สว. เป็นการเปิดฉากรบทำ “นิติสงคราม” ระหว่าง สว.สีน้ำเงินกับรัฐบาลที่กำกับดีเอสไอ คดีในศาล รธน.เดิมพันด้วยข้อหาฝ่าฝืนจริยธรรม
KEY
POINTS
- จุดแตกหัก สว.สีน้ำเงิน เดินเกมร้องศาลรัฐธรรมนูญ หวังใช้ทางลัดโค่นล้ม "ภูมิธรรม เวชยชัย" และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง พ้นรัฐมนตรี ที่เ
ถือเป็นอาวุธทางหนึ่งที่ขั้วตรงข้ามเอาไว้ใช้เป็นหมัดน็อก สอยรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งก็ว่าได้ กับข้อกล่าวหาให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
ถือเป็นข้อกล่าวหาเกี่ยวกับคุณสมบัติรัฐมนตรี โดยผู้จะมานั่งตำแหน่งรัฐมนตรี จะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
จุดแตกหักระหว่าง สว.สายสีน้ำเงินกับรัฐบาล ในทางหนึ่งเป็นการทำนิติสงครามระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติในซีกสภาฯบน เปิดฉากรบกับฝ่ายบริหารที่กำกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
ด้วยเหตุที่ สว.จำนวน 92 คนในปีกสีน้ำเงิน นำโดย พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร เข้าชื่อเสนอคำร้องต่อประธานวุฒิสภา และได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ด้วยข้อกล่าวหาพุ่งตรงไปที่คีย์แมนมือประสานสิบทิศของรัฐบาล “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานกรรมการคดีพิเศษ และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม รองประธานกรรมการคดีพิเศษ
ปฐมบทจุดแตกหักของคดี สืบเนื่องจากดีเอสไอเสนอเรื่องให้สอบกระบวนการเลือก สว. ปี 2567 ต่อคณะกรรมการคดีพิเศษ เพื่อมีมติให้การกระทำความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ ตามกฏหมายการสอบสวนคดีพิเศษ ถือเป็นการแทรกแซง หรือครอบงำหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยใช้ดีเอสไอ เป็นเครื่องมือแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบการเลือก สว. อันเป็นการกลั่นแกล้ง กดดัน ข่มขู่และครอบงำ สว.ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจและฝ่าฝืนหลักนิติธรรม
กระทั่งเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2568 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องดังล่าวไว้วินิจฉัยถึงความเป็นรัฐมนตรีของ “ภูมิธรรม” และ พ.ต.อ.ทวี จะพ้นความเป็นรัฐมนตรี ด้วยข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับ อดีตนายกฯ "เศรษฐา ทวีสิน” หรือไม่
กระบวนการของ สว.ที่งัด “นิติสงคราม” ชูขึ้นมากล่าวหารองนายกฯ และ รมว.ยุติธรรม ครั้งนี้ เกิดขึ้นในจังหวะเดียวกับที่ “ดีเอสไอ”กำลังดำเนินการร่วมสืบสวน และไต่สวนกรณีการสมคบกันในความผิดฐานฟอกเงินของบุคคล หรือคณะบุคคลที่กระทำผิดเป็นอั้งยี่ ที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่ง สว.เมื่อปี 2567 หรือรับคดีฮั้ว สว.เป็นคดีพิเศษ
ทั้งนี้ ดีเอสไอ เห็นว่า ผู้ดำรงตำแหน่ง สว.138 คนและสำรองอีก 2 คน มีมูลทุจริต อันทำให้การเลือกสว.มิได้เป็นไปโดยสุจริต หรือเที่ยงธรรม
ด้าน “ภูมิธรรม” ระบุถึงคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยสถานะความเป็นรัฐมนตรีของตัวเองว่า “ไม่ได้รู้สึกว่ามีปัญหาอะไร เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต่างคนต่างทำหน้าที่ และก็อยู่ในดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ขอให้รอฟัง ส่วนจะชี้แจงอย่างไรนั้น ก็เป็นเรื่องที่ปฏิบัติตามปกติ มาทำหน้าที่เป็นประธานบอร์ด ก็ทำไปตามขั้นตอนกฎหมาย รอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย”
ขีดเส้นนับจากวันที่ 26 มี.ค. 2568 ผู้ถูกร้องทั้ง 2 รายจะต้องทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง
ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติเอกฉันท์ไม่สั่งให้ “ภูมิธรรม” และ พ.ต.อ.ทวี หยุดปฎิบัติหน้าที่ตามคำร้อง เนื่องจากข้อเท็จจริงตามคำร้อง และเอกสารประกอบ ยังไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้องก็ตาม
ทว่า บทสรุปฉากจบของคดีนี้ ทำให้คนในซีกรัฐบาลเริ่มมองถึงคำวินิจฉัยในปลายทางกันบ้างแล้ว
เพราะคดีนี้ต้องยอมรับว่า มีความสุ่มเสี่ยงเป็นไปได้ ที่จะซ้ำรอยคดีประวัติศาสตร์ ที่ศาลเคยมีมติ 5 ต่อ 4 สอย “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นนายกฯ ในข้อหาผิดจริยธรรมร้ายแรงปมตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” นั่ง รมต.ประจำสำนักนายกฯ
จับกระแสทางคดีฮั้ว สว.ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้กูรูด้านกฎหมายในพรรคเพื่อไทย อ่านเกมว่า บทสรุปของคดีไม่มีอะไรซับซ้อนมาก เพราะแค่เริ่มต้นรับคำร้อง ก็สามารถเขียนบทสรุปของคำวินิจฉัยแห่งคดี ของ 1 รองนายกฯ และ 1 รมว.ยุติธรรมได้ทันที
เพียงแต่ผลของคดีคงมีไม่กี่ทาง คือ ทางหนึ่งยกคำร้องข้อกล่าวหาให้กับผู้ถูกร้อง โดยคำวินิจฉัยอาจออกมาในทำนองการสอบสวนของดีเอสไอของ 2 รัฐมนตรีเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เกมนี้จะเท่ากับเป็นการเปิดทางให้ ”ดีเอสไอ“ ลุยดำเนินการเอาผิด 138 สว. พ่วง 2 สว.สำรอง ยิ่งรองรับการลุยของรัฐบาลอาจเป็นไปโดยชอบ
คำวินิจฉัยอีกทางหนึ่ง หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่ว่าจะเอกฉันท์หรือเสียงแตก ออกมาให้การดำเนินการของ ”เดอะอ้วน“ ภูมิธรรม และ ”บิ๊กวี“ พ.ต.อ.ทวี เป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง นั่นจะเท่ากับว่า “ภูมิธรรม” และ พ.ต.อ.ทวี จะต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี นับแต่วันที่ศาลอ่านคำวินิจฉัย
คำวินิจฉัยแนวทางนี้ จะยิ่งเท่ากับเป็นการชี้ชัดว่า การสอบสวนคดีของดีเอสไอ อาจเป็นการดำเนินการไม่ชอบ และจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับ 138 สว. ในการเดินหน้าเอาผิด บิ๊กดีเอสไอ ด้วย มาตรา157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ส่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. เอาผิดต่ออีกดาบหนึ่ง
ต้องยอมรับว่า บทบัญญัติมาตรา 160 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 มีเจตตารมณ์ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซือแป๋ มีชัย ฤชุพันธุ์ ต้องการให้คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ปี2557 มาตา 35 ที่กำหนดให้การร่างรัฐธรรมนุญขึ้นใหม่จะต้องครอบคลุมในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตและการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ
ไม่ว่าผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาทางเป็นบวกหรือลบ กับ 2 รัฐมนตรี รัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคท้ายบัญญัติไว้ชัดเจนว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรีศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ”
ยิ่งออกมาทางพ้นตำแหน่งรัฐมนตรี ก็ยิ่งผูกพันไปถึงการสอบสวนคดีฮั้ว สว. ในชั้น กกต. และดีเอสไอ
เกมนี้ กูรูฝั่งพรรคเพื่อไทยประเมิน โดยหลักของกฎหมายแล้ว สว.ที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ใช้อำนาจไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการยื่นคำร้องเพื่อวินิจฉัยเพื่อรักษาสถานะของตัวเอง ทั้งที่กระบวนการสอบสวนคดีฮั้ว สว.นั้น เป็นการสอบสวนกระบวนการเลือก สว. ในช่วงที่ สว.เหล่านี้ยังไม่ได้เข้ามาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
“คดีฮั้ว สว. การเดินเกมของ สว.กลุ่มนี้ใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญเอาเปรียบ ฉะนั้นหากผลคำวินิจฉัยออกมาให้นายภูมิธรรมและ พ.ต.อ.ทวีพ้นตำแหน่ง จะถือเป็นการรับรองว่าการดำเนินการเลือก สว.ปี 2567 เป็นไปโดยชอบ” แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย ระบุ
เมื่อผลของคดีมีเพียงไม่กี่ทาง ทำให้เซียนกฎหมายในแวดวงรัฐบาล อ่านฉากจบของผลลัพธ์ศึกรบ “นิติสงคราม” ครั้งนี้ระหว่าง สว.สีน้ำเงิน กับรัฐบาล หากไม่มีการออกนั่งบัลลังก์ไต่สวน เท่ากับว่าศาลจะวินิจฉัยปัญหาของคดีเพียงแค่ข้อกฎหมายเท่านั้น ไม่จำต้องแสวงหาข้อเท็จจริง
“ตอนจบเขาอาจเขียนบทไว้แล้วก็ได้ เหมือนคดีนายกฯเศรษฐา” คือคำพยากรณ์เกมโหดครั้งนี้ของ สว.เป็นไปเพื่อรักษาอำนาจของก๊กสีน้ำเงินในองคาพยพนิติบัญญัติ
ดังนั้น ถ้ายังเอา สว.ชุดนี้ “ภูมิธรรม” และ “ทวี” อาจต้องไปพ้น ครม. แต่ถ้าไม่เอา สว.ชุดสีน้ำเงิน “ภูมิธรรม” และ “ทวี” ยังคงอยู่ในเส้นทางฝ่ายบริหารต่อไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การขาดมือประสานพรรคร่วมรัฐบาล คีย์แมนห้องเครื่อง รองนายกฯ “สหายใหญ่ แหลมเยี่ยม” ของรัฐบาล อย่าง“ภูมิธรรม” ในครม.ย่อมสะเทือนต่อรัฐนาวา “แพทองธาร ชินวัตร” ในห้วงที่กำลังฟื้นศรัทธา และพิสูจน์คะแนนนิยมของ “พรรคเพื่อไทย”